#แวะชมสมบัติศิลป์

ท่องเที่ยวจักรวาลในวัดโบราณล้านนา

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์ ชวนแวะและชวนชม

(บรรยายภาพ : วิหารจตุรมุขวัดภูมินทร์ สถาปัตยกรรมสะท้อนภูมิจักรวาลไทย)

สมัยนี้ที่ผ่านมาเราคงจะได้ยินว่าในต่างประเทศเริ่มมีการออกไปทัศนาจรในอวกาศกันแล้ว และมีแนวโน้มว่าต่อไปอาจจะมีการท่องเที่ยวจักรวาลกันในอนาคตอันใกล้

ไทยเราเองนั้น ไม่อยากจะคุยว่าท่องจักรวาลกันมานานแล้วครับ ตั้งแต่สมัยโบราณกาลเป็นพันปีโน่น เรื่องจริงนะครับ ไม่ได้โม้ เนื่องจากจักรวาลของไทยเราไม่ได้อยู่นอกโลกที่ไหน แต่อยู่ในวัดวาอารามโบร่ำโบราณของไทยเรานี่เอง ดังนั้นเพียงก้าวเท้าเข้าสู่วัด ก็เหมือนกับได้ท่องจักรวาลไปในตัวแล้ว

นั่นเพราะช่างโบราณของไทย โดยเฉพาะช่างทางล้านนานั้น สร้างวัดขึ้นตามคติความเชื่อเรื่องภูมิจักรวาล ตามที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา ที่เรารู้จักกันดีก็คือไตรภูมิพระร่วง ซึ่งพระมหาธรรมราชาลิไท กษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยทรงพระราชนิพนธ์ไว้

(บรรยายภาพ : วัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง รักษารูปแบบความเชื่อภูมิจักรวาลไทยไว้ค่อนข้างสมบูรณ์)

จักรวาลในไตรภูมิพระร่วงเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ คำว่าจักรวาลหมายถึงการหมุนไปเช่นเดียวกับจักร พื้นที่ภายในจักรวาลจึงมีลักษณะเป็นวงกลมเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ประกอบด้วยสามภพภูมิ ได้แก่ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ ศูนย์กลางของจักรวาลคือเขาพระสุเมรุ บนยอดเขาเป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีนครแห่งเทพนามไตรตรึงส์ ศูนย์กลางคือไพชยนต์มหาปราสาท ที่ประทับของพระอินทร์ เทพผู้คุ้มครองโลกและพระพุทธศาสนา โดยมีพระอาทิตย์และพระจันทร์โคจรอยู่รอบ

(บรรยายภาพ : เขาพระสุเมรุจำลองอายุนับพันปีที่วัดพระธาตุหริภุญชัย)

เขาพระสุเมรุล้อมรอบด้วยสัตบริภัณฑ์ คือเทือกทิวเขารูปวงแหวนทั้งเจ็ด ได้แก่ ยุคนธร กรวิก อิสินธร สุทัศ เนมินธร วินันตกะ และอัสกัณ ซึ่งเป็นที่สถิตของเทวดาจตุมหาราชิกาพร้อมด้วยบริวาร ทิวเขาแต่ละชั้นมีวงแหวนสมุทรคั่นอยู่เรียกว่า “มหานทีสีทันดร”

(บรรยายภาพ : สัตภัณฑ์ ทิวเทือกเขาสัตบริภัณฑ์ที่ถูกย่อส่วนลงมาไว้หน้าพระประธาน)

นอกทิวเขาสัตบริภัณฑ์ ทิศทั้งสี่ของจักรวาลมีมหาสมุทรสี่แห่งกว้างไกลไปถึงสุดภูเขาที่เป็นกำแพงจักรวาล “ปิตสาคร” ทางทิศเหนือ มีน้ำสีเหลือง “ผลิกสาคร” ทางทิศตะวันตก มีน้ำใสสะอาดเหมือนแก้วผลึก “ขีรสาคร” เกษียรสมุทรทางทิศตะวันออก มีน้ำสีขาว “นิลสาคร” ทางทิศใต้ มีน้ำสีน้ำเงินอมม่วง

นอกจากนี้ยังมีทวีปใหญ่อีก 4 ทวีป ได้แก่ “อุตรกุรุทวีป” ตั้งอยู่เหนือของภูเขาพระสุเมรุ “บุพวิเทหทวีป” ตั้งอยู่ทางตะวันออกของเขาพระสุเมรุ “ชมพูทวีป” คือโลกของเรา ตั้งอยู่ตอนใต้เขาพระสุเมรุ และ “อมรโคยานทวีป” ตั้งอยู่ทางตะวันตกของเขาพระสุเมรุ

(บรรยายภาพ : ปราสาทเฟื้องบนหลังคาวิหารล้านนา เป็นการจำลองเขาพระสุเมรุศูนย์กลางจักรวาล)

กลไกจักรวาลดำเนินไปตามวงวัฏจักร สรรพสิ่งเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และดับสิ้นไป วนเวียนเป็นวัฏจักรไม่มีที่สิ้นสุด สรรพสัตว์ในจักรวาลดำเนินไปตามผลแห่งการกระทำหรือผลกรรม เวียนว่ายตายเกิดเป็นสังสารวัฏอยู่ภายในสามภพภูมิเหล่านี้ มีเพียงหนทางเดียวที่จะหลุดพ้นจากความเวียนว่ายตายเกิดคือ “นิพพาน”

ทุกสิ่งก่อสร้างในวัดจึงมีความหมายเกี่ยวกับจักรวาลแบบพุทธศาสนาแฝงอยู่ เริ่มตั้งแต่ทางเข้า บันไดนาค หรือสะพานนาค คือสะพานที่เชื่อมกับโลกมนุษย์ แสดงว่าสุดเขตแดนโลกมนุษย์แล้ว ผ่านซุ้มประตูโขงหน้าวัดที่มักประดับปูนปั้นรูปสัตว์ต่าง ๆ หมายถึงป่าหิมพานต์ กำแพงแก้วรอบเขตพุทธาวาส เปรียบเสมือนกำแพงจักรวาล เข้ามาในลานวัดที่เป็นผืนทรายเปรียบได้กับมหานทีสีทันดร

(บรรยายภาพ : วิหารพระพุทธ สัญลักษณ์แทนชมพูทวีปในวัดพระธาตุลำปางหลวง)

วัดโบราณในล้านนาจะมีวิหารหลวง คือวิหารขนาดใหญ่สุด หันไปทางเข้าวัดด้านทิศตะวันออก และมักมีวิหารอีกหลังหนึ่งอยู่ทางด้านทิศใต้ในตำแหน่งของ “ชมพูทวีป” แผ่นดินที่กำเนิดของพระพุทธเจ้า จึงเป็นวิหารประดิษฐานพระพุทธ ปราสาทเฟื้องบนหลังคาวิหาร การจำลองเขาสัตบริภัณฑ์ในเชิงสัญลักษณ์ผ่านสัตภัณฑ์ หรือเชิงเทียนบูชาหน้าพระพุทธรูป ยังมีเรื่องราวของป่าหิมพานต์ที่ถูกถ่ายทอดผ่านลวดลายประดับตกแต่งวิหาร ตามหน้าบัน เสา และผนัง จนเข้าไปถึงองค์พระประธานและเจดีย์ประธานที่อยู่ถัดไปอีกก็คือเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางของจักรวาลในที่สุด

คติจักรวาลที่นำมาออกแบบเป็นงานพุทธศิลป์เหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาสักการะพระพุทธรูป พระธาตุเจดีย์ ได้พบเห็นจักรวาลที่จำลองผ่านสถาปัตยกรรมวัด กระตุ้นให้เกิดความเข้าใจในพระธรรมคำสอน อันจะนำไปสู่วิถีในการปฏิบัติธรรม นำไปสู่การหลุดพ้นอันเป็นเป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนาได้

(บรรยายภาพ : ซุ้มประตูโขงวัดพระธาตุลำปางหลวงสื่อถึงป่าหิมพานต์ด้วยลวดลายปูนปั้นระดับ)

น่าเสียดายที่วัดจำนวนมากในปัจจุบันมีการสร้างสิ่งก่อสร้างใหม่ ๆ ที่ไม่สะท้อนคติความเชื่อเรื่องภูมิจักรวาลโบราณ แถมออกไปในทางรกรุงรังเสียส่วนมาก แต่ในดินแดนล้านนาก็ยังพอมีวัดที่ยังคงรักษาคติจักรวาลดั้งเดิมไว้ให้ชมได้อย่างชัดเจนอยู่หลายแห่งเหมือนกันครับ ได้แก่ วัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง วัดพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน

(บรรยายภาพ : จิตรกรรมแสดงถึงภูมิจักรวาลของไทยในอุโบสถวัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรี)

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน มีความโดดเด่นในแง่ของการออกแบบให้อุโบสถ วิหาร และเจดีย์รวมอยู่ในหลังเดียว เป็นการนำคติภูมิจักรวาลของพุทธศาสนาในภัทรกัปป์สื่อสารออกมาในรูปแบบของสถาปัตยกรรมได้อย่างสวยงามลงตัวไม่เหมือนใคร

เที่ยวเหนือผ่านไปที่ไหนก็อย่าลืมแวะเวียนเข้าไปท่องเที่ยวจักรวาลกันดูครับ

28/03/67 เวลา 04:28 น.