#ที่เที่ยว

พระธาตุเจดีย์ศรีเมืองปง วัดอรัญญวาส โลหะปราสาทแห่งที่ 4 ของโลก

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์ เรื่อง สุรพล สุภาวัฒนกุล ภาพ

สถาปัตยกรรมสีขาวที่ตั้งโดดเด่นอยู่บนยอดเขาเหนือวัดอรัญญาวาส ในอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่นั้น ดูโดดเด่นสะดุดตากว่าพระธาตุเจดีย์ทั่วไป แม้มองระยะไกลจากเบื้องล่าง และเมื่อนั่งรถขึ้นเขามาดูชมใกล้ ๆ ยิ่งเห็นได้อย่างชัดเจนถึงความแตกต่าง ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ไม่ใช่เจดีย์แบบธรรมดา ทว่าเป็น “โลหะปราสาท”

 

โลหะปราสาท คือชื่อเรียกสถาปัตยกรรมรูปแบบหนึ่งที่มีมาแต่ครั้งพุทธกาล โดยนางวิสาขามหาอุบาสิกา ธิดาของมหาเศรษฐีธนัญชัยแห่งกรุงสาวัตถี ได้นำเครื่องประดับ “มหาลดาประสาธน์” ออกประมูลได้เงินมาสร้างเป็นอาคารที่พักและสถานปฏิบัติธรรมของพระภิกษุถวายแก่พระพุทธเจ้า ลักษณะเป็นปราสาทใหญ่สองชั้น ภายในแบ่งเป็น 1,000 ห้อง ยอดปราสาททำจากทองคำ ให้ชื่อว่า “มิคารมาตุปราสาท” ตั้งอยู่ในบริเวณวัดบุพพาราม ณ นครสาเกต ทางทิศตะวันออกของกรุงสาวัตถี ชาวเมืองนิยมเรียกกันว่า “โลหะปราสาท” ตามลักษณะสถาปัตยกรรมทรงปราสาทมียอดเป็นโลหะ ถือเป็นโลหะปราสาทแห่งแรกของโลก ปัจจุบันปรักหักพังเหลือเพียงส่วนฐานรากให้เห็นเท่านั้น

กาลเวลาผ่านมาจนถึงประมาณ พ.ศ. 382 จึงได้มีการสร้างโลหะปราสาทหลังที่สองขึ้นที่นครอนุราธปุระในลังกา โดยพระเจ้าทุฎฐคามณีอภัย กษัตริย์ผู้ครองกรุงอนุราธปุระ โปรดฯ ให้จำลองแบบจากโลหะปราสาทหลังแรกที่อินเดียมาสร้าง เป็นอาคารในผังสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างด้านละ 75 เมตร ส่วนฐานรากใช้เสาหินพันกว่าต้นรองรับตัวปราสาทที่มีความสูง 9 ชั้น แต่ละชั้นมี 100 ยอด ส่วนหลังคามุงด้วยแผ่นทองแดง ผนังทำจากไม้ประดับด้วยหินมีค่าและงาช้าง ภายในมีห้องทั้งหมด 1,000 ห้อง สำหรับพระภิกษุสงฆ์พำนักจำพรรษา โดยเรียงตามสมณศักดิ์ จากชั้นบนสุดสำหรับสมณศักดิ์สูง แล้วค่อยลดหลั่นลงมาตามลำดับ

โลหะปราสาทแห่งนี้เกิดไฟไหม้หลายครั้ง เนื่องจากมุงหลังคาด้วยแผ่นทองแดง จึงถูกฟ้าผ่าได้รับความเสียหายเป็นประจำ เมื่อถูกไฟไหม้อีกในสมัยของพระเจ้าสัทธาติสสะ จึงโปรดฯ ให้สร้างใหม่โดยลดความสูงลงแค่เพียง 7 ชั้น ก่อนที่ภายหลังจะถูกโจรเข้าปล้นเผาทำลาย หลงเหลือเพียงเสาหินพันกว่าต้นที่เป็นฐานรากปราสาทให้เห็นในปัจจุบันล่วงมากระทั่งถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้มีการสร้างโลหะปราสาทขึ้นอีกหลัง เป็นแห่งแรกในประเทศไทยและเป็นแห่งที่สามของโลก ในบริเวณวัดราชนัดดาราม วรวิหาร

 

โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 มีพระราชดำริจะสร้างวัดพระราชทานพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี โปรดฯ ให้สร้างโลหะปราสาทเพื่อเป็นสถานปฏิบัติธรรมในวัดด้วย จึงทรงส่งช่างหลวงเดินทางไปเก็บข้อมูลจากซากโลหะปราสาทที่ลังกาแล้วนำมาปรับรูปแบบเป็นสถาปัตยกรรมไทย พร้อมทั้งลดขนาดลงตามสัดส่วน โดยยังคงผังสี่เหลี่ยมจตุรัส แต่กว้างเพียงด้านละ ๒๓ วา เป็นอาคาร 7 ชั้น มียอดเป็นบุษบกชั้นละ 12 ยอด ส่วนชั้นที่ 7 เป็นปราสาทยอดจตุรมุข สำหรับประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ รวมยอดทั้งหมด 37 ยอด หมายถึง“โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ” หลักธรรมอันเป็นปัจจัยให้หลุดพ้นไปสู่นิพพาน แต่ยังสร้างไม่ทันเสร็จ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต โลหะปราสาทถูกทิ้งร้างค้างคามาจนกระทั่งเพิ่งมาได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์จนเสร็จสมบูรณ์ในรัชกาลที่ 9

ที่ผ่านมาจึงถือว่าโลหะปราสาทวัดราชนัดดาฯ เป็นโลหะปราสาทแห่งเดียวจากที่มีอยู่ 3 แห่งในโลก ซึ่งยังคงสภาพสมบูรณ์ ทว่าล่าสุดเมื่อกลางปี พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมานี้เอง พระธาตุเจดีย์ศรีเมืองปง โลหะปราสาทแห่งที่สองของประเทศไทย และแห่งที่ 4 ของโลกก็ปรากฏขึ้นอวดโฉมต่อสายตาของชาวไทยและชาวโลก
“เริ่มสร้างโลหะปราสาทมาตั้งแต่เมื่อปี 2549 เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร์ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ทรงครองราชสมบัติครบรอบ 60 ปี ค่อย ๆ สร้างต่อเนื่องมาเรื่อยทีละนิดละหน่อย แต่ก็ไม่เสร็จสักที ในที่สุดตัดสินใจว่าต้องเปิดในปี 2567 นี้ให้ได้ เพราะเป็นปีมหามงคลซึ่งพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระชนมายุครบ 6 รอบ รวมเวลาแล้วก็สร้างมา 18 ปีพอดี…”

 

พระครูอาชวปรีชา เจ้าอาวาสวัดอรัญญวาส บอกเล่าถึงเรื่องราวการสร้างโลหะปราสาทให้กับผู้ที่มาสักการะเยี่ยมชมและทำบุญภายในศาลาเกิดบุญ อาคารโค้งหลังคาสามชั้น ด้านหลังโลหะปราสาทตามประวัติเดิมบนยอดเขานี้เมื่อหลายสิบปีก่อนเคยเป็นเนินดิน เต็มไปด้วยอิฐของซากเจดีย์โบราณ เรียกกันว่า “ป๊อกดินกี่” ไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง สร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อใด แต่ชาวบ้านมักเห็นว่ามีดวงแสงสว่างลอยขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่เป็นประจำในบริเวณเนินอิฐที่มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่ อย่างที่รู้จักกันว่าเป็น “ปรากฏการณ์พระธาตุเสด็จ” กระทั่งพระมหาดวงจันทร์ จนฺทโชโต อดีตเจ้าอาวาสดำริจะสร้างเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุขึ้นที่บริเวณวัดตรงเชิงเขาด้านล่าง เพื่อให้ประชาชนกราบไหว้สักการบูชาตรงบริเวณทิศเหนือของพระอุโบสถ แต่พระครูอาชวปรีชาซึ่งขณะนั้นยังเป็นสามเณรน้อยได้เสนอว่าให้สร้างในบริเวณ “ป๊อกดินกี่” น่าจะดีกว่า จึงได้มีการการบูรณปฏิสังขรณ์กองอิฐซากเจดีย์โบราณปรักหักพังบนยอดเขาขึ้นมาเป็นพระธาตุเจดีย์องค์ใหม่ให้ชื่อว่าพระธาตุศรีเมืองปง

โลหะปราสาทที่เห็นเด่นสง่าขาวแจ่มจ้าตัดกับฟ้าสีครามอยู่ในปัจจุบันนั้นได้สร้างครอบทับเจดีย์พระธาตุศรีเมืองปงเอาไว้ภายในอีกทีเป็นชั้นที่สาม ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมเจดีย์ทรงปราสาทแบบล้านนาประยุกต์ ผังรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีนัยยะถึงอริยสัจ 4 ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อาคารปราสาทซ้อนลดหลั่นกันสามชั้น แฝงความหมายถึงโครงสร้างหลักของพระพุทธศาสนา อันประกอบด้วยพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ยอดปราสาททั้งหมด 120 ยอด ยอดฉัตร 60 ยอดหมายถึง สร้างขึ้นในวาระครบรอบ 60 ปีแห่งการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร์ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ช่อดอกไม้ทิพย์ 60 ช่อ คือการแสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ทรงครองราชย์
ชั้นแรกภายในแนวกำแพงแก้วล้อมรอบด้วยลานประทักษิณ กึ่งกลางระหว่างประตูทางเข้าบนผนังด้านนอกตกแต่งด้วยประติมากรรมช้างค้ำขนาดใหญ่ ด้านละ 2 เชือก รวม 8 เชือก หมายถึงชัยชนะของพระพุทธเจ้า 8 ประการ หัวมุมแต่ละด้านตกแต่งด้วยซุ้มประติมากรรมเทพนม รวม 8 องค์ ภายในเป็นห้องโถงอเนกประสงค์กว้างใหญ่ แกนกลางแต่ละด้านประดิษฐานพระพุทธรูปไว้ 4 ทิศ สำหรับสักการะ พื้นที่โดยรอบทั้งห้องสามารถจุผู้ปฏิบัติธรรมได้ไม่น้อยกว่ากว่าสามร้อยคน

 

บันไดที่ประดับประติมากรรมสิงห์ขนาดใหญ่สองฟากฝั่งนำขึ้นไปยังชั้นสอง ซึ่งด้านนอกเป็นลานประทักษิณโดยรอบเช่นกัน บนผนังสองฟากมุมแต่ละด้านของปราสาทประดับไว้ด้วยประติมากรรมช้างเอราวัณ 8 เชือก คือสัญลักษณ์แสดงว่าปราสาทชั้นนี้เป็นดังสรวงสวรรค์ที่สถิตของทวยเทพเทวดา อินทร์ และพรหมทั้งหลาย ภายในกึ่งกลางห้องอร่ามด้วยสีทองของแผ่นโลหะดุนลายประดับส่วนเรือนธาตุขององค์เจดีย์ที่ครอบไว้ ภายในซุ้มจระนำแต่ละทิศประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัย เบื้องหน้าตั้งไว้ด้วยสัตตภัณฑ์หรือเชิงเทียนสัญลักษณ์แทนเขาสัตตบริภัณฑ์ที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุศูนย์กลางจักรวาลทางพระพุทธศาสนาเอาไว้ กึ่งกลางสัตตภัณฑ์แต่ละด้านยังจำหลักเป็นรูปท้าวจตุโลกบาลประจำแต่ละทิศเอาไว้ด้วย

 

ชั้นสามคือชั้นสูงสุด เป็นส่วนยอดของเจดีย์ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ แวดล้อมด้วยซุ้มปราสาท 28 ซุ้ม อันมีความหมายถึง “พุทธบัลลังก์” หรือสถานที่ประดิษฐานพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ อันเป็นพระพุทธเจ้าก่อนพุทธวงศ์ 3 พระองค์ และในพุทธวงศ์ 25 พระองค์ ได้แก่ พระตัณหังกรพุทธเจ้า พระเมธังกรพุทธเจ้า พระสรณังกรพุทธเจ้า พระทีปังกรพุทธเจ้า พระโกญทัญญะพุทธเจ้า พระมงคลพุทธเจ้า พระสุมนะพุทะเจ้า พระเรวัตพุทธเจ้า พระโสภิตพุทธเจ้า พระอโนมทัสพุทธเจ้า พระปทุมพุทธเจ้า พระนารทพุทธเจ้า พระปทุมุตตรพุทธเจ้า พระสุเมธพุทธเจ้า พระสุชาตพุทธเจ้า พระปิยทัสสีพุทธเจ้า พระอัตถทัสสีพุทธเจ้า พระธรรมทัสสีพุทธเจ้า พระสิทธัตถพุทธเจ้า พระติสสพุทธเจ้า พระปุสสพุทธเจ้า พระวิปัสสีพุทธเจ้า พระสิขีพุทธเจ้า พระเวสสภูพุทธเจ้า พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า และพระโคตมพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน)

 

 

แม้ว่าในวันนี้โลหะปราสาทพระธาตุเจดีย์ศรีเมืองปงจะเปิดให้สาธุชนผู้มีจิตศรัทาและนักท่องเที่ยวผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมความงดงามแล้วก็ตาม แต่ในภาพรวมยังไม่ถึงความสำเร็จอย่างบริบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากยังคงต้องดำเนินการก่อสร้างต่อเติมและประดับตกแต่งอยู่อีกหลายส่วน จึงถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่ผู้มาสักการะเยี่ยมชมจะมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมโลหะปราสาทแห่งที่ 2 ของไทย และแห่งที่ 4 ของโลกหลังนี้ ด้วยการร่วมบริจาคปัจจัยสมทบทุนกันคนละไม้คนละมือ นอกจากได้เที่ยวชมความงามเป็นบุญตา ยังได้ทำบุญต้อนรับปีใหม่ในตัวไปพร้อมกันอีกด้วย

9/01/68 เวลา 09:20 น.