#แวะชมสมบัติศิลป์

ตระการตาจิตรกรรม “ฝ้า” ผนัง วัดประดู่ พระอารามหลวง เมืองแม่กลอง

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์ ชวนแวะและชวนชม

อ่านชื่อไม่ผิดหรอกครับ แล้วผมก็ไม่ได้พิมพ์ผิดด้วย

เป็นจิตรกรรม “ฝ้า” ผนังจริง ๆ ที่ผมมายืนแหงนคอตั้งบ่า ชื่นชมความงามอยู่ที่ศาลาการเปรียญหลังเก่าของวัดประดู่ พระอารามหลวง จังหวัดสมุทรสงคราม จนเมื่อยคอเต็มที

เหตุก็เพราะจิตรกรรมของที่วัดนี้ เขาไม่ได้วาดเอาไว้บนฝาผนังเหมือนกับอย่างที่เราเห็นกันในวัดอื่น ๆ ทั่วไปครับ แต่วาดเอาไว้บนผนังของฝ้าเพดาน

ถ้าเป็นจิตรกรรมยุคใหม่ที่เพิ่งวาด ก็คงไม่แปลกอะไร เพราะสมัยนี้นิยมทำอะไรแผลง ๆ พิลึก ๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจ หรือเรียกยอดไลก์กันเป็นปกติ แต่ศาลาการเปรียญหลังนี้เป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่อยู่คู่วัดมาอย่างยาวนาน อายุนับได้เป็นร้อยกว่าปี จึงเป็นสิ่งที่แปลกตาน่าอัศจรรย์ใจจนอยากชวนให้มาดูชมกันครับ

จิตรกรรมบนผนังเพดานศาลาการเปรียญหลังเก่าของวัดประดู่ฯ นั้นเป็นจิตรกรรมไทยประเพณี วาดด้วยสีฝุ่น ไม่มีข้อมูลบันทึกไว้ว่าเขียนขึ้นในสมัยไหน แต่พิจารณาจากลักษณะของภาพที่ปรากฏมีโทนสีฟ้าที่รับอิทธิพลมาจากเครื่องลายครามแบบจีน รวมทั้งมีภาพวาดเทวดาในเครื่องทรงแบบจีนด้วย จึงพอจะสันนิษฐานได้ว่าน่าจะวาดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ตามแนวพระราชนิยมนำศิลปกรรมแบบจีนเข้ามาผสมผสานกับศิลปกรรมไทย

ไล่เรียงมาจากตรงเพดานเหนือพระประธานในศาลาการเปรียญ ช่องแรกเป็นภาพเทพชุมนุม งดงามแปลกตาแตกต่างไปจากเทพชุมนุมโดยทั่วไป ซึ่งจะปกติเป็นเทพนั่งนิ่ง ๆ ประนมมือเรียงราย แต่ที่นี่เหล่าเทวดา ฤๅษี นักสิทธิ์ วิทยาธร ต่างมาชุมนุมในอิริยาบถเหาะเหินเดินอากาศอย่างร่าเริง โดยในมือได้ถือดอกไม้เอาไว้ และมีช่อดอกไม้กระจายอยู่โดยรอบ ในลักษณะโปรยปรายดอกไม้นานาชนิด ลงมาแสดงความสักการะต่อพระพุทธองค์

ช่องที่สองถัดมา วาดเป็นภาพของหนุมาน ทหารเอกของพระราม กำลังหกคะเมนตีลังกา ปากคาบพระขรรค์ แผลงฤทธิ์เป็นหกกร แต่ละมือถืออาวุธ มีตรีเพชร คันศร ลูกศร กงจักร และดาบสองมือ เท้าข้างหนึ่งถือหอก ข้างหนึ่งถือขวาน ส่วนหางยังม้วนพันลูกศรและดาบเอาไว้ รายล้อมด้วยพลทหารลิงบริวารอาวุธครบมือและครบเท้า ถือเป็นภาพหนุมานที่มีท่วงท่าโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนที่ไหนครับ กลายเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของวัดประดู่ พระอารามหลวงไป เพราะมีการนำไปสร้างเป็นประติมากรรมลอยตัว ตั้งไว้ในศาลาเล็กข้างศาลาการเปรียญ เรียกกันว่า “หนุมานมหาปราบ” ทำเป็นประติมากรรมนูนต่ำประดับหน้าบันอาคารในวัด รวมทั้งนำไปทำเป็นเครื่องรางของขลังของวัดอีกด้วย

ช่องที่สามถัดมา วาดเป็นภาพของมวลหมู่เทวดากำลังถือดอกไม้ร่ายรำรอบวงกลมตรงกึ่งกลางซึ่งน่าจะหมายถึงดวงจันทร์ เนื่องจากภายในมีรูปกระต่ายอยู่เป็นสัญลักษณ์ ที่สำคัญคือในภาพนี้มีภาพวาดเทวดาที่ทรงเครื่องแบบจีนอยู่ด้วยสององค์ แสดงให้เห็นอิทธิพลจากศิลปะจีนได้อย่างชัดเจน

ช่องที่สี่วาดเป็นภาพของนักสิทธิ์วิทยาธรกำลังอยู่ในอารมณ์ดี ท่วงทีสนุกสนานร่าเริงกันอย่างสุดเหวี่ยงถึงขนาดมีบางตนถอดชฎาดอกลำโพงเล่นหัวล้านชนกัน เล่นมวยปล้ำกันล้มคว่ำคะมำหงาย ถ้าสังเกตในมือของนักสิทธิ์วิทยาธรบางตนให้ดีจะเห็นถึงสิ่งที่เป็นสาเหตุของความอารมณ์ดีกันจนสนุกสนานเกินเหตุ นั่นก็คือบ้องกัญชาครับ ตนที่อยู่ตรงกลางกำลังดูดบ้องอย่างเมามัน ในขณะที่ริม ๆ ภาพก็มีที่กำลังส่งโค้กส่งยิ้ม เอ้ย ไม่ใช่ ส่งบ้องกัญชาให้แก่กันพร้อมด้วยรอยยิ้ม โดยความสนุกสนานยังได้ต่อเนื่องไปยังช่องที่ห้าซึ่งเป็นช่องสุดท้าย ที่เหล่านักสิทธิ์วิทยาธรยังคงมีบางส่วนออกลีลาร่ายรำ บ้างก็ยืนมึนงง บ้างก็แอ่นหน้าแอ่นหลัง วิ่งไล่ปล้ำถอดหมวกดูหัวล้านหยอกล้อกัน มีบางตนในมือถือดอกไม้ที่มองดูเหมือนดอกฝิ่นด้วย

ผมเองเที่ยวดูจิตรกรรมฝาผนังมามากมายทั่วไทย มาเจอจิตรกรรม “ฝ้า” ผนังชุดนี้เข้าไป ต้องยอมรับเลยครับว่าดูไปอมยิ้มไป เพราะช่างเขียนมีลีลาในการวาดที่ดูมีความเคลื่อนไหว แถมยังมีความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอเรื่องราวที่ดูแหวกแนวไปจากที่อื่น ดูเพลินจนลืมเมื่อยคอไปเลยละครับ

สิ่งที่น่าชมอีกส่วนคือบนผนังคอสองที่อยู่ถัดจากเพดานลงมา เป็นจิตรกรรมไทยประเพณีบอกเล่าเรื่องราวในพุทธประวัติ โดยเรียงตามลำดับเหตุการณ์บ้าง ไม่เรียงบ้าง ได้แก่ ประสูติ พระอินทร์เชิญจุติ พระนางสิริมหามายา ตรัสรู้ พระอุปคุตทรมานพญามาร ถวายพระเพลิงพระบรมศพ แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ โปรดสุภัททะ ปรินิพพาน เปิดโลก โปรดพุทธมารดา ยมกปาฏิหาริย์ โปรดเจ้าศากยวงศ์ โปรดปัญจวัคคีย์ รับข้าวสตุ รับข้าวมธุปายาส เสวยวิมุติใต้ต้นมุจลินทร์ รับบาตรท้าวจาตุมหาราช มารผจญ ทุกรกิริยา ทรงลอยถาด มหาภิเนศกรมน์ และอภิเษกพระนางยโสธราพิมพา

ส่วนถัดลงมาบนฝ้าของหลังคาปีกนก สีสันสดใสสวยงามแตกต่างจากสองส่วนด้านบน เนื่องจากเป็นภาพที่วาดขึ้นใหม่ในสมัยหลังเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ภาพเด่นเป็นภาพของหนุมานแผลงฤทธิ์ “มหาปราบ” ที่ด้านหลังพระประธาน หนุมานในอิริยาบถต่าง ๆ และพลทหารวานร โดยแอบมีเรื่องราวของชื่อเมืองแม่กลองเป็นฉากหลังอยู่ไกล ๆ

และด้วยเหตุจากความโดดเด่นของจิตรกรรม “ฝ้า” ผนังนี้เอง ทำให้กลายเป็นเป็นเอกลักษณ์ของวัดประดู่ พระอารามหลวงไปโดยอัตโนมัติ โดยระเบียงรอบพระอุโบสถที่สร้างขึ้นใหม่ก็ได้มีการเขียนภาพจิตรกรรม “ฝ้า” ผนังเช่นเดียวกัน โดยบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของเมืองสมุทรสงครามและการพัฒนาบ้านเมืองในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งมีพระราชประวัติเกี่ยวข้องกับวัดประดู่เมื่อครั้งอดีต

วัดประดู่เป็นวัดโบราณ จากหลักฐานการได้รับวิสุงคามสีมา ระบุว่าสร้างขึ้นในราว พ.ศ. 2320 หรือสมัยกรุงธนบุรี ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ขณะเสด็จประพาสต้นทางชลมารค จอดเรือพระที่นั่งเสวยพระกระยาหารเช้าที่หน้าวัดประดู่ ทอดพระเนตรเห็นชาวบ้านมาชุมนุมที่ศาลาท่าน้ำเป็นจำนวนมาก จึงทรงให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพไปไถ่ถาม ได้ความว่ามารอรับการรักษาจากหลวงปู่แจ้ง เจ้าอาวาส ซึ่งท่านเชี่ยวชาญอาคมทำน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ใช้รักษาโรคได้นานาชนิด

หลังจากนั้นจึงได้โปรดฯ ให้นิมนต์หลวงปู่แจ้งเข้าไปในวัง เพื่อถวายการรักษาพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นภูธเรศดำรงศักดิ์ ซึ่งทรงประชวร จนกระทั่งพระอาการดีขึ้น จึงถวายเครื่องราชศรัทธาแก่หลวงปู่แจ้งหลายอย่าง ได้แก่ เรือเก๋งพระที่นั่งสี่แจว พระแท่นบรรทม ตาลปัตรพัดรองปักพระปรมาภิไธยย่อ จ.ป.ร. เครื่องอัฐบริขาร และอื่น ๆ อีกหลายประการ

ทางวัดได้เก็บรวบรวมข้าวของที่ได้รับพระราชทานในสมัยนั้นไว้ในอาคารพิพิธภัณฑ์เครื่องราชศรัทธา ภายในบริเวณวัด โดยจัดเป็นนิทรรศการถาวรให้ผู้มาเยือนได้เยี่ยมชมศึกษา นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์พระตำหนักสมเด็จพระสังฆราช พระตำหนักเรือนไทยโบราณ อนุสรณ์รำลึกถึงสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก องค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่เคยเสด็จมาประทับ ณ วัดประดู่ เป็นการส่วนพระองค์ เมื่อปี พ.ศ. 2548 และที่ไม่ควรพลาดชม คือศูนย์สาธิตศิลปะการทำหัวโขนและเศียรครู (หอศิลป์) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2548 เปิดให้นักท่องเที่ยวและประชาชนที่สนใจเข้ามาศึกษาขั้นตอนการทำและทดลองฝึกหัดทำหัวโขนและเศียรครู โดยเรียนรู้จากครูผู้ชำนาญอีกด้วย

คู่มือนักเดินทาง

วัดประดู่ พระอารามหลวง เดิมเป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย แต่ด้วยความสำคัญของวัดที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวเนื่องกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2551

วัดประดู่ พระอารามหลวง ตั้งอยู่เลขที่ 54 หมู่ที่ 2 บ้านบางกระรี้ ตำบลวัดประดู่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม 75110 โทรศัพท์ 0 3477 2299 เปิดทุกวัน เวลา 08.00-18.00 น.

ไม่เก็บค่าเข้าชม

18/06/67 เวลา 09:59 น.