#ที่เที่ยว

กระบี่ ตามรอยโลกดึกดำบรรพ์

มานิตา ทัศนประเสริฐ เรื่อง ชื่นจิตต์ เจริญจิตต์ ภาพ

จากอำเภอเมืองกระบี่ มุ่งหน้าไปทางหลวงหมายเลข 4 เริ่มต้นจากถนนสายโอโซน หรือที่คนท้องถิ่นเรียก “ถนนป่าแก่” เชื่อมระหว่างจังหวัดกระบี่-พังงา มีระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร รายล้อมไปด้วยต้นยางนาที่ตั้งตระหง่านอยู่สองฝั่งถนนพร้อมกับสายหมอกที่ปกคลุมป่าและเขาหินปูน เปรียบเสมือนเป็นจุดเริ่มของการเดินทางครั้งนี้
นับว่าเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคนไทย ที่แหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทยถูกเลือกเป็นฉากถ่ายภาพยนตร์จากต่างประเทศหลายเรื่อง ซึ่งล่าสุดในปี 2567 กระบี่ก็เป็นอีกหนึ่งในจังหวัดที่ถูกเลือกให้เป็นฉากถ่ายภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์อย่าง Jurassic World Rebirth กำกับโดย Gareth Edwards ซึ่งออกฉายในเดือนกรกฎาคม 2568 นี้
Jurassic World Rebirth กับการกำเนิดใหม่ของไดโนเสาร์ เล่าถึงเหตุการณ์ทีมปฏิบัติภารกิจ เดินทางไปยังเกาะศูนย์วิจัยแห่งหนึ่งซึ่งเป็นห้องทดลองดั้งเดิมของ Jurassic Park ถูกปล่อยทิ้งไว้หลายสิบปี เพื่อเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของไดโนเสาร์ 3 สายพันธุ์ สำหรับผลิตยาเพื่อช่วยเหลือมนุษย์ชาติ แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายสิบปี ในห้องศูนย์วิจัยเกิดการกลายพันธ์ของไดโนเสาร์พร้อมกับการปรากฏตัวของ Distortus rex หรือ D-Rex เรื่องราวของความตื่นเต้นและระทึกขวัญกำลังจะเริ่มขึ้น
ครั้งนี้เราจะตามรอยสถานที่ถ่ายทำหลักของภาพยนตร์ในกระบี่ จังหวัดที่มีความหลากหลายทางภูมิศาสตร์และความสวยงามธรรมชาติทั้งทะเล ภูเขา น้ำตก ถ้ำหินปูน ที่สะท้อนถึงบรรยากาศยุคดึกดำบรรพ์ได้เป็นอย่างดี เทคโนโลยีการถ่ายทำพร้อมด้วยสถานที่จริงยิ่งตอกย้ำให้แหล่งท่องเที่ยวมีความสมจริงมากยิ่งขึ้น
บทความเรื่องนี้ไม่ได้ระบุจุดที่ถ่ายทำภาพยนต์ของแต่ละสถานที่อย่างชัดเจน แต่เป็นการนำเสนอความความสวยของแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดกระบี่ ให้ทุกคนได้รู้จักและสร้างแรงบันดาลใจให้ได้ออกเดินทางท่องเที่ยวกันต่อไป

ถ้ำโต๊ะหลวง ย้อนรอยโลกดึกดำบรรพ์
ผ่านถนนป่าโอโซน มุ่งหน้าเข้าสู่คลองลึก อำเภอที่แวดล้อมไปด้วยภูเขาหินปูนและโถงถ้ำไล่ระดับเป็นแนวทิวเขาสลับซันซ้อน ปกคลุมด้วยสายหมอกจาง ๆ คู่ขนานไปตามท้องถนน จุดหมายแรกที่ของเราอยู่ในพื้นที่อำเภอคลองลึก ถ้ำโต๊ะหลวง บ้านนบ ตำบลคลองหิน หนึ่งในโลเกชันถ่ายทำหนังและภาพยนตร์ทั้งไทยและต่างชาติ แต่น้อยคนนักที่จะรู้จักแหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้
สัมผัสแรกเมื่อเดินทางมาถึงที่นี่บรรยากาศภายนอกถ้ำปกคลุมไปด้วยต้นไม้ใหญ่ เงียบสงบ มีเพียงเสียงนกและเสียงต้นไม้ใหญ่ที่พลิ้วไปตามลม ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในฉากละครของอาฉลอง ภักดีวิจิตร ที่มีการถ่ายทำในป่า ที่นี่เราได้นัดพบกับไกด์น้อง-มนัสทวุฒิ ชูแสง ผู้เชี่ยวชาญเรื่องถ้ำในจังหวัดกระบี่ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในทีมงานชมรมคนรักถ้ำกระบี่ ได้พาชมและให้ข้อมูลที่น่าสนใจ ถ้ำแห่งนี้ไม่เพียงแต่ใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนต์ แต่มีความสำคัญที่เต็มไปด้วยแหล่งโบราณคดีและธรณีวิทยาที่น่าศึกษา

 

ถ้ำโต๊ะหลวงเป็นถ้ำหินปูนที่อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ของจังหวัดกระบี่ เนื่องจากบริเวณถ้ำมีร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์โบราณรวมถึงเศษหินที่ใช้เป็นเครื่องมือชนิดต่าง ๆ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อไม่นานมานี้มีการค้นพบซากฟอสซิลกระดูกสัตว์โบราณที่ฝังอยู่ผนังถ้ำ คาดว่าอยู่ในสมัยดึกดำบรรพ์ ยุคไฟลสโตซีน หรือยุคน้ำแข็ง มีอายุตั้งแต่ 80,000-200,000 ปี การค้นพบครั้งนี้นับว่าเป็นการค้นพบครั้งสำคัญของพื้นที่จังหวัดกระบี่ซึ่งต้องให้ผู้เชี่ยวชาญได้ทำการสำรวจต่อไป

 

พื้นที่ถ้ำโต๊ะหลวงแบ่งออกเป็น 3 ชั้น ไล่ตามระดับเนินเขา เราเริ่มต้นกันที่บริเวณปากถ้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่ชั้นที่ 1 ลักษณะเป็นโพรงเปิดโล่งเป็นช่องลมด้านหน้าและด้านหลังทะลุถึงกัน ทำให้อากาศถ่ายเทได้ดีและมีแสงสว่างจากภายนอกส่องถึงด้านในเพียงพอที่จะสามารถเห็นรายละเอียดของผนังถ้ำ หินงอกหินย้อยที่สมบูรณ์และสวยงาม ตามหลักธรรมชาติแล้ว ถ้ำที่มีหินงอกหินย้อยสมบูรณ์จะมีอัตราการแลกเปลี่ยนอากาศระหว่างภายในและภายนอกถ้ำน้อย เกิดการสะสมความชื้นภายในถ้ำ ก็ยิ่งทำให้หินงอกหินย้อยเจริญเติบโตได้ดี อย่างเช่น ถ้ำคลัง อำเภออ่าวลึก กระบี่ สำหรับถ้ำโต๊ะหลวงแล้ว ถึงแม้ว่าเป็นถ้ำที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี แต่ระหว่างทางเราก็สามารถเห็นร่องรอยของหยดน้ำที่ทำให้เกิดหินงอกหินย้อยได้ เนื่องจากลักษณะของถ้ำหินปูนจะเหมือนฟองน้ำที่จะคอยดูดซึมน้ำจากต้นไม้ภายนอกได้ดี
พวกเราเดินสำรวจบริเวณชั้นที่ 1 ได้พบกับภาพเขียนโบราณมีอายุร้อยกว่าปีตรงบริเวณผนังถ้ำ เป็นภาพเขียนสีมโนราห์ ซึ่งจากข้อมูลของไกด์น้องเล่าว่า สมัยก่อนเมื่อมีคณะหนังตะลุง มโนราห์เดินทางไปแสดงตามหมู่บ้านต่าง ๆ แล้วมักจะหยุดแวะพักค้างคืนตามเพิงถ้ำแล้วเขียนภาพไว้

 

จากชั้นที่ 1 เดินขึ้นไปยังบริเวณชั้นที่ 2 ลัดเลาะเข้าไปในโถงถ้ำที่มืดสนิท ฝูงค้างคาวที่นับสิบตัวหลบซ่อนอยู่ในมุมมืด ก็พบกับอีกหนึ่งภาพเขียนสีโบราณที่เพิ่งค้นพบไม่นานลักษณะเป็นคล้ายคนรำมโนราห์ มีส่วนหัว เท้าชัดเจน ระหว่างทางเดินเราก็เหลือบไปเห็นขี้งูที่มาจากงูกาบหมากหางนิล ลำตัวสีขาว มีสีดำตรงบริเวณตาและส่วนท้ายของลำตัว เป็นงูถ้ำที่มีวงวงจรชีวิตเกิดและตายอยู่แต่ภายในถ้ำ รักสงบ ไม่มีพิษ สามารถเลื้อยไต่ผนังถ้ำเพื่ออยู่อาศัยและเป็นสัตว์ที่จำกัดจำนวนประชากรค้างคาวในถ้ำอีกด้วย
เราเดินมาต่อในพื้นที่ชั้นที่ 3 ซึ่งต้องใช้ความระมัดระวังกว่าสองชั้นที่ผ่านมา บางช่วงต้องใช้จังหวะการปีนป่ายเล็กน้อยให้พอได้ผจญภัย พร้อมกับกลิ่นขี้ค้างคาวตลบอบอวลชวนให้ถอดใจ ไกด์น้องพามาจุดชมวิว หรือหน้าผาของถ้ำโต๊ะหลวง จุดที่คิดว่าน่าจะเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของถ้ำนี้ก็ว่าได้ ความสูงประมาณ 50 เมตร ภาพที่เห็นคือเป็นโพรงหน้าต่างถ้ำ 2 ช่อง ขนาดเล็กและใหญ่อย่างละช่อง มีส่วนโค้งเว้าของโพรงถ้ำคล้ายกรอบรูปตัดกับวิวสวนปาล์ม มัสยิด และภูเขาเป็นฉากหลัง เป็นมุมที่เราหยุดพักมองความสวยงามของธรรมชาติที่อยู่ตรงหน้าและจินตนาการถึงไดโนเสาร์คอยาว Titanosaurus กำลังยืนกินใบไม้ คงเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นไม่น้อย
เราแวะพักที่จุดชมวิวนี้นานกว่าจุดอื่น ๆ จนล่วงเลยเวลาจากเดิมเราตั้งใจจะอยู่ที่นี่กันแค่ 1 ชั่วโมง แต่ด้วยบรรยากาศและเรื่องเล่าข้อมูลของไกด์น้อง ทำให้พวกเราเพลิดเพลินกับบรรยากาศเป็นมนุษย์ถ้ำอยู่ที่นี่กันถึงเกือบครึ่งวัน เรียกได้ว่าถ้าตะวันไม่ตกดิน เราก็คงไม่ได้ออกจากที่นี่กันแน่

อุทยานเขาพนมเบญจา ป่าฝนเขตร้อนแห่งเมืองกระบี่
ออกเดินทางกันต่อที่ อุทยานแห่งชาติเขาพนมเบญจา อุทยาน ฯ ทางบกแห่งเดียวในกระบี่ เมื่อได้สัมผัสกับบรรยากาศของที่นี่แล้ว ไม่แปลกใจเลยว่าที่นี่ถึงได้ถูกเลือกเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนต์ ด้วยสภาพพื้นที่ประกอบไปด้วยภูเขาสูงปกคลุมไปด้วยผืนป่าดิบชื้นที่อุดมสมบูรณ์จากพืชพรรณนานาชนิด ทั้งตระกูลปาล์ม ยาง ตะเคียน พร้อมกับสายน้ำตกที่ไหลลงมาจากหน้าผาเป็นชั้น ๆ ยิ่งใหญ่และตระการตา
เขาพนมเบญจา หมายถึง “ภูเขา 5 ยอด“ ลักษณะคล้ายรูปร่างนางนอน มีส่วนหัว จมูก ปาก และหน้าอก รวมกันได้ 5 ยอด เรียงเป็นแนวยาวตั้งแต่เหนือจรดใต้ เมื่อมองจากฝั่งอำเภอเหนือคลอง ยอดเขาพนมเบญจาเป็นยอดเขาที่สูงสุด ความสูง 1,397 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง เป็นป่าต้นน้ำที่เปรียบเสมือนสายน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในพื้นที่เมืองกระบี่

 

เราได้พบเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เพื่อพาเดินไปยังจุดแรกที่เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกห้วยสะเค ระยะทางประมาณ 300 เมตร ปกคลุมไปด้วยป่าหนาทึบเหมือนเดินเข้าไปอีกมิติหนึ่ง สงบเงียบ ไร้ผู้คน มีเพียงเสียงต้นไม้ที่พลิ้วไหวและเสียงของนกที่ร้องประสานให้มีชีวิตชีวา เดินเข้าไปซักระยะหนึ่งก็พบกับต้นสมพง อายุกว่า 100 ปี รุกมรดกแห่งป่าพนมเบญจา ความสูงประมาณ ๒๐-๔๐ เมตร ลำต้นสูงตรง ปลายรากแผ่คลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้างเพื่อเป็นหลักยึดเหนี่ยว ระหว่างทางก็พบกับสัตว์ประจำถิ่นป่าดิบชื้นคอยต้อนรับหาเรดาห์เกาะตามร่างกายเพื่อดูดเลือดให้ได้ตื่นเต้นไปตาม ๆ กัน เราสิ้นสุดทางเดินที่น้ำตกห้วยสะเค น้ำตกขนาดเล็กท่ามกลางธรรมชาติ แวะพักดื่มด่ำกับรรยากาศ สัมผัสความเย็นของสายน้ำให้ได้คลายร้อนจากการเดินทาง

 

กลับมาที่อีกฝั่งของที่ทำการอุทยานฯ เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์น้ำตกห้วยโต้ ระยะทางวงรอบใหญ่ประมาณ 3.8 กิโลเมตร เส้นทางนี้จะเดินสะดวกกว่าเส้นทางน้ำตกห้วยสะเค ตลอดการเดินในเส้นทางศึกษาธรรมชาตินั้นทำให้เราซึมซับบรรยากาศรอบตัว ใช้ประสาทสัมผัสทั้งการฟังเสียงของธรรมชาติ ฝึกสังเกตสิ่งมีชีวิตรอบตัว เจ้าหน้าที่อุทยานฯ บอกว่า “เป้าหมายของการมาอุทยาน ฯ ของนักท่องเที่ยวแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนมาเพื่อเล่นน้ำแล้วกลับไป แต่บางคนใช้เวลาเกือบทั้งวันเพื่อมาสัมผัสธรรมชาติ ปล่อยใจไปกับธรรมชาติช้า ๆ ไม่เร่งรีบ ทำให้เราได้เห็นอะไรใหม่ ๆ รอบตัว” ซึ่งมันก็จริงอย่างที่เจ้าหน้าที่ท่านนั้นว่า ระหว่างทางได้พบกับจักจั่นงวง หรือด้วงงวงช้าง สิ่งมีชีวิตตัวเล็ก ๆ ที่เกาะตามต้นไม้ ลักษณะปลายงวงสีแดงชี้ขึ้น ลำตัวสีเขียวมีลายจุดเล็ก ๆ สีเหลือง เป็นสัตว์ที่บ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ
เสียงน้ำตกค่อย ๆ ดังจนชัดขึ้น เป็นสัญญาณแจ้งเตือนว่าถึงน้ำตกแล้ว เราเดินทางมาถึงชั้นแรกของน้ำตกห้วยโต้ เรียกว่า “วังชก” ที่อยู่ตรงบริเวณทางเดินเข้าน้ำตก คำว่า “วัง” หมายถึงแอ่งน้ำเล็ก ๆ ที่เกิดจากน้ำตกที่ไหลลดหลั่นตามหน้าผาสูงเป็นชั้น ๆ เปิดให้เที่ยว 5 ชั้น เส้นทางนี้คึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ เสียงเด็กเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน จากชั้น ๑ เดินลัดเลาะตามเส้นทางไต่ระดับขึ้นไปเป็นวังสามหาบ วังจงลอย วังปรง และวังเทวดาตามลำดับ ถึงแม้แต่ละชั้นมีระยะทางไม่ห่างกันมาก แต่ก็พอให้ได้ออกแรง เหนื่อยหอบไปตาม ๆ กัน ความพิเศษของ อุทยานฯนี้ ไม่เพียงแต่ความความสวยงามของธรรมชาติเท่านั้น แหล่งน้ำจากวังเทวดาถือว่าเป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดกระบี่ในการนำมาประกอบในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อปี พ.ศ. 2562 อีกด้วย
เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกห้วยโต้เปิดท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี อยากให้ทุกคนได้ลองมาสัมผัสบรรยากาศ ฟังเสียงธรรมชาติ แล้วจะรู้ว่ากระบี่ไม่ได้มีดีแค่ทะเล

 

เขาคราม ถนนแห่งขุนเขา
จากอุทยานแห่งชาติเขาพนมเบญจา ต่อเนื่องมาจนถึงทางหลวงหมายเลข 1016 รอยต่อระหว่างตำบลทับปริกและตำบลเขาคราม อำเภอเมืองกระบี่
ใครจะไปคิดว่าถนนตรงบริเวณไร่ม่านเขาจะเต็มไปด้วยทัศนียภาพของวิวภูเขาสูง ที่มีถนนตัดผ่านและคดคี้ยวไปตามหุบเขา ภายใต้ร่มเงาของภูเขาพร้อมกับบรรยากาศทุ่งหญ้าและสวนปาล์มที่คู่ขนานสองฝั่งถนน ยิ่งให้รู้สึกที่นี่เหมือนดินแดนลึกลับในโลกของดึกดำบรรพ์
หากใครได้ชมตัวอย่างภาพยนตร์ผ่านตามาบ้างแล้วจะเห็นฉากไดโนเสาร์ Titanosaurus ยืนอยู่ท่ามกลางภูเขาผสมผสานเทคโนโลยีการถ่ายทำ ทำให้สถานที่แห่งนี้มีความน่าสนใจ
ถึงแม้ว่าถนนเส้นนี้อาจจะไม่ได้มีแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม ไม่ใช่ปลายทางของการเดินทาง แต่เรื่องราวระหว่างทางมักจะมีความสวยงามที่ซ่อนอยู่เสมอ

คลองหรูด คลองน้ำใส ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ
คลองหรูด หรือคลองหนองทะเล บึงน้ำจืดขนาดใหญ่ในตำบลหนองทะเล คำว่าหรูด มาจากภาษาใต้ หมายถึง การสไลด์ลาด เรียกตามลักษณะของพื้นที่บริเวณนั้นที่เป็นฝายชะลอน้ำและเป็นที่เล่นน้ำของเด็กในพื้นที่ บริเวณคลองหรูดเป็นป่าชุมชนที่ดูแลจัดการโดยคนในชุมชน แต่เดิมพื้นที่ตรงคลองหรูดเป็นแม่น้ำสายเล็ก ๆ จนกระทั่งได้มีการทำเป็นฝายสำหรับใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ทำให้จากแม่น้ำสายเล็ก ๆ ขยายพื้นที่กลายเป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่ ท่ามกลางความมหัศจรรย์ของธรรมชาติและความหลากหลายของระบบนิเวศน์ของพื้นที่โดยรอบ ปลายทางของคลองหรูดจะไหลลงทะเล รวมระยะทางจากต้นน้ำถึงปลายทางประมาณ ๒ กิโลเมตร

 

กิจกรรมของที่นี่จะเป็นการพายเรือคายักจากคลองหรูดเข้าไปยังคลองน้ำใส มีจุดให้บริการเรือหลายจุด ราคาลำละ ๓๐๐ บาท เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาสัมผัสธรรมชาติ ทั้งคนไทย คนจีน มาเลย์ บรรยากาศระหว่างทางก็จะเห็นวิวภูเขาสัญลักษณ์ของหนองทะเลโดดเด่นเป็นฉากหลังพรอ้มกับภาพต้นไม้ที่ยืนตั้งตรงอยู่กลางหนองน้ำ เป็นภาพวิวพานอรามาที่สวยงาม ถึงแม้อากาศจะร้อนแต่ทุกคนต่างสนุกสนานกับการพายเรือคายัก พายลัดเลาะไปตามตอไม้ที่โผล่ปริ่มน้ำ แนะนำมาถึงช่วงเช้าเพราะคนไม่เยอะและแดดไม่ร้อนจนเกินไป
จากคลองหรูดเข้าสู่เส้นทางคลองน้ำใสเหมือนหลุดเข้าสู่อีกมิติ คลองน้ำใสเป็นแหล่งต้นน้ำที่เกิดจากตาน้ำผุดใต้ดิน พื้นที่โดยรอบเป็นป่าพรุมีต้นไม้ขึ้นหนาแน่น ปกคลุมตลอดเส้นทางคล้ายป่าแอมะซอน ตลอดเส้นทางจะได้เพลิดเพลินไปกับพันธุ์ไม้นานาชนิด พร้อมกับความใสของน้ำสีเขียวอมฟ้า คล้ายสีมรกต ที่มองเห็นปลาและพืชใต้น้ำอย่างสาหร่ายได้อย่างชัดเจน บรรยากาศแบบนี้ยิ่งทำให้เกิดจินตนาการเรื่องราวของไดโนเสาร์ต่าง ๆ ขึ้นมาทันที บริเวณตาน้ำผุดจะเป็นจุดสิ้นสุดของการพายเรือ เรือทุกลำจะแวะพักถ่ายรูปเสมือนเป็นจุดรวมพลของนักท่องเที่ยว เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะและเสียงของความตื่นเต้นกับความสวยงามของธรรมชาติ ก่อนจะแยกย้ายกลับเส้นทางเดิม ระหว่างทางก็มีจุดเล่นน้ำให้ได้แวะพักคลายร้อนหายเหนื่อย

หาดถ้ำพระนางกับความสวยงามระดับโลก
ข้ามฝั่งมาเที่ยวทางทะเลกันบ้างในอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ครอบคลุมพื้นที่ชายหาดและเกาะต่าง ๆ ครั้งนี้จะพานั่งเรือเที่ยวที่หาดถ้ำพระนาง แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวต่างชาติ พร้อมกิจกรรมปีนเขาที่เปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของหาดถ้ำพระนางและหาดไร่เลย์ได้เป็นอย่างดี
บริเวณพื้นที่หาดไรเลและหาดอ่าวนางเป็นแหลมที่ยื่นออกทะเลล้อมรอบไปด้วยภูเขาหินปูน ต้องเดินทางด้วยเรือหางยาว เรานั่งเรือจากท่าเรืออ่าวน้ำเมา มายังหาดไร่เลตะวันออก ใช้เวลาเพียง ๑๕ นาทีก็ถึงที่หมาย ค่อนข้างสะดวกสบายและไม่พลุกพล่าน ด้วยความที่ไม่ได้เดินทางมายังหาดไร่เลหลายปี การมาครั้งนี้สังเกตุได้ถึงความเปลี่ยนแปลงของสถานที่ ร้านค้า การทำถนนหนทางที่สะดวกขึ้น แต่ที่ยังไม่เปลี่ยนไปคือยังคงเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเล่นน้ำ อาบแดดตามชายหาด
เราเดินข้ามฝั่งจากหาดไร่เลย์ตะวันออกมายังหาดถ้ำพระนาง อีกหนึ่งสถานที่ถ่ายทำภาพยนต์ที่อวดความสวยงามของท้องทะเลไทยให้ชาวโลกได้รู้จัก มุมมองภาพถ่ายมุมสูงจากทางทะเลที่มองเข้ามายังชายหาด ด้วยทิวทัศน์ของหน้าผาหินปูนสูงตระหง่านประกอบกับพื้นที่ของชายหาดและท้องทะเลล้วนเป็นภาพจำของใครหลาย ๆ คนที่มองแล้วก็สามารถเอ่ยถึงชื่อของสถานที่แห่งนี้ได้เป็นอย่างดี
หาดถ้ำพระนางอาจจะเป็นเกาะลับในฉากสำคัญที่กำเนิดไดโนเสาร์กลายพันธ์ในภาพยนต์ก็เป็นได้ เก็บกระเป๋าแล้วตามรอย Jurassic World Rebirth กันได้เลย !!!

15/07/68 เวลา 01:40 น.