#ศิลปวัฒนธรรม

ความรักของบังหมาด

ฐากูร โกมารกุล ณ นคร เรื่อง ธีระพงษ์ พลรักษ์ ภาพ

วันที่บังหมาด-สมชาย ทัศนีย์ รอนแรมจากหมู่บ้านมุสลิมแถบอำเภอทับปุด ข้ามขุนเขาหินปูนอันเป็นกายภาพโดดเด่นของชายฝั่งพังงามาถึงบ้านบางพัฒน์ สามสิบกว่าปีก่อนนั้น หมู่บ้านชาวประมงแถบถิ่นนี้ยังคงสมบูรณ์งดงาม ปู ปลาหาได้ในป่าชายเลนที่สมบูรณ์และแผ่ภาพสีเขียวแน่นทึมที่ฝั่งทะเลใน

โลกแห่งการประมงและวิถีศรัทธาต่ออัลเลาะห์ห่มคลุมบ้านบางพัฒน์ มันคือพื้นที่อันเต็มไปด้วยชีวิตที่แยกกันไม่ออกระหว่างทะเลและแรงศรัทธา หลอมรวมและเชื้อเชิญให้คนยึดมั่นในหนทางเดียวกันยังคงมีทิศทางอันแน่วแน่และคงทน

“สะพานยังไม่มีที ผมนี่มาตอนแรกยังว่าอยู่ว่าจะทำไรอยู่กินดี” แต่เอาเข้าจริง ๆ บังหมาดก็อยู่ที่นี่ได้ จากการหมั้นหมายของผู้ใหญ่ให้มาดูตัวอารี หัสนีย์ หรือ “จ๊ะสาว” นานวันเข้า ทั้งคู่ก็ใช้ชีวิตผ่านพ้นความเหน็ดเหนื่อยและตรากตรำมาต่อหน้าผืนทะเลและการเติบโตของบางพัฒน์

“ตอนมาถึงที่นี่ เห็นปลาดุก ปลากระบอก ตามใต้ถุน ลองเอาเบ็ดผูกตามเสา ข้ามคืนไปดู โอ้โห ปลาติดเป็นพวง” บังหมาดเล่าอารมณ์ดี อดีตเช่นนั้นแม้มันผ่านมาแล้ว หากแต่ดูไม่เนิ่นนาน

“ในป่ามีแต่ลิงแสม มันอยู่กันเป็นฝูงใหญ่” คนรุ่นเก่าเรียกที่นี่ว่าบ้านบางลิง เพราะเต็มไปด้วยฝูงลิง หนู นก ยังไม่นับไปตามใต้น้ำอันเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ทั้งปู ปลา หอย กุ้ง ป่าชายเลนผืนโอฬารด้านหลัง ดึงดูดให้หมู่บ้านเล็ก ๆ ริมพื้นที่สีเขียว ไร้แผ่นดินเพาะปลูก ค่อยเติบโตในนามของหมู่บ้านประมงอันห่างไกล

ไม่เพียงแค่ความเติบโตไปตามโลกภายนอกที่เปลี่ยนผ่าน ความรักของบังหมาดกับจ๊ะสาวก็มั่นคงแข็งแรง ทั้งคู่หล่อหลอมมันผ่านการงานและการใช้ชีวิตตามครรลองของศาสนาและรูปแบบการทำมาหากิน

ตามแต่การหมุนเวียนของพระจันทร์ข้างขึ้นข้างแรมที่ส่งผลกับระดับน้ำขึ้นลงและการออกหาปลาของประมงบางพัฒน์ พวกเขาไม่เคยหันหลังให้ทะเล ขณะที่ฝ่ายหญิงอย่างจ๊ะสาวก็ปรับเปลี่ยนบ้านเรือนให้กลายเป็นร้านซีฟู้ดอันมีต้นทางมาจากสัตว์น้ำที่พวกผู้ชายทำมาหากินและนำมันขึ้นมา กลายเป็นว่าบ้านริมทะเลไม่ได้ถูกตีความแค่การออกเรือและจับปลามาขาย แต่พวกเขาคิดหาหนทางทำกินใหม่ ๆ เคียงคู่การท่องเที่ยว มากไปกว่านั้น มันจะยั่งยืนได้อย่างไร พวกเขามีคำตอบที่ชัดเจนผ่านการกระทำ ไม่ใช่นโยบาย

“ทุกวันนี้เรามีทั้งโครงการธนาคารปูม้า ไม่ขายและไม่กินปูไข่ เราร่วมกันดูแลป่าโกงกาง ปลูกทดแทนที่มันหายไปเยอะสมัยสัมปทานตัดไม้ทำถ่าน” บังหมาดถ่ายทอดความรักในทะเลบ้านเกิดของคนบ้านนี้ออกมาผ่านถ้อยคำและการกระทำ

“เรารักบ้านเกิดกันทุกคนล่ะ เหมือนคนอื่น ๆ ตามป่าเขา ตามชายทะเล ดูแลมันเพราะมันให้เราอยู่กิน มีชีวิต” มันฟังดูคล้ายถ้อยคำโรแมนติกที่ต้องต่อสู้กับโลกปัจจุบันอันหมุนเคลื่อนด้วยกระแสทุนนิยม แต่ดูเหมือนถ้อยความเช่นนี้จะหล่อหลอมอยู่ด้วยความรัก ทั้งการรักกันของคู่ชีวิตที่ดูแลกันมาตั้งแต่เริ่มต้น และอาจกินความรวมไปถึงความรักของคนตัวเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งที่มีให้ต่อผืนป่าและทะเลอันโอบล้อมชีวิตของพวกเขาอยู่

“เรามีอาหารกินอยู่ได้ก็ป่าโกงกางนี่ล่ะ” บังหมาดไม่เคยนิยามป่าสีเขียวตรงรอยต่อระหว่างบกและทะเลผืนนี้ว่าเป็นเช่นไร ทว่าประโยคสั้น ๆ นั้นหมายถึงพวกเขาขาดมันไม่ได้

เสียงอาซานยามเช้าล่องลอยเหนือผืนทะเลกว้าง เฒ่าชราเดินเข้าไปในสุเหร่า ก้มลงละหมาดอย่างสงบเยือกเย็น เปล่งถ้อยคำและความหวังที่จะเหนี่ยวนำชีวิตให้เดินทางสู่แดนดินอันเป็นสุข คนอย่างบังหมัดและจ๊ะอารีก็เช่นกัน พวกเขาไม่เพียงหล่อเลี้ยงชีวิตคู่ด้วยความรัก แต่ยังเผื่อแผ่มันออกมาสู่พี่น้องญาติมิตร มากไปกว่านั้น มันห่มคลุมอยู่ในผืนทะเล ป่าชายเลน ผ่านภาพของการร่วมแรงร่วมใจและยึดมั่นในศรัทธาศรัทธา

อาจบางที หมู่บ้านเล็ก ๆ ตรงรอยต่อระหว่างทะเลในและทะเลนอกนั้นกำลังฉายชัดถึงพื้นที่อันเป็นสุข ที่พวกเขาเฝ้าฝันจะเดินทางไปถึง แดนดินที่อุดมสมบูรณ์ สะอาด ปลอดภัย เต็มไปด้วยความงดงาม และบางครั้ง ก็ราวคนบ้านบางพัฒน์กำลังพาชุมชนของพวกเขาก้าวไปข้างหน้าราวการเดินทางอันศักดิ์สิทธิ์

“ซาลามัต จาลัน” ใครสักคนอาจกำลังเอื้อนเอ่ย…ขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ

25/09/66 เวลา 05:15 น.