#ศิลปวัฒนธรรม

ประณีตริ้วผิวมะปราง

ประกายพฤกษ์ ดำรงวัฒน เรื่อง ธีรพัฒน์ บุปผาพิบูลย์ ภาพ

 

หมากปรางนางปอกแล้ว
ใส่โถแก้วแพร้วพรายแสง
ยามรื่นชื่นโรยแรง
ปรางอิ่มอาบซาบนาสา
(กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน)

การริ้วมะปรางเป็นศาสตร์และศิลป์ที่สืบทอดมาจากราชสำนักตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ดังพระราชนิพนธ์กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน เพื่อใช้เห่ชมฝีพระหัตถ์ในการแต่งเครื่องเสวยของนางผู้เป็นที่รัก คือสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ผู้ทรงคิดค้นวิธีริ้วมะปรางขึ้นมา “มะปรางริ้วคือการปอกมะปรางให้เกิดเป็นลายที่สวยงาม ไม่ใช่การแกะสลัก” ครูแตง หรือคุณจันทรรัตน์ เหมเวช กล่าวกับทีมงาน อ.ส.ท. ณ สตูดิโอ จันทร์ ในซอยจรัญสนิทวงศ์ 46 ซึ่งร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่ มีท่าเรือทอดติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา

ครูแตงคือมัณฑนากรผู้ชื่นชอบงานประณีตศิลป์และอาหารไทยโบราณ เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ประถม โลจนานนท์ ซึ่งเป็นศิษย์เอกของอาจารย์เยื้อน ภาณุทัต บรมครูด้านงานประณีตศิลป์ของไทยด้านงานเย็บปักถักร้อย งานแกะสลัก งานใบตอง งานประดิษฐ์ และงานคหกรรมศาสตร์ ครูแตงได้เรียนวิชางานฝีมือชาววัง 4 อย่าง คือ การทำขนมเบื้องไทย การทำขนมจีบไทย การจีบพลูยาว และการริ้วมะปรางครูแตงกล่าวว่า การริ้วมะปรางต้องริ้วให้เร็ว ถ้าช้าผลไม้จะช้ำ การจับมีดมี 2 แบบ คือการจับแบบวังหลวง จะใช้ปลายมีดในการริ้วสร้างลาย และการจับแบบวังบ้านหม้อซึ่งจะใช้โคนมีดหน้าใหญ่ในการสร้างลาย การปอกริ้วที่สำคัญประกอบด้วย 2 มิติ คือ การวางมีดต้องวางเป็น 45 องศา ซึ่งเป็นองศาแรงเฉือนทางฟิสิกส์ที่ดีที่สุด และการยกสันมีดในจุดตัด ในการริ้วเส้นที่สอง คมมีดจะอยู่ที่ตรงสันของริ้วแรก การริ้วจะเป็นการทำงานประสานกันระหว่างมือทั้งสองข้าง คือการขยับมีดและการหมุนผลมะปราง

มีดที่ใช้ในการริ้วมะปรางจะมีหลายประเภท สมัยก่อนจะนิยมใช้มีดทองเหลืองซึ่งจะมีความบางและคม แต่ข้อเสียคือจะรักษาคมได้ไม่นาน หรือมีดทองสำริด หรือทองม้าล่อ ซึ่งจะมีความคมและรักษาคมได้ดีกว่า แต่มีราคาแพงมาก ในปัจจุบันราคาเป็นหมื่นบาท การใช้มีดทองริ้วมะปรางจะไม่ค่อยดำ แต่ถ้าใช้มีดเหล็กแม้ว่าจะคมดี แต่รอยของผลไม้จะดำ การป้องกันไม่ให้เกิดรอยดำคือการนำน้ำมะนาวทามีดอยู่เป็นระยะ เพราะมะนาวมีกรดซิตริก ซึ่งจะลดความดำของผลไม้ได้ดีกว่าน้ำเกลือ มีดริ้วมะปรางในสมัยก่อนจะไม่ใช้ปะปนกับมีดแกะสลักอื่น อาจเพราะมีดคม ๆ หาได้ยาก
การเลือกซื้อมะปรางที่เหมาะสมกับการริ้ว ควรเลือกลูกที่มีขั้วกลม ถ้าจะนำมาใช้หลายวันควรเลือกแบบที่ติดใบ ติดขั้ว เพราะจะอยู่ได้นานมากยิ่งขึ้น สำหรับผู้ฝึกมือใหม่ควรเลือกลูกขนาดพอเหมาะ ไม่แนะนำให้ใช้มะปรางลูกใหญ่นัก เพราะเวลาริ้วจะต้องกลั้นหายใจเป็นเวลานาน

 

ลวดลายของมะปรางในวังหลวงจะมีทั้งหมด 17 แบบ เช่นลายริ้วตรง ซึ่งเป็นลายเส้นตรงธรรมดา ลายเกล็ดเต่า หรือลายรังผึ้ง ใช้วิธีการเถือหรือการปาดมีดมากกว่าการริ้ว โดยริ้วแรกที่ตัดออกจะเป็นรูปทรงวงกลม และจุดตัดจะเป็นลักษณะ 6 เหลี่ยม ลายตระกูลหอยต่าง ๆ เช่น หอยแครง หอยพัด หอยตลับ ลายคดกริช ลายเกลียวสมุทร เป็นแบบเกลียวคลื่น ลายประแจจีน ลายใบไม้ เป็นต้น โดยลายที่ยากที่สุดคือลายดอกการเวก และลายดอกกระดังงา เพราะจะมีลักษณะซ่อนริ้วเป็น 3 ชั้น และจะต้องทำให้กลีบดูพลิ้ว ต่อมามีการออกแบบลวดลายเพิ่มเติมจากบ้านอื่น ๆ รวมเป็นประมาณ 25 ลาย

ในการนำมะปรางริ้วมาตกแต่งในโหลแก้วใส่น้ำเชื่อมนั้น จะไม่ได้นำแต่ผลที่ริ้วเป็นลวดลายใส่เข้าไปเท่านั้น แต่จะมีการวางลูกที่ปอกเกลี้ยงเข้าไปด้วย การปอกเกลี้ยงคือการปอกที่ดูเหมือนไม่ปอกจะไม่ขึ้นเป็นสันลวดลาย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดจุดสนใจหลักของผลงาน และเกิดพื้นที่ว่าง ทำให้ผลงานเกิดความสมดุล มะปรางที่มีรสหวานมักรับประทานกับน้ำเชื่อมหวานน้อย แต่ถ้ามะปรางที่มีรสชาติหวานมากจะนำมาราดกะทิ ซึ่งจะทำให้เห็นลวดลายชัดเจนมากยิ่งขึ้น มะปรางริ้วราดกะทิจะเป็นสูตรของคุณหญิงหลุย มไหสวรรย์ อดีตคุณข้าหลวงในสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอยิกาเจ้าในฤดูร้อนมักนิยมนำมะปรางมาลอยแก้วเพื่อรับประทานเย็น หรือเมนูส้มฉุน ในสมัยก่อนนิยมนำมะปรางริ้วมาทำเป็นของว่าง ซึ่งจะคล้ายม้าห้อที่วางไส้บนผลไม้ แต่ถ้านำไส้มาใส่ไว้ระหว่างลูกมะปรางริ้วในลักษณะเหมือนปากงับอยู่จะเรียกว่ามังกรคาบแก้ว มะปรางริ้วในปัจจุบันนิยมนำมาตกแต่งหน้าเค้กตามฤดูกาล

 

ในยุคสมัยปัจจุบันที่ข้อมูลข่าวสารมีมากมายและรวดเร็ว ศาสตร์และศิลป์ของการริ้วมะปรางถือเป็นทักษะพิเศษที่จะทำให้ผู้เรียนมีความสามารถพิเศษ เป็นวิชาที่จะติดตัวไปตลอดชีวิต มะปรางริ้วเป็นผลงานที่แสดงถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจ ใส่ใจในรายละเอียดในการสร้างสรรค์ ซึ่งสามารถมอบเป็นของขวัญที่มีคุณค่าทางจิตใจสำหรับคนพิเศษได้เป็นอย่างดี และเป็นศาสตร์ที่ควรสืบสานและเผยแพร่ในวงกว้างต่อไป

21/04/68 เวลา 04:25 น.