#ศิลปวัฒนธรรม

ครรลองช่างทองท่าชัย

“แรมชเล” เรื่อง ศรุต ทัพพเศวต ภาพ

ไฟร้อนแรงแต่งสีฟ้า จ่อเผาหลอมจนทองคำแท่งอ่อนเหลว มันคงได้ที่พอสำหรับจะขึ้นรูปและสร้างสรรค์ไปตามที่ใครคนหนึ่งซึ่งใช้ชีวิตอยู่ริมแม่น้ำยมในหลายร้อยปีต่อมาอยากให้มันเป็นบนแผ่นดินเดียวกัน ที่เต็มไปด้วยคืนวันแห่งความเจริญรุ่งเรืองของแผ่นดินโบราณในหน้าประวัติศาสตร์ มีคนอีกกลุ่มหนึ่งพยายามต่อยอดแรงบันดาลใจจากเชิงช่างปั้นโบราณกว่า 700 ปีมาสู่งานหัตถศิลป์ พวกเขาส่งต่อและสืบทอดมันมาสู่การทำเครื่องทองเครื่องเงินด้วยลายโบราณที่สะท้อนความเป็นคนสุโขทัยจนเข้าขั้น“ค่าควรเมือง”

 

บ้านท่าชัย หมู่บ้านของช่างทำทองเก่าแก่ริมสายน้ำยมของอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัยเกือบ 80 ปีแล้วที่บางคนของบ้านนี้เลือกเปลี่ยนตัวเองจากงานกสิกรรมกลางไร่กลางนามาสู่วิถีของช่างทำเครื่องเงินเครื่องทอง “งานทองสุโขทัยจะว่าไปแล้วต้องขอบคุณคนตระกูลวงศ์ใหญ่ค่ะ โดยเฉพาะนายช่างคนแรก ๆอย่างช่างเชื้อ” พิสมัย ผุยพรม เจ้าของร้านไหมเงินไหมทอง บอกว่า ช่างทองศรีสัชฯ กลุ่มแรก ๆ นั้นได้แรงบันดาลใจจากการเห็นความวิจิตรของลวดลายในเครื่องทองสุโขทัยโบราณ พวกเขาค่อย ๆถอดลาย ถอดเทคนิคงานมาด้วยความบากบั่นชนิดที่เอางานโบราณมาแกะทีละปล้อง ทีละข้อการสานเส้นเงินเส้นทองที่ว่ายากแสนยาก ส่งผลให้คนทำทองศรีสัชฯ สร้าง “สร้อยสี่เสา” ขึ้นมาได้

จากหมู่บ้านริมยมที่มีช่างเงินทองไม่กี่คนกลายเป็นว่าการทำงานหัตถศิลป์อันอ่อนช้อยได้สร้างช่างทำเครื่องประดับสายสุโขทัยขึ้นมากมายทั้งลูกหลานบ้านท่าชัย หรือคนต่างถิ่นที่รอนแรมเข้ามาฝึกงานช่างเพื่อยังชีพ “ท่าชัยกลายเป็นหมู่บ้านช่างทอง ค่อย ๆ เติบโตขึ้นมา ช่างทองเก่ง ๆ เอาลายโบราณมาประยุกต์จนเป็นสิ่งบอกความเป็นทองสุโขทัย”ในสายตาของคนที่รอนแรมจากอีสานมาฝึกเริ่มเป็นช่างทำเครื่องเงินที่ท่าชัย เธอเห็นภาพการเติบโตของคนที่นี่ จากหมู่บ้านเกษตรกลายเป็นหมู่บ้านของคนทำงานประณีตศิลป์เต็มระบบ

“ทำทองกับทำเงินใช้เทคนิคเหมือนกัน แต่ทองมันอ่อนกว่า บิดเบี้ยวง่าย ช่างต้องเนี้ยบกว่าเงิน”ในห้องช่างด้านหลังร้าน ความเป็นทองศรีสัชนาลัยชัดเจนอยู่ในมือและสายตาของช่างแต่ละคน พวกเขาค่อย ๆ หลอมทอง ถักทอง ติดลาย ต่อลาย สานสร้อยด้วยเทคนิคแบบ “หิ้ว”หรือลงยาเพิ่มความงดงาม

กล่าวถึงลายอันเป็นเอกลักษณ์ของทองสุโขทัยช่างทองยุคแรกเริ่มค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ทดลองสร้างสรรค์ไปเรื่อย ๆ แต่ที่ชัดเจนและได้รับการยอมรับมากที่สุดคือ “ลายเครือวัลย์” “ลายตัวอุ”หรือลายหัวใจ และ “ลายนางพญา”โดยเฉพาะลายหลังนั้น ช่างถอดลายมาจากช่องลมตรงด้านนอกผนังวัดนางพญา โบราณสถานภายในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยอันเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณริมแม่น้ำยมมันถูกตีความใหม่ในเครื่องประดับทั้งเงินและทองต่อยอดจนงานช่างทองสุโขทัยกลายเป็นสกุลช่างทองโบราณหนึ่งในสามสกุลสำคัญของเมืองไทย

นอกเหนือไปจากสกุลช่างทองเพชรบุรีและสกุลช่างทองนครศรีธรรมราชหรือช่างถมนครภายในห้องทำทองของร้านทองทุกแห่งในท่าชัยแทบไม่แตกต่าง ช่างทองบ้านนี้ส่งต่องานโบราณกันอย่างไม่ขาดห้วงนอกจากลายจากโบราณสถานพวกเขายังต่อยอดออกไปเป็นลายเสมือนจริงจากธรรมชาติ เช่น ลายดอกบัว ลายใบไม้และลายประดิษฐ์ที่เติมต่อจินตนาการช่างออกไปอีกอย่างลายดอกพิกุลขณะที่เด็กรุ่นใหม่นั่งอยู่หน้าโต๊ะทำทองทั้งบุ ตีขึ้นรูป สลักดุนลาย ประดับลวดเดินลายประดับไข่ปลา หรือจรดสายตาไปในขั้นตอนฉลุลายและลงยาสี

ภาพตรงหน้าไม่เพียงสะท้อนเอกลักษณ์ของงานช่างโบราณที่แสดงความเป็นสุโขทัยออกมาอย่างงดงาม แต่ยังฉายภาพสายสัมพันธ์ของคนกับแผ่นดินถิ่นเกิดที่พวกเขาหลอมรวมประวัติศาสตร์เข้ากับคืนวันปัจจุบันไว้ด้วยกันผ่านงานฝีมือบนเครื่องประดับเลอค่าที่มีที่มาจากหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งริมแม่น้ำยม

 

8/07/68 เวลา 04:27 น.