#แวะชมสมบัติศิลป์

เล่าเรื่องคน “บ้านเก่า” ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหลังใหม่

ปิยะวรรณ วงศ์เจริญรัตน์ เรื่อง

สุรพล สุภาวัฒนกุล ภาพ

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2507 เพื่อจัดแสดงโบราณวัตถุและหลุมขุดค้นจำลองจากแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2530 ได้ก่อสร้างอาคารสำหรับจัดแสดงโบราณวัตถุที่มีจำนวนมากขึ้นและได้พัฒนาเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์เฉพาะเรื่องก่อนประวัติศาสตร์ ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ดำเนินโครงการพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า โดยจัดสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2564 เพื่อให้ผู้เข้ามาใช้บริการได้รับความรู้มากยิ่งขึ้นด้วยการจัดแสดงที่ทันสมัย ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ฑสถานแห่งชาติที่จัดแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์โบราณคดี เป็นศูนย์ข้อมูลทางวิชาการโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญของประเทศและสมบูรณ์ที่สุดของภูมิภาคอาเซียน

หากเดินทางมาเที่ยวชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่าในวันนี้ จะพบกับอาคารสีส้มสด 3 ชั้น มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหลุมขุดค้นทางโบราณคดี สำหรับใช้เป็นอาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวร และในส่วนของอาคารพิพิธภัณฑ์หลังเดิมได้รับการปรับปรุงเพื่อใช้เป็นสำนักงานคลังเก็บโบราณวัตถุและส่วนบริการนักท่องเที่ยว มีร้านค้าขายของที่ระลึก ด้านหลังทำระเบียงจุดชมวิว อาคาร 3 ชั้น มีบันไดและทางลาด มีลิฟต์สำหรับผู้ที่ใช้รถเข็นหรือร่างกายไม่พร้อม

การจัดนิทรรศการถาวรมีเนื้อหาเน้นเรื่องโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเก่าและแหล่งโบราณคดีที่เกี่ยวข้อง โดยแสดงให้เห็นถึงการสำรวจพบแหล่งโบราณคดี หลักฐานและองค์ความรู้เกี่ยวกับคนที่บ้านเก่าในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตลอดจนพัฒนาการของผู้คนในลุ่มน้ำแควน้อย แควใหญ่ที่สืบเนื่องมาจากสมัยหินเก่าสู่สมัยหินใหม่ โดยนำโบราณวัตถุที่ค้นพบจากแหล่งโบราณคดีบ้านเก่าและแหล่งร่วมสมัยมาเป็นสื่อจัดแสดงร่วมกับสื่อจัดแสดงสมัยใหม่ เช่น หุ่นจำลอง ฉากไดโอรามา วีดิทัศน์ เป็นต้น ชั้นแรก บอกเล่าต้นกำเนิด เครื่องมือหิน ชั้นที่สอง โบราณวัตถุชิ้นสำคัญ ภาชนะ เครื่องประดับ ชั้นที่สาม เครื่องมือโลหะในพื้นที่ โครงกระดูกมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ รวมถึงโครงกระดูกที่นำมาจากศิริราช (ที่ทางศิริราชได้นำไปศึกษารอยโรค) โลงศพไม้ที่มีลักษณะและรูปแบบเฉพาะจากการใช้โลหะในการขุดต้นไม้เป็นรูปทรงและโลงศพ วัฒนธรรมบ้านเก่า หม้อสามขา มุกน้ำจืด หอยเบี้ย ฯลฯ

ส่วนของรายละเอียดในหัวข้อจัดแสดงแบ่งเป็นดังนี้

1.จุดเริ่มต้นของงานโบราณคดีไทย พ.ศ. 2486 ดร.เอช อาร์ ฟาน เฮเกอเรน ค้นพบเครื่องมือหินกะเทาะหลายชิ้นบนตะพักลำน้ำเก่า ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ขณะถูกญี่ปุ่นจับเป็นเชลย ก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายมรณะ และได้เขียนบทความเล่าเรื่องการพบเครื่องมือหินในลุ่มน้ำแควน้อยออกเผยแพร่ ส่งผลให้ดินแดนลุ่มน้ำแควน้อยเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในฐานะดินแดนยุคหินอันเก่าแก่

พ.ศ. 2499 กรมศิลปากร ร่วมกับคาร์ล จีไฮเดอร์ ค้นพบแหล่งโบราณคดีบ้านเก่าเป็นครั้งแรก โดยคณะสำรวจพบขวานหินขัด เศษภาชนะดินเผา และชิ้นส่วนกำไลหินหลายชิ้นที่เนินดินแห่งหนึ่งริมห้วยแมงลัก ฝั่งตะวันตกของหมู่บ้านบ้านเก่า ไม่ไกลจากแม่น้ำแควน้อย ในที่ดินของนายบาง-ลือ เหลืองแดง สถานที่แห่งนี้ต่อมาเป็นที่รู้จักในชื่อแหล่งโบราณคดีบ้านเก่า (แหล่งนายบาง) ยืนยันว่าพื้นที่ลุ่มน้ำแควน้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บ้านเก่าน่าจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์อันเก่าแก่

พ.ศ. 2503-2505 การสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีโดยคณะสำรวจร่วมทางโบราณคดีไทยเดนมาร์ก นับเป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์ของการขุดค้นทางโบราณคดีอย่างเป็นระบบสากลครั้งแรกของประเทศไทย ก่อให้เกิดการตื่นตัวในแวดวงการศึกษาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เกิดงานสำรวจขุดค้นแหล่งโบราณคดีในภูมิภาคต่าง ๆ ตามมา

2. วัฒนธรรมบ้านเก่าคือใคร คนบ้านเก่าหน้าตาอย่างไร จากการสำรวจและขุดค้นทำให้ทราบว่าบริเวณตำบลบ้านเก่าตลอดจนพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแควน้อย แควใหญ่และสาขา เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของผู้คนสมัยหินใหม่ ซึ่งหมายถึงกลุ่มวัฒนธรรมสมัยหินใหม่ที่ผู้คนตั้งถิ่นฐานถาวรอยู่ตามที่ราบหรือเชิงเขาที่ไม่ไกลจากลำน้ำ ดำรงชีวิตด้วยการเพาะปลูกพืช เลี้ยงสัตว์และล่าสัตว์ป่า ร่วมด้วยรู้จักทำขวานหินขัด มีการผลิตภาชนะดินเผารูปแบบหลากหลาย โดยมีภาชนะเด่นคือภาชนะดินเผาสีดำขัดมัน ภาชนะทรงพาน และหม้อสามขา

แหล่งโบราณคดีบ้านเก่าเป็นเนินดินบนที่ราบเปิดโล่งริมห้วยแมงลัก พบโครงกระดูกมนุษย์ฝังอยู่บนเนินดินนี้ถึง 44 โครง พร้อมทั้งข้าวของเครื่องใช้อีกจำนวนมากที่ฝังให้กับศพ จากการสำรวจและขุดค้นในระยะต่อมาได้สร้างภาพให้เห็นว่าวัฒนธรรมบ้านเก่าไม่ได้จำเพาะอยู่ที่แหล่งนายบางเท่านั้น หากแพร่หลายอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำแควน้อย แควใหญ่ ลำตะเพลิน ไปจนถึงลำกระเสียว ทางตอนบนของจังหวัดสุพรรณบุรีด้วย อาจแบ่งประเภทตามลักษณะพื้นที่ได้ 2 แบบ คือแหล่งบนที่ราบริมน้ำและแหล่งจำพวกถ้ำหรือเพิงผา มีปรากฏภาชนะดินเผาที่มีการตกแต่งผิวด้วยการทำกรอบแบบลายเส้นคดโค้งแล้วกดประทับลายเชือกทาบหรือกดจุดในกรอบเส้นนี้

การบอกเล่าวัฒนธรรมบ้านเก่า พัฒนาการและการเปลี่ยนผ่านผ่านโมเดลแบบจำลอง จัดเป็นสมัยหินเก่าที่ผู้คนอยู่อาศัยตามถ้ำและเพิงผา ยังชีพด้วยการเก็บหาของป่าและล่าสัตว์มาเป็นอาหาร การใช้เครื่องมือกะเทาะหน้าเดียว เรียกกันว่า “วัฒนธรรมโหบินเนียน” เรื่อยมาจนมีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม เริ่มเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ มีการติดต่อกับภายนอกได้สะดวกขึ้น มีการรับเทคโนโลยีด้านโลหะกรรม การผลิตเครื่องมือเครื่องใช้สำริดและเหล็ก มีการติดต่อแลกเปลี่ยนกับชุมชนห่างไกลอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอินเดีย รวมถึงทางตอนใต้ของจีนและเวียดนาม การพัฒนาเป็นลำดับขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งให้ชุมชนบริเวณนี้พัฒนาขึ้นจนเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีการยอมรับวัฒนธรรมทางศาสนาพุทธและพราหมณ์จากอินเดียเข้ามา ชุมชนเดิมจึงพัฒนาเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์เริ่มแรกที่เรียกว่า “สมัยทวารวดี

ใครที่เคยได้ไปเยี่ยมชมอาคารเดิม ลองแวะเข้าไปใหม่วันนี้ เรื่องราวของโบราณคดีวัฒนธรรมบ้านเก่าถูกนำมาบอกเล่าให้ชมในรูปแบบใหม่ ทันสมัย สวยงาม รวมทั้งอย่าพลาดชมแหล่งโบราณคดีบ้านท่าโป๊ะ แหล่งขุดค้นบริเวณใกล้เคียง ซึ่งจะช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจได้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเก่า

เลขที่ 164 หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมืองฯ จังหวัดกาญจนบุรี 71000 โทรศัพท์ 03 4565 4058

เปิดทำการ วันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 08.30-16.30 นาฬิกา

9/03/66 เวลา 10:04 น.