#แวะชมสมบัติศิลป์

กู่พระเจ้าล้านทองวัดน้ำลัด อลังการแห่งสมบัติล้านนาที่ซ่อนเร้น

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์ ชวนแวะ ภาคภูมิ น้อยวัฒน์ ณัฐพจน์ พลลีมงคล ชวนชม

แสงแดดสาดส่องวิหารวัดน้ำลัดจนมลังเมลือง แลดูเป็นสีทองตระการตา หลังจากม่านหมอกขาวที่ห่มคลุมในช่วงเช้าจางหายไปตามความสูงของดวงอาทิตย์

ตอนที่ผมเข้ามาในวัดนี้ครั้งแรกเมื่อวันก่อน เสิร์ชดูข้อมูลประวัติจากอินเทอร์เน็ตคร่าว ๆ เห็นระบุว่าวัดนี้สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๘ โดยผู้ใหญ่บ้าน ทำให้ไม่ได้สนใจที่จะเข้าไปชมดูด้านในวิหาร เมื่อเห็นว่าประตูปิดล็อกกุญแจอยู่ เนื่องจากคิดว่าเป็นวัดราษฎร์ที่ชาวบ้านสร้าง ไม่น่าจะมีอะไรน่าดูชมเท่าไหร่

“ของโบราณที่น่าไปดู ก็ต้องกู่พระเจ้าล้านทองที่ในวิหารวัดน้ำลัดนั่นแหละ เก่าแก่ที่สุด” คำบอกเล่าจากการไปพูดคุยสัมภาษณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ในตำบลสถานหลังจากนั้นทำให้ผมกับคณะต้องย้อนกลับมาที่วัดน้ำลัดอีกครั้งในเช้าวันนี้ โดยไม่ลืมให้ทีมงานประสานงานกับทาง อบต. สถาน ช่วยส่งเจ้าหน้าที่มาเปิดประตูวิหารเพื่อเข้าไปขอชมด้านในด้วย

กู่พระเจ้า โขงพระเจ้า กู่โขงพระเจ้า หรือปราสาทพระเจ้า คือสถาปัตยกรรมแบบล้านนาที่รับอิทธิพลมาจากปราสาทยอดในศิลปกรรมพุกามของพม่า นำมาพัฒนาจนกลายเป็นรูปแบบเฉพาะของล้านนา โดยเริ่มมีการนำมาสร้างตั้งแต่ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๑ เพื่อใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปหรือพระธาตุในวิหารสำหรับวัดสำคัญในนครเชียงใหม่ ราชธานีแห่งอาณาจักร รวมไปถึงวัดสำคัญ ๆ ตามหัวเมืองของล้านนา ดังนั้น พอบอกว่าที่วัดน้ำลัดมีกู่พระเจ้าล้านทอง ก็น่าจะไม่ใช่วัดราษฎร์ธรรมดาอย่างที่คิดตอนแรกแล้วละครับ

ระหว่างรอเจ้าหน้าที่มาเปิดประตู ผมเกร่ไปอ่านประวัติวัดบนป้ายริมกำแพงเล่น ๆ ในป้ายระบุว่าวัดนี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๓๓ ตรงกับในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ อ้าว…เก่ากว่าข้อมูลในอินเทอร์เน็ตที่อ่านพบทีแรกขึ้นมาอีกขั้น เลยลองตรวจสอบในฐานข้อมูลจารึกออนไลน์ ก็พบว่ามีจารึกของวัดน้ำลัดร่วมสมัยใกล้เคียงกันอยู่ครับ ได้แก่ จารึกบนแผงพระพิมพ์ไม้วัดน้ำลัด (พ.ศ. ๒๓๔๑) จารึกฐานพระพุทธรูปวัดน้ำลัด (พ.ศ. ๒๓๔๓) จารึกฐานพระพุทธรูปวัดน้ำลัด ๒ (พ.ศ. ๒๓๔๗) จารึกฐานพระพุทธรูปวัดน้ำลัด ๓ (พ.ศ. ๒๓๓๗) และจารึกฐานพระพุทธรูปวัดน้ำลัด ๔ (พ.ศ. ๒๓๓๘)

ที่สำคัญคือพบข้อมูลปีการสร้างกู่พระเจ้าล้านทองวัดน้ำลัด ระบุว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๗ อันเป็นช่วงเวลาของอาณาจักรล้านนาสมัยอยู่ในการปกครองของพม่า หรือตรงกับสมัยอยุธยาตอนปลาย เก่าขึ้นไปกว่าในป้ายประวัติวัดอีก ทว่าดูสอดคล้องกับยุคสมัยทางศิลปะเรื่องความนิยมในการสร้างกู่พระเจ้าไว้ท้ายวิหารล้านนา จึงเป็นไปได้ว่าวัดน้ำลัดอาจจะสร้างขึ้นครั้งแรกสุดในสมัยนั้น แล้วอาจจะถูกทิ้งเป็นวัดร้างปรักหักพังช่วงหลังสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ จนกระทั่งต้นรัตนโกสินทร์ถึงได้มีการมาบูรณปฏิสังขรณ์โดยสร้างวิหารหลังใหม่บนฐานหลังเก่าครอบกู่พระเจ้าไว้ในตำแหน่งเดิม

กำลังมโนกับข้อมูลเพลิน ๆ เจ้าหน้าที่ อบต. สถานสองท่าน คือ ผู้ใหญ่บ้านแทน มาหล้า พร้อมด้วยผู้ช่วยมาไขกุญแจให้เข้าชมภายในวิหารพอดี ย่างเท้าผ่านประตูเข้าไปก็ต้องตะลึงครับ เมื่อได้เห็นกู่พระเจ้าล้านทองตั้งโดดเด่นอยู่ชิดผนังท้ายวิหาร แม้ดูเก่าคร่ำคร่า ขะมุกขะมอมจากการผ่านกาลเวลาอันยาวนานกว่า ๓ ศตวรรษ แต่ยังคงความงดงามอย่างขรึมขลัง ชนิดมองแล้วแทบละสายตาไปไม่ได้

องค์กู่พระเจ้าล้านทองก่อด้วยอิฐถือปูน เป็นทรงปราสาทยอดดอกบัวตูม สูงประมาณ ๔ เมตรกว่า ๆ สร้างตามคติจักรวาลในพุทธศาสนา คือกึ่งกลางซุ้มเป็นคูหาประดิษฐานพระเจ้าล้านทอง สมมติเป็นกึ่งกลางจักรวาล การประดับตกแต่งด้วยปูนปั้นพรรณพฤกษาและรูปสัตว์ป่าหิมพานต์นานาชนิดโดยรอบ สื่อความหมายถึงป่าหิมพานต์ที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางจักรวาล บนพื้นผิวปูนปั้นมีร่องรอยว่าในอดีตเคยลงรักปิดทองมาก่อน

กึ่งกลางหน้าบันซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปด้านหน้าประดับด้วยปูนปั้นสามแถว แถวบนเป็นรูปดวงอาทิตย์ที่ทำจากกระจกจีน ล้อมรอบด้วยรัศมีสีทอง มีรูปนกยูง สัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์ขนาบอยู่สองฟาก แถวกลางเป็นรูปนกยูงสีทองสยายปีกรำแพนหาง สัญลักษณ์ของกษัตริย์แบบพม่า ขนาบด้วยนกยูงอีกสองตัวอยู่สองฟากเช่นกัน แถวล่างเป็นรูปดวงจันทร์ ทำจากกระจกจีน ขนาดเล็กกว่า ล้อมรอบด้วยรัศมีสีทอง ขนาบด้วยตัวมอมอยู่สองฟาก นอกจากนี้ยังมีการใช้กระจกจีนประดับรัศมีลวดลายปูนปั้นขนาดเล็กกว่าปรากฏบนส่วนอื่น ๆ ของกู่พระเจ้าในความหมายแทนดวงดาวในจักรวาล

ในส่วนของลายพรรณพฤกษาก็อ่อนช้อยพลิ้วไหวไม่ธรรมดา กับลวดลายดอกปาริชาตสีทองที่แทรกแซมอยู่ทั่วไป ตอกย้ำถึงความเป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (ดอกปาริชาตเป็นดอกไม้บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์) ที่ตั้งของเขาพระสุเมรุศูนย์กลางจักรวาล ความโดดเด่นอีกประการหนึ่งคือลวดลายปูนปั้นรูปสัตว์หิมพานต์ ช่างโบราณผู้สร้างท่านไม่ได้ปั้นให้มายืนแอ็กท่ากันเฉย ๆ พอเป็นพิธี แต่ว่าอยู่ในอิริยาบถวิ่งวนไล่กัน มองดูแล้วราวกับกำลังเคลื่อนไหวอยู่ไม่หยุดนิ่ง น่าอัศจรรย์ เพลินตาเพลินใจไปอีกแบบ

ยังมีประติมากรรมนูนต่ำบนซุ้มบนผนังกู่ด้านนอกทางขวาของพระพุทธรูปประดับเป็นปูนปั้นเทวดาอารักษ์ในเครื่องทรงแบบล้านนา ยืนบนเศียรช้าง ถือพระขรรค์คู่ หัตถ์ขวาชูพระขรรค์ หัตถ์ซ้ายชี้พระขรรค์ลงล่าง ในขณะที่ซุ้มบนผนังด้านนอกทางซ้ายของพระพุทธรูปปั้นปูนรูปเทพนมในเครื่องทรงแบบล้านนา ยืนบนดอกบัวบาน

ที่น่าชมมากที่สุดกลับเป็นด้านทิศตะวันตก หรือด้านหลังที่อยู่ชิดกับผนังวิหาร ซึ่งเข้าไปดูยากมาก เนื่องจากทางวัดตั้งรูปปั้นพระเกจิไว้หลายองค์เรียงราย ต้องไหว้ขอขมาลาโทษก่อนปีนป่ายเล็ดลอดเข้าไปเกาะผนังเป็นตุ๊กแกตะแคงคอชม แต่ก็คุ้มค่าเหนื่อยครับ เพราะเป็นปูนปั้นนูนต่ำรูปเทวดาอารักษ์ในเครื่องทรงแบบล้านนา ทว่ามีความน่าสนใจเป็นพิเศษตรงที่หัตถ์ขวาถือกระบี่ปลาฉนาก หัตถ์ซ้ายถือแส้จามรี อาวุธของเทพจีนที่ใช้ล้างอาถรรพณ์ ปัดเป่าความชั่วร้าย พาดเฉียงไหล่สองข้าง แปลกประหลาด ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน บางทีอาจจะรับอิทธิพลจากรูปเทพเจ้าจีน หรือเป็นช่างจีนเองที่เป็นผู้มามีส่วนร่วมสร้างกู่พระเจ้าหลังนี้ก็เป็นไปได้

น่าเสียดายที่ลวดลายปูนปั้นประดับด้านหลังหลุดร่วงไปหมดแล้ว ไม่เช่นนั้นอาจจะได้เห็นลวดลายปูนปั้นที่เป็นทีเด็ดอะไรอื่น ๆ อีก เพราะธรรมเนียมช่างโบราณ ท่านมักจะซ่อนแอบมุกลูกเล่นต่าง ๆ ไว้ตามซอกหลืบมุมลับที่เข้าถึงยาก ๆ แบบนี้

แต่เท่าที่เหลือให้เห็นนี้ก็ต้องบอกว่าเป็นมรดกศิลปกรรมชั้นเยี่ยมอีกชิ้นของล้านนา ใครมาเยือนอำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน แล้วไม่ได้ชมถือว่าพลาดอย่างแรง เรียกว่าถึงนาน้อยเหมือนกัน แต่ถึงไม่สุด ว่างั้นเลยเชียวละครับ

12/03/67 เวลา 08:25 น.