#แวะชมสมบัติศิลป์

เครื่องเคลือบ “เวียงกาหลง” ความวิจิตรบรรจงแห่งล้านนา

พระคุณ บุณยเนตร เรื่อง

ปิยะวรรณ วงศ์เจริญรัตน์ ภาพ

             กว่าจะออกมาเป็นเครื่องเคลือบดินเผาที่นำไปใช้งานได้สักชิ้นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย หลายคนใช้เวลาร่ำเรียนถึง 7 ปี จนเกือบโดนรีไทร์ ก็ยังไม่สามารถทำออกมาได้ดี (คนแถวนี้แหละ) ยิ่งถ้าลองนึกย้อนกลับไปสู่ยุคโบราณ ก่อนที่เตาเผาจะมีจอดิจิทัลโชว์อุณหภูมิ ก่อนที่จะมีเครื่องชั่งตวงยุคใหม่ให้การผสมน้ำเคลือบตามสูตรออกมาได้สีสันตามที่ต้องการอย่างแม่นยำ ก่อนที่ชาวโลกจะทำความรู้จักกับพี่ Google ซึ่งจะตอบเราได้เกือบทุกอย่างว่าเนื้อดินแบบไหนที่เหมาะจะเอามาขึ้นรูปชิ้นงานแบบใด เรียกว่าผู้สร้างสรรค์ผลงานในยุคนั้นต้องผ่านการค้นคว้าลองผิดลองถูกกันเอาเองอย่างนับครั้งไม่ถ้วนเลยทีเดียว

ในประเทศไทยของเรานั้นก็มีการค้นพบหลักฐานการมีอยู่ของเครื่องเคลือบดินเผากระจัดกระจายมากมายหลายแห่งมาตั้งแต่โบราณ ไม่ว่าจะเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงของจังหวัดอุดรธานี เครื่องสังคโลกจากสุโขทัย และส่งเข้าประกวดจากอาณาจักรล้านนา “เครื่องเคลือบเวียงกาหลง” ในพื้นที่อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ซึ่งบริเวณดังกล่าวได้มีการขุดพบเตาเผานับร้อย และมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่าแถบนี้เป็นแหล่งดินคุณภาพดี จึงสามารถสร้างงานเครื่องเคลือบดินเผาได้อย่างมีคุณภาพ

เวียงกาหลง จริง ๆ แล้วคือชื่อของเมืองโบราณ ตามการสันนิษฐานของนักโบราณคดีกล่าวว่า น่าจะถูกสร้างขึ้นในช่วง พ.ศ. 1500-1600 ขณะที่พระเจ้าอโนรธามังช่อ กษัตริย์แห่งอาณาจักรพุกามยกทัพไปกัมพูชา เพื่อทวงถามขอพระบรมสารีริกธาตุ พระไตรปิฎก และพระแก้วมรกตคืน มีความแปลกคือผังเมืองนี้จะไม่เป็นรูปทรงเรขาคณิตเช่นเดียวกับเมืองส่วนใหญ่ของภาคเหนือในสมัยนั้น คูเมืองและกำแพงดินขุดเป็นแนวคล้ายปีกกา ทอดยาวตามทิศเหนือจรดใต้ หากไม่คุ้นเคยก็จะพาให้หลงทางได้ง่าย เลยกลายเป็นที่มาของชื่อ “เวียงกาหลง”

นอกจากความประหลาดของการวางผังแล้ว ศิลปะการทำเครื่องเคลือบดินเผาของเมืองนี้ก็ยังมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตั้งแต่รอยแตกลายบนผิวเคลือบใสที่เกิดจากการเผา สีสันของชิ้นงานที่ได้จากการสกัดแร่ธาตุหิน กับดินตามธรรมชาติ ปราศจากสารเคมี น้ำหนักเบาด้วยคุณสมบัติพิเศษของเนื้อดินในท้องที่ รองรับการซื้อกลับบ้านทีละมาก ๆ ได้อย่างดี และสุดท้ายคือลวดลาย “ดอกกาหลง” ลวดลายเฉพาะที่ดัดแปลง มาจากใบไม้หรือกลีบดอกไม้วาดออกมาให้มีความคล้ายกับ นกกา ในตำนานเก่าแก่ของเมือง ปัจจุบันถูกเรียกว่า “ลายกา” หรือ “ลายแม่กา” ที่มีเฉพาะเวียงกาหลงเพียงแห่งเดียวเท่านั้น

ในปัจจุบันมีกลุ่มชาวบ้านที่ทำเครื่องเคลือบเวียงกาหลงประมาณ 8 กลุ่ม โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเวียงกาหลง เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด โดยยังรักษารูปแบบดั้งเดิมของชิ้นงานไว้ส่วนใหญ่ แต่ก็มีการแตกไลน์สินค้าประเภทใหม่ออกไปบ้างเช่น จานข้าว แก้วน้ำ กาน้ำชา ของตกแต่งบ้าน หรือกลายเป็นงานหัตถกรรมสุดหรูวางประดับอยู่ในโรงแรมใหญ่

แม้ในยุคที่มีเครื่องไม้เครื่องมือทันสมัยขึ้น แต่การสร้างสรรค์เครื่องเคลือบเวียงกาหลง ยังคงต้องอาศัยความรู้ความชำนาญทักษะหลายด้าน ตั้งแต่การเตรียมดิน การขึ้นรูป ควบคุมไฟในเตาเผา จนถึงการวาดลวดลาย รับรองความวุ่นวายทุกขั้นตอน ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งศิลปะชั้นสูงของชาวไทยที่ได้ตกทอดเป็นมรดกอันวิจิตรบรรจงส่งผ่านยุคสมัยและควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้สืบไป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม บ้านสล่าทัน ธิจิตตัง 97 ม.3 ตำบลเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย

โทรศัพท์ 08 9838 5874

วิสาหกิจชุมชนงานเครื่องปั้นเครื่องเคลือบเวียงกาหลง จังหวัดเชียงราย

โทรศัพท์ 08 9997 2792

7/03/66 เวลา 12:05 น.