#แวะชมสมบัติศิลป์ หล่อพระบูรณะไทย ปิยะวรรณ วงศ์เจริญรัตน์ เรื่อง อารียา กุวังคดิลก สุรพล สุภาวัฒนกุล ภาพ เมื่อเดินทางมาถึงพิษณุโลก สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาดคือการเดินทางมาสักการะองค์พระพุทธชินราช ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ วิหารด้านตะวันตกในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร ชมความงดงามของพุทธลักษณะของพระพุทธชินราชรวมไปถึงการแวะชมการสืบทอดของพระพุทธรูปสกุลช่างเมืองพิษณุโลกที่โรงหล่อพระ โรงหล่อพระบูรณะไทย เป็นโรงหล่อแห่งแรกในจังหวัดพิษณุโลก ก่อตั้งโดยจ่าสิบเอก ดร.ทวี บูรณเขตต์ ผู้ได้รับการยกย่องจากสังคมเป็นแบบอย่างชีวิตที่ประสบความสำเร็จและได้รับการยกย่องจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติให้เป็นบุคคลดีเด่นทางวัฒนธรรม สาขาช่างฝีมือ แขนงช่างหล่อ ผลงานคือการปั้นรูปเหมือนหลวงพ่อพระพุทธชินราชเป็นองค์แรก และสืบทอดพุทธศิลป์โดยเฉพาะงานปั้นหล่อพระพุทธชินราชที่บรรจงสร้างขึ้นจนเป็นที่ยอมรับของพุทธศาสนิกชนชาวไทยและชาวต่างประเทศที่ต่างนับถือว่าจ่าทวีคือครูของช่างที่ปั้นหล่อพระพุทธชินราชในยุคนี้ได้งดงามและยังสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ งานปั้นหล่อมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นตรงที่มีการปิดทองที่องค์พระเป็นชุด ซึ่งการหล่อพระในยุคแรก ๆ ยังไม่มีการปิดทอง เทคนิคสำคัญในการปั้นหล่อพระพุทธชินราชคือต้องคำนึงถึงสัดส่วนขององค์พระ ขั้นตอนสำคัญอยู่ที่การปั้นต้นแบบองค์พระประธานและเททองหล่อ หากปั้นต้นแบบได้ไม่สมบูรณ์จะทำให้การเททองหล่อพระยาก หากเททองแล้วทองแล่นไม่เต็มองค์พระ ก็จะทำให้งานออกมาไม่สมบูรณ์แบบ ความสวยงามและประณีตก็จะหายไป รายละเอียดขั้นตอนการหล่อพระพุทธรูป คือ เทขี้ผึ้งลงในแม่พิมพ์ พระพุทธรูปขี้ผึ้ง ตอกตะปูตามจุดต่าง ๆ หุ้มด้วยส่วนผสมของปูนปลาสเตอร์ ทราย และน้ำ ใช้ลวดพันให้แน่น หุ้มดินนอกและทำปากจอก นำไปเข้าเตาเพื่อให้ขี้ผึ้งไหลออกให้หมดและจะเกิดช่องว่างในแม่พิมพ์ เทส่วนผสมของน้ำโลหะเข้าไปแทนที่ขี้ผึ้ง ทุบดินออกให้หมดจะได้พระพุทธรูปโลหะ จากนั้นนำมาขัดและตกแต่ง โป๊วสีและใช้กระดาษทรายขัดให้เรียบ นำไปลงรักปิดทอง พระพุทธชินราชสำเร็จเรียบร้อย จ่าทวีได้ใช้ความรู้ที่ได้ศึกษาวิชาการปั้นหล่อมาถ่ายทอดให้แก่ช่างด้วยตนเอง มีการถ่ายทอดความรู้ในงานปั้นหล่อรูปเหมือนอันทรงคุณค่านี้ให้แก่ช่างในพื้นที่ จนปัจจุบันสามารถสร้างอาชีพโรงหล่อพระกันได้อย่างกว้างขวาง รวมถึงการถ่ายทอดแก่ผู้มีความสนใจงานประติมากรรมชนิดนี้ภายในจังหวัดพิษณุโลกด้วย เป็นความภาคภูมิใจในการถ่ายทอดและสืบสานงานปั้นหล่อพระพุทธรูป นอกจากนี้ยังค้นคว้าองค์ความรู้ที่มีความสำคัญเกี่ยวกับงานปั้นหล่อรูปเหมือนที่ยังมีอยู่อีกมากเพื่อนำมาพัฒนาสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ แต่ยังคงคุณค่าชิ้นงานพุทธศิลป์อันล้ำค่า เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกให้ผู้คนในสังคมช่วยกันรักษารูปแบบวัฒนธรรมอันดีงาม โดยเฉพาะงานด้านศิลปะซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของชาติ ด้วยความคิดที่ว่า “การทำงานศิลปะนั้น ต้องอาศัยความพยายาม ความตั่งใจ ความอดทน รวมถึงมีจิตใจที่มุ่งมั่น งานพุทธศิลป์ปั้นหล่อพระพุทธรูป ผู้ทำต้องมีจิตใจที่บริสุทธิ์ ตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรม ส่วนการถ่ายทอดสอนให้เยาวชนมีใจที่จะอนุรักษ์ในงานศิลปะ ก็ต้องสอนตั้งแต่ยังเด็ก ให้เกิดการซึมซับ พ่อแม่ต้องทำเป็นตัวอย่าง ต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ เท่านี้ทุกคนก็จะช่วยกันอุ้มชูศิลปะของชาติ รักษาความเป็นชาติให้คงอยู่ต่อไป” โรงหล่อพระบูรณะไทย (จ่าทวี) เลขที่ 26/43 ถนนวิสุทธิกษัตริย์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองฯ จังหวัดพิษณุโลก 65000 โทรศัพท์ 0 5530 1668 และ 08 1886 2886 เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00-17.00 นาฬิกา โดยไม่มีค่าใช้จ่าย นอกจากชมการหล่อพระแล้ว ยังมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี ร้านเช่าบูชาพระพุทธรูป พระเครื่อง และร้านจำหน่ายของที่ระลึก Post Views: 2,999 10/03/66 เวลา 01:57 น. บทความที่เกี่ยวข้อง ตระการตาจิตรกรรม “ฝ้า” ผนัง วัดประดู่ พระอารามหลวง เมืองแม่กลอง จิตรกรรมบนผนังเพดานศาลาการเปรียญหลังเก่าของวัดประดู่ฯ นั้นเป็นจิตรกรรมไทยประเพณี วาดด้วยสีฝุ่น ไม่มีข้อมูลบันทึกไว้ว่าเขียนขึ้นในสมัยไหน พระพิมพ์ พุทธศิลป์ถิ่นสุโขทัย คติความเชื่อในการสร้างพระสุโขทัยเป็นการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา ตามหลักความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด การสร้างพระจึงถือเป็นการสร้างบุญบารมีอย่างหนึ่ง ท่องเที่ยวจักรวาลในวัดโบราณล้านนา สมัยนี้ที่ผ่านมาเราคงจะได้ยินว่าในต่างประเทศเริ่มมีการออกไปทัศนาจรในอวกาศกันแล้ว และมีแนวโน้มว่าต่อไปอาจจะมีการท่องเที่ยวจักรวาลกันในอนาคตอันใกล้