#แวะชมสมบัติศิลป์

ตามรอยจิตรกรรมจากซีรี่ส์ The White Lotus วัดสุวรรณาราม-วัดสุทัศน์

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์ เรื่องและภาพ

ภาพของนักท่องเที่ยวฝรั่งเดินถือภาพถ่ายพลางชะเง้อชะแง้มองภาพจิตรกรรมบนฝาผนังในพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวรารามเปรียบเทียบกันกับภาพถ่ายในมือ ดูจะพบเห็นมากเป็นพิเศษครับในช่วงนี้ สังเกตจากการที่ผมเข้ามานั่งพักหลบร้อนอยู่แค่เพียงไม่กี่นาที ยังนับได้เป็นสิบรายแล้ว ต้นเหตุนั้นมาจากซีรี่ส์ระดับอินเตอร์เรื่องดัง “The White Lotus” ซีซัน 3 ที่ “น้องลิซ่า” ลลิษา มโนบาล ศิลปิน K-POP สาวชาวไทยสุดฮอตร่วมแสดงอยู่ด้วยนั่นแหละครับเป็นสำคัญ เนื่องพราะช่วงไตเติลเปิดเรื่องหรือ Opening Credit ได้นำเอาภาพจิตรกรรมฝาผนังจากวัดสุวรรณารามและวัดสุทัศนเทพวราราม สองอารามเก่าแก่ของไทยมาลำดับตกแต่งเป็นภาพเปิดเรื่องอย่างตระการตา ส่งผลให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติแห่กันมาตามแกะรอยภาพงาม ๆ ที่เห็นจากซีรี่ส์กันเป็นทิวแถว

ความจริงแล้วภาพจิตรกรรมวัดสุทัศนเทพวรารามอันปรากฏในซีรี่ส์นั้นต้องบอกว่าเป็นเพียงส่วนย่อยครับ เนื่องจากถูกเลือกมาจาก “ภาพกาก” ซึ่งในจิตรกรรมไทยหมายถึงภาพซึ่งไม่ใช่เนื้อหาหลัก เป็นแค่ส่วนประกอบ เช่น สภาพแวดล้อม ทิวทัศน์ บ้านเรือน วิถีชีวิตผู้คน สิงสาราสัตว์ หลายภาพยังเลือกแค่บางส่วนไปตัดต่อเข้าด้วยกัน ตัวภาพจิตรกรรมที่เป็นเนื้อหาหลักน่าดูชมจริง ๆ นั้นต้องบอกว่าอยู่ที่วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร อารามโบราณย่านบางกอกน้อย เดิมชื่อ “วัดทอง” เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่มาปฏิสังขรณ์ใหญ่ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 พระอุโบสถ พระวิหาร พระเจดีย์ เก๋ง และเสนาสนะต่าง ๆ ล้วนสร้างขึ้นในช่วงเวลานี้ ส่วนจิตรกรรมฝาผนังนั้นมาเขียนขึ้นพร้อมกับการปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ก่อนหน้าจะเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดสุวรรณาราม” ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

ลายเส้นสีสันจิตรกรรมอันตระการตานั้นรังสรรค์ขึ้นบนผนังภายในพระอุโบสถทั้ง 4 ด้านรอบองค์ ”พระศรีศาสดา” พระพุทธรูปประธานโบราณซึ่งอัญเชิญจากหัวเมืองเหนือลงมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 รายละเอียดของภาพระยิบระยับจนไม่มีพื้นที่ว่าง ตั้งแต่ผนังหุ้มกลองทิศตะวันออกด้านหน้าพระประธาน ระหว่างช่องประตูเขียนภาพพุทธประวัติตอนประสูติและตอนมหาภิเนษกรมณ์ (เสด็จออกบวช) ในขณะพื้นที่เหนือแนวประตูขึ้นไปเขียนภาพพุทธประวัติตอนมารวิชัย (ผจญมาร) อย่างยิ่งใหญ่อลังการ ส่วนผนังทิศเหนือเขียนภาพจาก “ทศชาติชาดก” อันเป็น 10 พระชาติสุดท้ายในการบำเพ็ญบารมีในฐานะพระโพธิสัตว์ก่อนมาประสูติเป็นพระพุทธเจ้า ไล่เรียงไปตามลำดับรวม 9 ชาติ ได้แก่ เตมียชาดก มหาชนกชาดก สุวรรณสามชาดก เนมิราชชาดก มโหสถชาดก ภูริทัตชาดก จันทกุมารชาดก นารทชาดก และวิธูรชาดก

 

ชาติที่สิบคือ “เวสสันดรชาดก” อันเป็นชาติสุดท้ายซึ่งถือเป็น “มหาชาติ” นั้น ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ด้วยการใช้พื้นที่ของผนังด้านทิศใต้ระหว่างช่องหน้าต่างทั้งแถบ เขียนเป็นภาพจากเรื่องเวสสันดรชาดก ไล่เรียงตั้งแต่ตอนเริ่มต้นมาจากด้านหน้าตามลำดับมาจนถึงตอนจบตรงผนังหุ้มกลองระหว่างช่องประตูด้านหลังพระประธาน ครบถ้วนทั้ง 13 กัณฑ์ เหนือกรอบประตูขึ้นไปเขียนภาพพุทธประวัติตอนเทโวโรหณะ คือพระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ลงมาตามบันไดนาค ระหว่างเสด็จทรงเปิดโลกให้เห็นทั่วถึงกันทั้งสามโลก โลกสวรรค์ โลกมนุษย์ และโลกนรก (แต่พื้นที่นรกในภาพนี้น้อยไปหน่อย วาดไว้แค่ช่องเล็ก ๆ นิดเดียว พอเป็นพิธี อาจเพราะนรกดูไม่สวยงามเจริญหูเจริญตา) โดยมุมของภาพวาดเป็นสังกัสนครที่พระพุทธองค์เสด็จลงมาถึงโลกมนุษย์ มีกษัตริย์และประชาชนออกมาตักบาตรรับเสด็จ

เหนือช่องหน้าต่างบนผนังด้านข้างทั้งสองฟากฝั่งซ้ายขวายังเข้มขลังด้วยภาพเขียน “เทพชุมนุม” บรรดาเหล่าทวยเทพน้อยใหญ่ทั้งพระอินทร์ พระพรหม เทวดา ยักษ์ ครุฑ นาค ฤาษี นักสิทธิ์ วิทยาธร ในอิริยาบถประทับนั่งพับเพียบเรียบร้อย ต่างองค์ยอกรพนมหัตถ์ถวายอัญชุลี หันพักตร์ไปยังทิศตะวันตกอันเป็นที่ตั้งของพระประธาน เรียงรายลดหลั่นกันเป็นแถวเป็นแนวสลับสีแดงดำอย่างมีระเบียบบนผนังรวมฝั่งละ 4 แถวด้วยกัน เดินเข้าไปในพระอุโบสถแล้วให้บรรยากาศเหมือนได้ร่วมเข้าเฝ้าพระพุทธองค์บนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ยังไงยังงั้น

 

ต้องยอมรับว่าผู้กำกับซีรี่ส์ The White Lotus ซีซัน 3 นั้น “ตาถึง” จริง ๆ ครับ ที่เลือกจิตรกรรมจากพระอุโบสถแห่งนี้ไปใช้เปิดเรื่อง เนื่องจากผลงานทั้งหมดในที่นี้ถือเป็นงานฝีมือระดับ “บรมครู” ชั้นแนวหน้าของสมัยรัชกาลที่ 3 ทั้งสิ้น โดยเฉพาะภาพหลักที่ใช้เป็น “ตัวเปิด” ซีรี่ส์ ซึ่งสร้างความตื่นตะลึงให้กับผู้ชมนั้น คือผลงาน “มาสเตอร์พีซ” ของ หลวงวิจิตรเจษฎา หรือ ครูทองอยู่ ยอดฝีมืออันดับ 1 ของแผ่นดิน ผู้ลือเลื่องชื่อด้วยความเชี่ยวชาญด้านลวดลายไทยประเพณีอันวิจิตรและความงดงามของลายเส้นพลิ้วสะบัดไหว ซึ่งเราจะเห็นจากในส่วนของ “เส้นฮ่อ” ใช้แบ่งเรื่องราวของภาพใน “เนมิราชชาดก” บริเวณห้องที่ 4 ว่าโดดเด่นแตกต่างออกไปจากภาพอื่น ๆ จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างชัดเจน นอกจากนั้นยังมีเทคนิคเลือกใช้สีสันตัดกันบริเวณฉากหลังช่วยสร้างบรรยากาศขับเน้นจุดเด่นตรงกึ่งกลางให้ดูลอยตัวขึ้นมาเป็นสามมิติอย่างตื่นตาน่าอัศจรรย์

ทว่าภาพที่ไม่ได้ปรากฏในซีรี่ส์ก็ใช่ว่าจะยิ่งหย่อนกว่ากัน กลับถึงขั้น “ต้องห้ามพลาด” ด้วยซ้ำไป หนึ่งนั้นคือภาพของ “มโหสถชาดก” ในห้องที่ 5 ข้าง ๆ ห่างเพียงช่องหน้าต่างกั้น อันเป็นผลงานชิ้นเอกของหลวงเสนีย์บริรักษ์หรือ “ครูคงแป๊ะ” ซึ่งชื่อชั้นจัดอยู่ในระดับทัดเทียมกันกับ “ครูทองอยู่” ด้วยฐานะคู่แข่งคนสำคัญเพียงหนึ่งเดียว ในส่วนพระมโหสถที่เป็นเรื่องราวหลักนั้นครูคงแป๊ะวาดตามธรรมเนียมนิยมมาตรฐานจิตรกรรมไทยทั่วไป ความโดดเด่นมาอยู่ตรงการวาดภาพผู้คนตัวประกอบในภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวต่างชาติ ทั้งฝรั่งยุโรปและแขกอาหรับ ล้วนสร้างสรรค์ด้วยอิริยาบถหลากหลาย ตั้งแต่ฉากแอ็คชั่นอย่างการต่อสู้กันบนหลังม้า ที่ให้ความรู้สึกได้ถึงความรวดเร็วว่องไวผาดโผน แม้แต่ภาพจับกลุ่มยืนชุมนุมกันเป็นหมู่ ยังเต็มไปด้วยชีวิตชีวาทั้งสีหน้าท่าทาง อารมณ์ เสื้อผ้าอาภรณ์เครื่องแต่งกายล้วนเก็บรายละเอียดได้สมจริง สื่อถึงฐานะอันไม่ธรรมดาให้รับรู้ได้โดยไม่ต้องมีคำบรรยาย

 

ภาพอื่น ๆ ในอุโบสถก็เช่นกัน ย่อมไม่ใช่ชั้น “โนเนม” แน่นอน แม้จะไม่ปรากฏชื่อเสียงเรียงนามของจิตรกรผู้วาด นั่นก็เพราะความเชื่อในสมัยนั้นถือว่าสร้างงานศิลปะเพื่อเป็นพุทธบูชา เพียงฝีไม้ลายมือที่ฝากเอาไว้ก็บ่งบอกฝีมือได้ ว่าแต่ละท่านนั้นอยู่แนวหน้าในระดับ “ท็อปเท็น” ของยุคอย่างไม่ต้องสงสัย อย่างเช่นในภาพ “มหาชนกชาดก” วาดคลื่นลมคลุ้มคลั่งกลางสมุทรซึ่งทำให้เรือสำเภาของพระมหาชนกอัปปางลงเอาไว้อย่างได้บรรยากาศสมจริง หรือภาพของทิวทัศน์ขบวนเรือสำเภาลอยละล่องท่องคลื่นกลางท้องทะเลในตอนสุดท้ายของเวสสันดรชาดกบนผนังด้านหลังองค์พระประธาน ปรากฏการนำเอาเทคนิคการวาดทัศนมิติใกล้ไกลแบบตะวันตกมาผสานเข้ากับจิตรกรรมไทยประเพณีได้อย่างลงตัว ให้อารมณ์กึ่งจริงกึ่งฝัน (ทั้ง 2 ภาพนี้ก็ถูกนำไปตัดต่อดัดแปลงเข้าด้วยกัน ใช้เป็นส่วนหนึ่งของไตเติลซีรีส์ด้วย) สรุปง่าย ๆ ว่างามขั้นอัศจรรย์ทุกภาพครับ หากมีเวลาควรชมจนครบถ้วนให้เป็นบุญตา ผมเองเดินดูติดลมเพลินชมจนลืมทั้งมื้อเช้า มื้อกลางวันกันเลยทีเดียว

และหากจะให้ครบสูตรความ “ตื่นตะลึง” จริง ๆ แบบครบทุกมิติแล้วล่ะก็ ต้องไม่ลืมเงยหน้าขึ้นไปมองเพดานของพระอุโบสถครับ เพราะด้านบนนั้นคือลวดลายดอกไม้ฉลุที่เรียกกันว่า “ดอกจอก” จัดวางเป็นช่องสี่เหลี่ยมแบบเรขาคณิตอย่างมีระเบียบ ใช้ไม้แกะสลักอย่างประณีตบรรจงแล้วลงรักปิดทองให้เหลืองอร่ามทั้งแผ่น เทียบได้กับงานอินเลย์ของยุโรปหรือศิลปะอาหรับได้อย่างน่าทึ่ง และที่เหนือไปกว่านั้นคือภาพเขียน “ดาวเพดาน” ที่ประดับแทรกอยู่ระหว่างช่องดอกจอกทั้งหลาย ช่วยให้ทุกครั้งที่แหงนมองจะสัมผัสได้ถึงบรรยากาศราวกับอยู่ใต้ท้องฟ้ายามค่ำคืนในสรวงสวรรค์ นับเป็นการผสมผสานระหว่างงานไม้ งานเขียน และงานช่างไทยระดับสูงสุดที่หาชมได้ยากยิ่งในทุกวันนี้

 

ทั้งหมดนี้คือ “ความตื่นตะลึง” ที่ซีรีส์ The White Lotus ซีซัน 3 พาเราเข้าไปสัมผัสได้เพียงเสี้ยววินาทีในช่วงเปิดเรื่องเท่านั้น แต่สำหรับคนไทยอย่างเรา โชคดีกว่านั้นมากครับ เพราะสถานที่แห่งนี้คือของจริง เป็นมรดกของบ้านเรา อยู่ใกล้แค่เอื้อมที่วัดสุทัศน์เทพวรารามฯ ใจกลางเกาะรัตนโกสินทร์นี่เอง แค่ลองแวะไปชมด้วยตาเปล่าเพียงครั้งเดียวก็จะเข้าใจทันทีว่าทำไมฝรั่งถึงตื่นเต้นกันนักหนา และทำไมเราถึงควรภาคภูมิใจในงานศิลป์แบบไทย ๆ อย่างที่สุด

17/04/68 เวลา 04:34 น.