#ที่เที่ยว

แคมป์บ้านกร่าง อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

กฤษณะ แก้วธำรงค์ เรื่องและภาพ

ด่านสามยอดเป็นจุดตรวจแรกก่อนขึ้นแคมป์บ้านกร่าง และเป็นจุดเก็บค่าธรรมเนียมก่อนขึ้น ควรจะแวะที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่ตั้งอยู่ด้านนอกก่อน เพราะยังไงก็เป็นทางผ่าน จะได้ศึกษาข้อมูลข้อควรปฏิบัติในการเข้าพื้นที่อุทยานฯ เช่น การขับรถควรใช้ความเร็วไม่เกิน 50 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นความเร็วที่ปลอดภัยต่อทั้งผู้เดินทางและสัตว์ป่า และหากพบสัตว์ป่าระหว่างทางทั้งบนถนนหรือข้างถนน ห้ามลงจากรถโดยเด็ดขาด

 

เส้นทางขึ้นแคมป์บ้านกร่างเป็นถนนลาดยาง ขับสบาย มีเส้นทางขึ้นลงเขาคดโค้งในบางช่วง จากด่านสามยอดจนถึงแคมป์บ้านกร่าง ประมาณ ๑๕ กิโลเมตร ระหว่างทางอาจจะได้เห็นสัตว์ป่า เช่น ช้าง เก้ง กระทิง เสือดำ และเสือดาว โดยเฉพาะจุดที่มีโป่งและแหล่งน้ำ สัตว์อาจจะลงมากินดินโป่งหรือน้ำ ขึ้นอยู่กับจังหวะ ช่วงเวลา และโชค การขับรถช้าๆ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราสามารถพบเห็นสัตว์ป่าระหว่างทางได้ แคมป์บ้านกร่างเป็นจุดที่อนุญาตให้ตั้งแคมป์กางเต็นท์พักแรมตามขอบเขตที่อุทยานฯ จัดไว้ให้ ถ้ามาในวันธรรมดา นักท่องเที่ยวจะน้อย เลือกพื้นที่กางเต็นท์ตามความต้องการได้ ระหว่างที่เรากางเต็นท์ เจ้าชะนีสองสามตัวโหนไปมาอยู่บนยอดไม้ เหมือนมาแอบส่องดู เลยกังวลว่าพวกมันจะลงมารื้อของที่เต็นท์หรือเปล่า แต่สักพักก็หายเข้าไปในป่า ได้ยินแต่เสียงร้องอยู่ไกล ๆ ช่วงเย็นพวกเราประกอบอาหารแบบง่าย ๆ พยายามทำอาหารที่ไม่ส่งกลิ่นมาก เพื่อไม่ให้ดึงดูดสัตว์ป่าเข้ามาหาอาหารแถบบริเวณที่กางเต็นท์ ซึ่งจะทำให้สัตว์ป่าเสียพฤติกรรมต่อการหาอาหารกินในธรรมชาติ หลังจากประกอบอาหารเสร็จ แนะนำให้เก็บทั้งอุปกรณ์ที่ล้างแล้วหรืออาหารที่ยังไม่ได้ทำไว้ในรถ สัตว์ป่าจะได้ไม่มารื้อของในเต็นท์

จากข้อมูลการพบเสือดำ เสือดาว บนถนนหรือบริเวณโป่งดินข้างทาง เราไปเฝ้าอยู่สองสามที่จนมืดแต่ไม่ปรากฏตัว เราจึงกลับเข้าที่พัก ช่วงกลางคืนประมาณเกือบสี่ทุ่ม สัญญาณเตือนภัยดังขึ้น แสงไฟฉุกเฉินวูบวาบไปมาอยู่นอกเต็นท์ นั่นหมายถึงมีสัตว์ใหญ่ซึ่งอาจจะเป็นช้างเข้ามาที่บริเวณแคมป์ ได้ยินเสียงเจ้าหน้าที่วิ่งตรงไปจุดที่สัตว์ใหญ่สัมผัสกับเชือกเตือนภัยที่เจ้าหน้าล้อมไว้ เป็นมาตรการเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวที่มากางเต็นท์ที่แคมป์บ้านกร่าง แต่โชคดีของพวกเราที่เสียงเตือนภัยนั้นเกิดจากเจ้าหน้าที่ที่เพิ่งกลับจากลาดตระเวนแล้วไปโดนเชือกเข้า ไม่ใช่ช้างบุกเข้ามา

 

05.30 นาฬิกา กลุ่มเราออกเดินทางขึ้นไปแคมป์พะเนินทุ่งโดยรถขับเคลื่อนสี่ล้อของอุทยานฯ เป็นคณะแรก น้าถึกเป็นผู้พาเราขึ้นไป ด้วยแสงไฟหน้ารถและไฟฉาย เราพยายามสอดส่องหาทั้งสองเสือตามจุดที่มีการพบ แต่โชคไม่ใช่ของพวกเรา ไม่พบอีกเช่นเคย จนถึงแคมป์พะเนินทุ่ง ระหว่างกำลังชมความงามพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าและทะเลหมอก เจ้าทุเรียน หมีหมาประจำแคมป์เดินดุ่ม ๆ ออกมาจากชายป่า ดูเหมือนไม่สนใจอะไรทั้งนั้น ทั้งที่มีนักท่องเที่ยวอยู่บริเวณนั้น ๖-๗ คน จากนั้นก็เดินหายเข้าไปในป่าข้างทาง ขณะที่อีกด้านหนึ่ง แม่หมีหมาพาลูกมาเดินด้านหลังจุดกางเต็นท์ แต่ด้วยความที่หมีหมาตัวแม่คงจะหวงลูก เลยพาลูกเดินกลับเข้าป่าไป เจ้าทุเรียนหมีหมาที่พบตัวแรกก็เดินโผล่ขึ้นมาจากข้างทางอีกรอบ มาโชว์ตัวนอนเล่นชายป่าข้างทางให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายรูป สักพักก็เดินหายเข้าป่าไป

Screenshot

“มีนกกาฮัง อยู่บนต้นไทรครับ” เสียงเจ้าหน้าที่เรียก เจ้านกกาฮัง หรือบางทีเรียกนกกก เป็นสายพันธุ์นกเงือกที่ตัวใหญ่ที่สุด ปัจจุบันหาดูยาก แอบส่องดูกำลังกินลูกไทรสุก กระโดดไปกิ่งโน้นที กิ่งนี้ที ดูเหมือนกับเพลิดเพลินกับการกินมา
นักท่องเที่ยวกลุ่มดูนกก็หมุนซ้ายหมุนขวาเดินหน้าถอยหลังตามไปด้วย มีช่วงหนึ่ง เจ้านกกาฮังบินโชว์ข้ามหุบเขาให้ดู น่าประทับใจจริง ๆ ดูทุกคนมีความสุขที่ได้เห็นนกที่หายากอยู่ตามธรรมชาติ ไม่ถูกรบกวน กลุ่มนักท่องเที่ยวที่ขึ้นมาเพื่อชมวิวทิวทัศน์ ถ่ายรูปก็ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ไม่ส่งเสียงดังรบกวน ถึงแม้ ไลฟ์สไตล์จะไม่เหมือนกัน แต่ก็รักธรรมชาติเช่นเดียวกัน

 

ทริปนี้ถึงแม้ว่าไม่ได้พบทั้งเสือดำ เสือดาว ตามที่ตั้งใจไว้ เจ้าหน้าที่บอกว่าไปพบอีกจุดหนึ่ง มีแต่ภาพมาฝาก แต่ก็ถือว่าได้เจอสัตว์ป่าประเภทอื่นทดแทน ผมได้เห็นพญากระรอกดำตัวเป้ง ชะนี ฝูงค่างแว่น หมีหมา นกกาฮัง ผีเสื้อ โดยเฉพาะผีเสื้อ ช่วงเดือนมีนาคมจะเยอะมาก หลากหลายสี หลากหลายสายพันธุ์ เป็นฤดูกาลชมผีเสื้อของที่อุทยานฯ เลย ออกมาเที่ยวกันครับ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจากกรุงเทพฯ ใช้เวลา 2 ชั่วโมงกว่า ๆ เอง ขับรถสบาย ๆ รถธรรมดาขับได้ถึงแคมป์บ้านกร่าง หากจะต่อไปพะเนินทุ่ง ต้องใช้รถโฟร์วีลไดรฟ์เท่านั้น

ติดตามการเดินทางแบบเห็นแก่เที่ยวได้ในเฟซบุ๊ก : Kitsana Kaewtumrong หรืออินสตาแกรม : kae_kitsana หรือดูจากยูทูบ : เที่ยวไทยไม่ตกยุค ตอน แก่งกระจาน มี ๒ ตอน เที่ยวให้สนุกครับ

25/03/68 เวลา 08:59 น.