#ศิลปวัฒนธรรม

กรงนกเขาชวา มรดกภูมิปัญญาถิ่นใต้

ชตาทิพย์ อำพันทอง เรื่อง คุณานนท์ ทิมใจทัศน์ ภาพ

นกเขาชวา หรือนกเขาเล็ก มีอยู่มากในพื้นที่จังหวัดทางภาคใต้ ถือเป็นเอกลักษณ์เด่น โดยเฉพาะที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ผู้คนในพื้นที่นิยมเลี้ยงนกเขาชวามาอย่างยาวนาน จากความเชื่อว่าหากมีนกลักษณะดีอยู่ในบ้านเรือนของตนจะนำพาสิ่งมงคลเข้ามาสู่ผู้อยู่อาศัย ด้วยลักษณะอันงดงามและน้ำเสียงไพเราะก้องกังวานของนกเขา จึงได้รับความนิยมเป็นสัตว์เลี้ยงสำหรับฟังเสียง อำเภอจะนะเป็นพื้นที่แรกที่มีการผสมพันธุ์นกเขาชวา มีการเพาะเลี้ยงในเชิงเศรษฐกิจเพื่อจำหน่าย ไปจนถึงการประกวดแข่งขันที่ได้รับความนิยมทั้งในเวทีท้องถิ่นและในเวทีระดับอาเซียน ทำให้ตลาดของนกเขาชวาคึกคัก และยังสร้างอาชีพให้กับผู้คนในชุมชนทำกรงนกส่งจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

ชุมชนบ้านหัวดินเหนือ คือหนึ่งในชาวบ้านที่เติบโตมากับการเลี้ยงนก พวกเขาสืบทอดการทำกรงนกเขาชวาจากรุ่นสู่รุ่น คุณอานัส วันนิ ประธานกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการทำกรงนกบ้านหัวดินเหนือ เล่าว่า “เราทำกรงนกเขาสืบทอดต่อกันมาจนถึงผมซึ่งเป็นรุ่นที่ ๓ ผมเติบโตมากับการทำกรงนก เมื่อครั้งยังเด็กได้เห็นคุณปู่ทำใช้กันเองในบ้าน ถ่ายทอดความรู้สู่รุ่นพ่อและน้า พวกเขาเริ่มมองเห็นช่องทางการขาย จึงเริ่มต้นทำขายในอำเภอจะนะและอำเภอใกล้เคียง ต่อมาในรุ่นผมที่ได้ฝึกฝนการทำกรงนกตั้งแต่เยาว์วัย จึงรวมตัวกันตั้งกลุ่มทำกรงนกเขาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา ในช่วงแรกมีสมาชิกกลุ่มเป็นญาติพี่น้องเพียงไม่กี่คน ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 21 ครัวเรือน”

“ไผ่และหวายคือวัสดุหลักในการทำกรงนก ไม้ไผ่ที่นำมาใช้มีทั้งไผ่สีสุก บางแห่งเรียกว่าไผ่หนามหรือไผ่บ้าน เนื้อไผ่เหนียว มีความเงางาม และไม้ไผ่ตงที่มีลำปล้องยาว ขึ้นรูปง่าย นำมาเหลาทำซี่กรง”
“ส่วนหวาย เลือกใช้หวายตะค้าทองเป็นตัวยึดโครงสร้างกรง นำเข้าจากต่างประเทศ เพราะมีเส้นเล็กขนาดพอดี ผิวเรียบ เงางาม เนื้อเหนียว ทนทาน เจาะง่าย”
“เครื่องไม้เครื่องมืออื่น ๆ ก็มีมีดตอกสำหรับเหลาซี่กรง มีดพร้าใช้ตัดและผ่าไม้ไผ่ มรรคหรือยากอเป็นตัวกำหนดระยะหวายที่จะเจาะรูเพื่อใส่ซี่กรง กรรไกรคีบหมากใช้ตัดหวาย คีมปากแหลมและแป้นชักใช้ดึงซี่กรงรูดผ่านแป้นชักให้เส้นไม้ไผ่เรียบเสมอกัน วานิชสำหรับเคลือบซี่กรงให้เงางาม สว่านแท่นและสว่านมือใช้เจาะหวาย”

เติมความงดงามให้กับกรงด้วยการแกะดอกซี่กรงเป็นลวดลายต่าง ๆ ช่วยสร้างมูลค่าให้กับงานหัตถกรรม คุณอานัสอธิบายเพิ่มเติมว่า “กรงซี่เล็ก กรงซี่กลาง และกรงซี่ใหญ่ จะแยกย่อยตามเสียงของนกเขาที่เลี้ยง มีตั้งแต่เสียงเล็กไปจนถึงเสียงใหญ่ เราพิถีพิถันและใส่ใจการทำกรงทุกขั้นตอนด้วยความประณีตบรรจง”
“นอกจากนี้ยังมีวัสดุตกแต่งช่วยเพิ่มความงดงามให้กับกรงนก เช่น หัวกรง มีทั้งที่ทำจากไม้เนื้อแข็งอย่างไม้พะยูง ไม้มะม่วง ไม้สัก และไม้ชิงชัน นำมากลึงเป็นรูปทรงสวย ๆ หรือหัวกรงที่เป็นเรซิ่นก็นิยมใช้ รวมไปถึงตะขอแขวนสร้างสรรค์เป็นลวดลายสัตว์ในวรรณคดีอย่างเงือก ไก่ มังกร ฯลฯ โดยมีช่างผู้เชี่ยวชาญการทำอีกกลุ่มทำส่งให้ตามออร์เดอร์”

“ผ้าสี่ชายสำหรับคลุมกรง มีตั้งแต่ผ้าธรรมดา ผ้าแพร ไปจนถึงผ้าลูกไม้สีสันและลวดลายงดงาม ลูกตุ้ม 4 เม็ดตกแต่งสี่มุมของชายผ้า มีทั้งแบบแก้วและแบบธรรมดา ช่วยเพิ่มมูลค่าและความหรูหราให้กับกรง” “ภายในกรงนกยังมีเครื่องตกแต่งอย่างไม้คอนที่กลึงไว้อย่างงดงามสำหรับนกเกาะ ห่วงใส่แก้วใช้วางแก้วน้ำ แก้วอาหาร จะเลือกแก้วธรรมดาหรือแก้วเบญจรงค์ดูทรงคุณค่าได้เช่นกัน”
“สำหรับรูปทรงของกรงนกเขาชวา ที่กลุ่มเรามีให้เลือกหลากหลายทรง เช่น กรงหัวโต กรงสเต็ง กรงหวาย กรงผูก กรงโอ่ง กรงดอก และกรงระฆังคว่ำ”

บ้านหัวดินเหนือพัฒนาการทำกรงนกเขา โดยออกแบบและปรับเปลี่ยนให้มีหลากหลายรูปทรง รวมถึงต่อยอดเป็นสินค้าตกแต่งบ้าน หรือของที่ระลึก ตามความต้องการของตลาด นอกจากจะช่วยอนุรักษ์การทำกรงนกเขาให้มีอยู่อย่างยั่งยืนสืบไปแล้ว ยังช่วยเพิ่มพูนรายได้ให้กับผู้คนในชุมชน ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอจะนะมีวิถีชีวิตผูกพันกับการเลี้ยงนกเขาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายมาเนิ่นนาน นกเขาจึงถือเป็นสัญลักษณ์เด่นของอำเภอจะนะ โดยเฉพาะที่บ้านหัวดินเหนือ ชาวบ้านส่วนใหญ่ในชุมชนทำกรงนกสืบต่อมาจากบรรพบุรุษ ในทุกเช้าภาพของการแขวนกรงนกไว้หน้าบ้านหรือบนเสารอกนกจึงถือเป็นภาพชินตาของผู้คนในท้องถิ่น

กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการทำกรงนกบ้านหัวดินเหนือ
เลขที่ 33/1 หมู่ที่ 8 ตำบลป่าชิง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา 90130
โทรศัพท์ 06 5625 1329
เฟซบุ๊ก: กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการทำกรงนกบ้านหัวดินเหนือ

 

17/02/68 เวลา 08:54 น.