#แวะชมสมบัติศิลป์

“พระราชวังพญาไท” พิพิธภัณฑ์ใจกลางกรุง

พัชรี อินทร์แสง เรื่อง ฤชากร เป๋าสมบัติ ภาพ

พระราชวังเก่าแก่ที่ยังหลงเหลืออยู่ในประเทศไทยมักมีเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจซ่อนอยู่มากมาย รอวันให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเยี่ยมเยือนและศึกษาถึงประวัติความเป็นมาในแต่ละยุคสมัย งานศิลปะและสถาปัตยกรรมไปจนถึงวัฒนธรรมประเพณีที่เคยมีมาในอดีต ถึงแม้ปัจจุบันบางอย่างได้เลือนหายไปตามกาลเวลาแล้ว แต่สิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่คือคุณค่าสำหรับผู้ที่รักศิลปะและประวัติศาสตร์

“พระราชวังพญาไท” มีความน่าสนใจตรงที่พื้นที่บริเวณนี้แต่เดิมเมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้สร้างพระตำหนักเพื่อเสด็จประพาส พระราชทานนามว่า “พระตำหนักพญาไท” และโปรดฯ ใช้เป็นที่ทดลองปลูกธัญพืชต่าง ๆ ทรงย้ายพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจากทุ่งพระเมรุมาจัดที่นาหลวงคลองพญาไทแห่งนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนพันปีหลวงเสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริที่จะสร้างพระราชมณเฑียรสถานขึ้นใหม่เพื่อเป็นที่ประทับในวังพญาไท และโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ยกวังพญาไทขึ้นเป็น “พระราชวังพญาไท” พระราชมณเฑียรที่รัชกาลที่ 6 ทรงสร้างขึ้นใหม่ ประกอบด้วยพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน พระที่นั่งพิมานจักรี พระที่นั่งศรีสุทธนิวาส และพระที่นั่งอุดมวนาภรณ์ สำหรับพระที่นั่งเทวราชสภารมย์สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ใช้เป็นท้องพระโรงและสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา รวมทั้งเป็นโรงละครด้วย

เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 6 เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างมากมายกับพระราชวังพญาไท ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวงปรับปรุงพระราชวังพญาไทเป็นโรงแรมชั้นหนึ่ง ชื่อ “โฮเต็ลพญาไท” ในปีเดียวกันนั้นเองได้ทรงเปิดการส่งวิทยุกระจายเสียงจาก “สถานีวิทยุกระจายเสียงกรุงเทพฯ ที่พญาไท” ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถานในบริเวณโฮเต็ลพญาไท
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โฮเต็ลพญาไทประสบภาวะการขาดทุนอย่างมาก ประกอบกับกระทรวงกลาโหมกำลังหาที่ตั้งกองเสนารักษ์ คณะกรรมการราษฎร์จึงมีมติให้เลิกกิจการโฮเต็ลพญาไท โดยให้ย้ายสถานีวิทยุกระจายเสียงกรุงเทพฯ ไปตั้งที่ศาลาแดง และย้ายกองเสนารักษ์จังหวัดทหารบกเข้ามาอยู่ที่พระราชวังพญาไท ซึ่งก็คือ “โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า” ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนพระราชวังพญาไทเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2522

พระราชวังพญาไทเป็นสถานที่ยอดนิยมของคนรักงานศิลปะ ไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ หรือแม้กระทั่งชาวต่างชาติก็สามารถใช้เวลาทั้งวันหมดไปกับการชมงานสถาปัตยกรรมและจิตรกรรม เริ่มจากจุดแรก พระที่นั่งพิมานจักรี เป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างโรมาเนสก์กับกอทิก ลักษณะพิเศษ คือมียอดโดมสูงสำหรับชักธงมหาราช ภายในพระที่นั่งชั้นล่างประกอบด้วยห้องต่าง ๆ เช่น ห้องเสวยร่วมกับฝ่ายใน ห้องรับแขก ห้องพักเครื่อง ห้องธารกำนัล ส่วนที่ประทับตรงบริเวณชั้นสองเป็นห้องเสด็จออกให้เฝ้าส่วนพระองค์ หรือท้องพระโรงกลาง ภายในตกแต่งแบบยุโรป ห้องต่อมาเป็น “ห้องพระบรรทมพร้อมห้องสรง” ภายในตกแต่งลวดลายบนเพดานอย่างงดงามด้วยจิตรกรรมเขียนด้วยเทคนิคสีปูนแห้ง เป็นภาพคัมภีร์ในศาสนาพุทธเขียนบนใบลาน และภาพพญามังกร ซึ่งหมายถึงสัญลักษณ์ของความเป็นพระราชา และปีพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกห้องที่น่าสนใจของชั้นนี้คือ “ห้องประทับสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี” พระวรราชชายา ภายในตกแต่งด้วยลายดอกไม้ บัวฝ้าเพดานเป็นลายหางนกยูงซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี และห้องใต้โดมซึ่งคงเป็นห้องทรงพระอักษร เพราะยังปรากฏตู้หนังสือแบบติดผนัง เป็นตู้ขาวลายทอง มีอักษรพระปรมาภิไธยรัชกาลที่ ๖ อยู่ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎทุกตู้

พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน ลักษณะศิลปะแบบโรมาเนสก์ เคยเป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุกระจายเสียง เมื่อปี พ.ศ. 2473 สิ่งน่าสนใจของพระที่นั่งองค์นี้อยู่ที่ “ห้องพระบรรทม” ภายในมีภาพจิตรกรรมเขียนด้วยเทคนิคสีปูนแห้งบนฝ้าเพดาน เป็นรูปเทพน้อย 4 องค์ พร้อมเครื่องดนตรีลอยอยู่ในท้องฟ้าเป็นวงกลม ซึ่งวาดด้วยฝีมือได้งดงามมาก ถัดมาคือพระที่นั่งศรีสุทธนิวาส เดิมมีนามว่าพระที่นั่งลักษมีพิลาส ตามพระนามของพระนางเธอลักษมีลาวัณ พระชายา มีจิตรกรรมเป็นลายดอกไม้ ภาพชาย หญิง และแกะ ลักษณะเป็นภาพเขียนสีแบบตะวันตก

ระที่นั่งอีกองค์ที่น่าสนใจ คือพระที่นั่งเทวราชสภารมย์ ซึ่งเป็นท้องพระโรงเดิมในสมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งอยู่ด้านหน้าของพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน ลักษณะท้องพระโรงได้รับอิทธิพลจากศิลปะไบเซนไทน์ คือมีโดมอยู่ตรงกลาง รองรับด้วยหลังคาโค้งประทุนทั้งสี่ด้าน บนผนังมีจิตรกรรมรูปคนและลายพรรณพฤกษา และมีอักษร “สผ” ซึ่งเป็นพระนามย่อของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ) เคยใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีที่สำคัญ ๆ เช่น งานเฉลิมพระชนมพรรษา บางครั้งก็ใช้เป็นโรงละครหรือโรงภาพยนตร์
ถัดมาคือพระที่นั่งอุดมวนาภรณ์ สันนิษฐานว่าเป็นอาคารที่เรียกว่า “ตึกคลัง” และน่าจะสร้างขึ้นในภายหลัง จึงมีลักษณะแตกต่างไปจากพระที่นั่งองค์อื่น ๆ เป็นอาคารสูง ๒ ชั้น แบบเรียบง่าย หลังคาชันน้อยกว่า ไม่มีการตกแต่งด้วยจิตรกรรมเขียนสี แต่มีการประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีขาว และพระตำหนักเมขลารูจี รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักองค์นี้ขึ้นก่อนเพื่อเป็นที่ทรงงานวางโครงการสร้างพระราชมณเฑียร เป็นเรือนไม้สัก ๒ ชั้น หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ภายในมีภาพเขียนสีลายนกและมีสระสรง ใช้เป็นที่สรงน้ำหลังจากทรงพระเครื่องใหญ่หรือตัดผม

อาคารเทียบรถพระที่นั่ง สร้างภายหลังจากการสร้างพระราชวังพญาไทเรียบร้อยแล้ว ตั้งอยู่ด้านหน้าพระที่นั่งพิมานจักรี ใช้สำหรับเป็นลานเทียบรถพระที่นั่งและเป็นห้องพักคอยของผู้รอเข้าเฝ้า ปัจจุบันได้เปิดเป็น “ร้านกาแฟนรสิงห์” ซึ่งย้ายมาจากบริเวณมุมสนามเสือป่า ที่แต่เดิมรัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างร้านกาแฟนรสิงห์ขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้อาศัยเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ โดยได้ประกาศโฆษณาไว้ว่า “…สถานที่เป็นที่โอ่โถง น่าสำราญ มีอาหารว่างและขนมต่าง ๆ พร้อมทั้งเครื่องดื่มอย่างดีจำหน่ายพร้อมมูลบริบูรณ์ทุกประการ ทั้งราคาก็ย่อมเยา ผิดกว่าที่จะซื้อบริโภคได้ตามสถานที่อื่น ๆ ที่ไม่โอ่อ่าน่าสบายเหมือนเช่นนี้…” หากใครได้แวะมาที่นี่จะสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายวัฒนธรรมตะวันตกที่เข้ามาผสมผสานกับวิถีชีวิตของชาวไทยในอดีต ด้วยสไตล์การตกแต่งร้านไปจนถึงเมนูอาหาร ของว่าง และเครื่องดื่มที่เป็นเอกลักษณ์และรสชาติดี มีการประยุกต์เอาสูตรดั้งเดิมแต่โบราณมาปรับให้เข้ากับยุคสมัยได้อย่างลงตัว

ผู้สนใจสามารถเดินทางเยี่ยมชมพระราชวังพญาไทและเข้าสักการะท้าวหิรัญพนาสูร เทพารักษ์ประจำพระราชวังพญาไท ในวาระเฉลิมฉลองครบ 100 ปี วันที่ 15 กรกฎาคม 2565
สามารถเข้าชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.phyathaipalace.org หรือเฟซบุ๊ก : พระราชวังพญาไท Phyathai Palace

3/07/68 เวลา 08:19 น.