#ศิลปวัฒนธรรม

ซิ่นตีนจก มรดกวิถีสตรีเมืองแจ่ม

“ส้มจีน” เรื่อง “คุณมะปราง”ภาพ

ผ้าซิ่นตีนจกของคนแม่แจ่มเล่าเรื่องราวได้มากกว่าสิ่งที่ใช้สวมใส่เส้นด้ายเล็ก ๆ ร้อยเป็นผ้าผืนใหญ่ถูกถักทอด้วยหัวใจและความรักเพื่อมอบความอบอุ่นแก่คนในครอบครัววันหนึ่งเด็กหญิงได้รับผ้าผ่านมือสองข้าง เธอฝึกปรือตั้งแต่งานชิ้นเล็กสู่ผ้าผืนใหญ่เพื่อวันข้างหน้าเธอจะได้ถ่ายทอดลวดลายและความอบอุ่นบนผืนผ้าอันเป็นมรดกล้ำค่าชิ้นนี้แก่ทายาทเพื่อส่งต่อชั่วลูกชั่วหลาน

“หัดแรก ๆ ก็เริ่มจากการทำหน้าหมอน พอใช้ฟืมเป็นก็ค่อยหัดผ้าตีนจก” แม่วันดี ปิงกุล ผู้ทอผ้าตีนจกมือฉมังจากบ้านไร่วางมือลงจากกี่ทอก่อนจะหยิบฟืมรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดมือคนถือได้ ตัวกรอบเป็นไม้และมีฟันเป็นซี่ ๆ คล้ายกับหวี สมัยก่อนแม่วันดีใช้สิ่งนี้ทอผ้าเป็นผืนก่อนจะเปลี่ยนเป็นกี่ทอเพราะสะดวกขึ้น

ผ้าตีนจกในช่วงแรกคาดว่าทอจากฝ้ายที่ปลูกขึ้นและย้อมเอง ต่อมาเมื่อก็มีการใช้ด้ายที่ทอง่ายขึ้นจากที่อื่น ๆ ซึ่งเข้ามาในพื้นที่จากเส้นทางที่พ่อค้าใช้วัวเทียมเกวียน จนมาถึงฝ้ายจากโรงงาน ผ้าแต่ละยุคก็จะมีลักษณะต่างกันไปตามเนื้อเส้นฝ้ายที่ใช้ฝ้ายทำมือมีลักษณะหนาและมีสีตุ่น ลายที่ออกมาจะพองโต เนื้อผ้าไม่เรียบ ฝ้ายพ่าย ลักษณะเส้นด้ายจะเรียบบางมีสีออกนวลตาแต่เล็กและขาดง่าย ฝ้ายระหัน สีดูโบราณเส้นจะหนาคล้ายฝ้ายทำมือ ฝ้ายเก๋ว หรือฝ้ายเกลียว เป็นยุคต่อจากการใช้ฝ้ายพ่าย แต่มีความแข็งแรงมากกว่า เมื่อทอออกมาแล้วจะมีลักษณะเลื่อม ๆ มีสีสว่างคล้ายกับไหมประดิษฐ์ที่ใช้ในปัจจุบัน

รุ่นก่อนไม่ทำอยู่ช่วงหนึ่ง เพราะทำไปก็ไม่ได้ขาย” ถ้ามหกรรมผ้าตีนจกแม่แจ่มครั้งที่ 1 ไม่เกิดขึ้น บัดนี้คงหาคนทำไม่ได้ หลังจากครั้งนั้นก็มีผู้สนใจงานผ้าตีนจกมากขึ้น ทั้งโรงเรียนในชุมชนยังสนับสนุนการอนุรักษ์ด้วยการปลูกฝังและฝึกให้เด็กรุ่นใหม่ได้หัดทอผ้า
“สมัยก่อนผู้หญิงไม่ได้เรียนหนังสือ พอไม่ได้ทำนาทำไร่ แม่อุ้ยก็ให้ฝึก สมัยก่อนเขาทำกันเยอะ ให้ผ้ากันโดยไม่คิดเงิน เหลือให้ลูกหลานเก็บคนละผืนสองผืน”
เมื่อว่างจากการทำไร่ทำนา ผู้ชายจะทำงานจักสาน ส่วนผู้หญิงจะถูกสอนให้ทอผ้าให้คนในครอบครัวใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม พวกเธอต้องทำตั้งแต่หาดอกฝ้ายจนถึงขั้นตอนการทอเป็นผืนซึ่งต้องทำให้สวยงามเพื่อไม่ให้คนมาดูถูกดูแคลนว่าไม่ขยันหมั่นเพียรเพราะผ้าไม่งามเหมือนคนอื่น

ในอดีตชีวิตประจำวันของหญิงแม่แจ่มจะใส่ผ้าซิ่นที่มีตีนดำหรือซิ่นตีนแดง และจะใส่ผ้าตีนจกเฉพาะวันที่มีงานบุญ งานสำคัญ อีกนัยหนึ่งก็เป็นเครื่องวัดชนชั้นทางสังคม บ้านไหนยากจนมาก ๆ ก็ไม่สามารถทอผ้าหรือมีเก็บไว้เพราะต้องออกไปทำมาหาเลี้ยงชีพ แต่หากพอมีจะกินก็มีเวลามานั่งทอผ้าตีนจก
“ผ้าจกไม่ใช่ผ้ายก ผ้ายกใช้เครื่องทอ ส่วนตีนจกจะมีสองหน้าใส่ได้สองด้าน” แม่วันดีอธิบายเอกลักษณ์ของผ้าตีนจกที่ต้องจก ซึ่งเป็นคำกริยาในภาษาเหนือ มีความหมายคือ การล้วงด้ายขึ้นบนลงล่างตามลายที่ต้องการ เพื่อนำไปต่อเชิงซิ่น หรือผ้าถุง ในขณะที่ผ้ายกคือการเพิ่มลวดลายให้แก่ผ้าด้วยการยกตะกอเพื่อทำลายให้นูนสูงกว่าเนื้อผ้า

 

“ฝ้ายโบราณจะสวย สีจะคงเดิมไม่ค่อยเปลี่ยน” คำพูดนี้ไม่ได้พูดขึ้นมาลอย ๆ เพราะผ้าซิ่นตีนจกลายแม่อุ้ยแจ้บอกกับเราอย่างนั้น ลายผ้านี้ไม่ได้อยู่ในลายโบราณที่บันทึกไว้ อายุของผ้าเก่าผืนนี้ถือครองมากว่า 4 รุ่น รุ่นที่ 3 คือแม่อุ้ยแจ้เก็บผ้าซิ่นผืนนี้ไว้ด้วยความหวงแหนและได้จดบันทึกไว้ในรุ่นนี้ ซึ่งน่าจะทำให้ลายผ้าถูกเรียกเป็นชื่อของแก
ซิ่นตีนจกลายแม่อุ้ยแจ้มีการนำไปส่องดูพบว่าใช้ดิ้นทองในการทอ ในอดีตผ้าที่มีดิ้นทองมักผ้าที่เป็นของบรรณาการแด่กษัตริย์ หรือเจ้าผู้ครองเมือง แต่ก็สืบที่มาไม่ได้ว่าทำไมผ้าผืนนี้ถึงมาอยู่ตรงนี้ได้ ซึ่ง

ปัจจุบันแม่วันดีก็ได้ลอกลายแม่อุ๊ยแจ้และทอขึ้นมาใหม่ได้สำเร็จ“น้ำต้น ห้องนก ลายขอร้อย ลายขันเจียงแสน ลายหงส์หลวง ลายขอไล่ ลายสะเปา” ทุกคนในที่นั้นช่วยกันไล่ลายที่อยู่บนเนื้อผ้าและบอกได้ทันทีราวกับเรียกเพื่อนที่รู้จักกันมานานผ้าสองผืนถูกนำมาเปรียบเทียบ ลายที่เหมือนกันแต่ให้ความรู้สึกต่างกัน ผ้าผืนใหม่ละเอียดสวยงามในขณะที่ผ้าจากอดีตมีความพองนูนแต่ก็ดูลุ่มลึกด้วยเส้นทอที่หาไม่ได้แล้วในปัจจุบันบางทีความหมายของผ้าตีนจกอาจจะไม่ได้อยู่ที่ลวดลาย แต่เพราะความทรงจำและประสบการณ์ที่ถ่ายทอดให้กันจนกลายเป็นของตกทอดในครอบครัวต่างหากที่ทำให้มีความหมายแก่ทายาทที่ได้รับมอบเรื่องราวนั้น

บ้านไร่ใจแจ่ม
เลขที่ 11 บ้านไร่ หมู่ 10 ตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
คุณมนัส เจริญเดช เจ้าของโฮมสเตย์และผู้ประสานงานสำหรับกิจกรรมเรียนรู้วิถีชุมชน วัฒนธรรมและผ้าซิ่นตีนจก โทรศัพท์ 08 6192 3241

 

16/01/68 เวลา 08:37 น.