#แวะชมสมบัติศิลป์

ด่านเกวียน สังเวียนคนปั้น

พระคุณ บุณยเนตร เรื่อง สุรพล สุภาวัฒนกุล ภาพ

ถ้าชีวิตคือการต่อสู้ น้ำเต้าหู้ก็คือนมถั่วเหลือง แฮร่!! แม้วันเวลาจะเปลี่ยนผ่าน คนเราก็ยังต้องดิ้นรนทำงานหาเงินเลี้ยงปากท้องมาตั้งแต่สมัยโบราณ และบัดนี้เราได้เข้าสู่ยุคที่ชีวิตสู้กลับ ชาวโลกรับบททดสอบจากวิกฤตการณ์โรคภัยไข้เจ็บ ทั้งทางร่างกาย จนถึงรายได้หดหาย เกือบทุกสายอาชีพ ตั้งแต่ เจ้าของกิจการ ร้านอาหาร โรงแรม คนขับรถโดยสาร ไม่เว้นแม้แต่อาชีพงานฝีมือที่มีความผูกพันกับการดำรงชีวิตของชาวไทยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์อย่างช่างปั้นดินเผา ซึ่งบ้านเรามีชุมชนหรือหมู่บ้านคอยสร้างสรรค์ผลงานอยู่หลายแห่ง ทั้งบ้านเชียง เวียงกาหลง โอ่งมังกรราชบุรี แต่ถ้าพูดถึงหม้อ ไห ตุ๊กตาดินเผาสีส้ม ๆ เรียงรายอยู่แถว ๆ ทางหลวงหมายเลข 224 โคราช ก็ต้อง “หมู่บ้านด่านเกวียน”

เดิมทีบริเวณนี้เคยเป็นเมืองเส้นทางการค้าหน้าด่านระหว่างจังหวัดโคราชกับชายแดนกัมพูชา เรียกกันว่า “ด่านกระโทก” ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูล ด้วยความที่มีพ่อค้ามากมายยกขบวนเกวียนแห่มากันเป็นกองคาราวานแวะหยุดพักกันบ่อยเข้า เลยได้ชื่อใหม่ว่า ด่านเกวียน ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรทำไร่ไถนา ขายผักหญ้าไปตามเรื่อง จนกลุ่มชาวข่า ซึ่งมีเชื้อสายมอญ ได้เดินทางเข้ามาทำงานก่อสร้างโบสถ์ และได้มีการใช้ดินจากริมฝั่งแม่น้ำมูลขึ้นมาปั้นเป็นภาชนะ เผาเก็บไว้ใช้สอยในครัวเรือน จึงเกิดการแบ่งปันถ่ายทอดกรรมวิธีการทำสู่ชาวไทย เกิดเป็นอาชีพใหม่ที่ชาวบ้านต่างฝึกฝน จนกลายเป็นกลุ่มช่างฝีมือในที่สุด

ผู้คนในชุมชนด่านเกวียนมักใช้เวลาว่างจากการทำเกษตรกรรมมาสร้างสรรค์ผลงานเครื่องปั้นดินเผาต่าง ๆ ไว้ใช้เองในครัวเรือน อย่างไห โอ่ง กระถาง บ้างก็ขนใส่เกวียนไปแลกเปลี่ยนสินค้าที่กัมพูชา ต่อมาเริ่มมีการผลิตเป็นจำนวนมาก เน้นการจำหน่ายมากขึ้นจนกลายเป็นของดีประจำถิ่นไป ดินที่นำมาใช้นั้นมีคุณสมบัติพิเศษ ขึ้นรูปได้ง่าย ทนไฟ ไม่เบี้ยว ไม่บุบ เมื่อเผาออกมาแล้วจะมีความเงานิด ๆ ตั้งแต่ยังไม่เคลือบและจะมีสีส้มตามธรรมชาติ ซึ่งคาดว่าเพราะดินที่ขุดมาจากริมฝั่งแม่น้ำมูลในช่วงที่มีความคดเคี้ยวเลี้ยวไปมาเหมือนงู โดยชาวบ้านเรียกกันว่า กุด นั้น อาจจะมีธาตุเหล็กผสมอยู่ในเนื้อดินมาก หรือที่ซื้อ ๆ กันอยู่นี่จะเป็นไหเสริมไยเหล็ก?!

ปัจจุบันชุมชนเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนสามารถผลิตสินค้าได้หลายสไตล์ ตั้งแต่เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน จาน ชาม หม้อ ไห เครื่องใช้ทางการเกษตร ยันอ่างปลาใหญ่ ๆ อ่างน้ำล้นไว้ตกแต่งบ้านและสวน เครื่องประดับเก๋ ๆ แม้แต่ตุ๊กตาดินเผาเด็กนั่งหัวเราะที่เห็นกันมาแต่กาลก่อน ตอนนี้ก็มีการปั้นตุ๊กตาที่มีความซับซ้อนมากขึ้น หรือมาจากภาพยนตร์ชื่อดังตามสั่งก็มี

ซึ่งทั้งหมดนี้ยังคงเอกลักษณ์เฉพาะประจำท้องถิ่นเอาไว้อย่างชัดเจน ทั้งดินที่นำมาใช้ จนถึงการตกแต่งลวดลาย  เรียกได้ว่าไม่เคยหยุดนิ่ง ยังมีการพัฒนาฝีมืออยู่เสมอ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีทั้งเงินคริปโต ฯ หรือจะโควิด 19  ด่านเกวียนยังคงเป็นอีกหนึ่งสังเวียนทดสอบช่างฝีมืออาชีพกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยใช้ความอยู่รอดเป็นเดิมพัน 

หากสนใจเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน หรือสนใจเยี่ยมชมวิธีการทำ สามารถติดต่อได้ที่เทศบาลตำบลด่านเกวียน เลขที่ 222 หมู่ 7 ถนนมิตรภาพ ตำบลด่านเกวียน อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา  โทรศัพท์ 0 4433 8105

18/05/66 เวลา 08:03 น.