#แวะชมสมบัติศิลป์ ลายทองเมืองเพชร งานโบราณที่ถักทอจากความช่ำชอง “ส้มจีน” เรื่อง ธีรพัฒน์ บุปผาพิบูลย์ ภาพ ลึกเข้าไปในทองรูปพรรณสีเหลืองสักชิ้นอาจบ่งชี้ความเฉพาะของงานฝีมือต่างที่มา ผลงานอันสลักลวดลายละเอียดชดช้อยผสมผสานแบบตามธรรมชาติ คือเอกลักษณ์เด่นของงานช่างทองโบราณจากเมืองเพชรบุรีหัวถนนพานิชเจริญ ริมแม่น้ำเพชรบุรี สถานที่อันรุ่งเรืองที่เรียกว่าตึกแถวของเหล่าช่างทำทองโบราณ ซึ่งปัจจุบันเห็นภาพร้านของช่างทำทองหลงเหลือเพียงร้านสุดท้าย โกวแขก-สมจิตร อรรถวรรธน คือ เจ้าของร้านโรงทองโกวแขกที่ยังคงเปิดรับทำทองในละแวกนั้นเพียงหนึ่งเดียว กิจการทำทองดำเนินไปด้วยความเงียบสงบในห้องแถวที่มักเห็นประตูเหล็กบดบังสายตาแต่ยังคงเห็นภายในจากช่องว่างระหว่างโครง ทองแท่งน้ำหนักต่าง ๆ จะถูกหลอมและเทขึ้นรูปงานใส่พิมพ์ ทำให้แบนและชักให้ยืดจนได้เส้นทองขนาดตามความละเอียดของงานที่ต้องการจะทำ ตายายของโกวแขกเป็นช่างทำทองจากเมืองจีน มีแม่สืบทอดเป็นรุ่นที่สอง และอาเป็นรุ่นที่สาม ด้วยความที่เกิดมาเป็นลูกผู้หญิงในบ้านจึงไม่ได้ร่ำเรียนเหมือนลูกผู้ชาย เมื่อว่างจากการทำงานบ้านโกวแขกจึงได้ฝึกหัดการเป็นช่างทำทองตั้งแต่เล็ก ๆ จนเป็นรุ่นที่สี่ของบ้าน“คือฉันก็มหัศจรรย์นิดหน่อย ปกติผู้หญิงเขาก็ไม่ได้ให้ทำหรอก แต่ฉันได้ฝึกทำทุกอย่างเลยทำได้ทุกลาย” โกวแขกพูดถึงฝีไม้ลายมือของตัวเองที่ฝึกมาแต่เล็ก อันเป็นที่มาของความสามารถในการทำทองรูปพรรณในลวดลายต่าง ๆ มากมาย “ลายเพชรบุรีมาจากในวัง ช่วงสมัยรัชกาลที่ ๔ เขาเอาคนมาสอนคนเพชรบุรีให้ทำทอง หลังจากนั้นเขามาทำขาย พอมีคนสั่งทำแล้วเขาทำไม่ทันก็เลยส่งลายมาให้” โกวแขกอธิบายและให้นิยามว่าการทำทองเหมือนการตัดเสื้อ พอดูกันไปดูกันมาก็ทำได้เองโดยปริยาย เอกลักษณ์ของลายทองเมืองเพชรมีอยู่หลายแบบ ทั้งลายปะวะหล่ำ (โคมจีน) ลูกสน เต่าร้าง ดอกพิกุล กระดุม ลายตะขาบทรงเครื่อง ลวดลายเหล่านี้มักนำมาถักตามความต้องการของลูกค้า อาจจะมีลายเดียวหรือลายผสมก็ได้ ซึ่งงานของช่างทองโบราณเมืองเพชรจะมีการทำที่ต่างจากที่อื่น อย่างลายตะขาบทรงเครื่อง หากเป็นช่างอื่นจะเห็นช่องว่างผิดกับงานของเพชรบุรีแท้ ๆ ที่จะละเอียดถี่ยิบ “คนทำแหวนงูเก่งที่สุด คือ เอี่ยน ชูบดินทร์ เขานำทองทั้งแท่งมาตอกลาย ลิ้นงูของเขานี่กระดกได้เลย” ตระกูลชูบดินทร์เป็นตระกูลที่ไปดองกับตระกูลทองสัมฤทธิ์ อันมีต้นตระกูลเป็นนายช่างทหาร ทำเครื่องทองเหลืองประเภทเครื่องประดับยศทหาร ที่มีลูก ๆ หลาน ๆ ไปแต่งงานกับช่างทำทองที่มีฝีมือ จึงเกิดการสืบทอดงานฝีมือต่อกันมา และป้าเนื่อง (ชูบดินทร์) แฝงสีคำ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ก็เป็นคนสุดท้ายของตระกูลที่ยึดการทำทองเป็นอาชีพจนสิ้นลมหายใจ “ช่างที่ชำนาญคือช่างที่ทำซ้ำ ๆ” โกวแขกหัดงานช่างด้วยการทำเครื่องเงินที่ทำยากกว่าทอง การทำเงินหากทำไม่ดีตอนใช้ไฟจะทำให้ติดกัน แต่ข้อดีคือเมื่อทำพลาดก็นำไปหลอมทำใหม่ได้ ผิดกับทองที่น้ำหนักอาจจะหายไป การฝึกจากการทำลายมีอยู่ ๔ ชนิดหลัก ๆ ได้แก่ ลายห่วงคู่ที่ต้องฝึกทำการต่อข้อ ลายเกลียวตันที่ฝึกการทำเกลียวให้ไม่มีโพรง ลายสายสมอคือลายเกลียวตันที่โป่รง ลายไข่ปลาที่ต้องฝึกการเป่าไฟให้กลม และยังต้องฝึกเป่าน้ำประสาน (น้ำยาที่ใช้ประสานทอง) ให้เก่งพร้อมด้วย อุปกรณ์ที่ใช้ทำทองมีหลายชนิด ตั้งแต่โต๊ะทำทอง เครื่องมือเป่าแล่นเชื่อมทอง เบ้าหลอมทอง เครื่องมือตีทอง ค้อนขนาดต่าง ๆ เครื่องมือและวัสดุชักลวด เครื่องมือแกะทอง กรรไกรตัดทอง ไม้พันขนาดต่าง ๆ ที่ช่วยทำทองรูปพรรณ ตะไบแปรง จนไปถึงคีมช่วยจับทอง “คีมสำคัญที่สุด เพราะใช้หยิบของทุกชนิด” โกวแขกยื่นคีมสีคร่ำครึบ่งบอกการทำงานของมันที่ผ่านการใช้มาอย่างยาวนาน เป็นชิ้นส่วนสำคัญที่สุดที่ขาดไม่ได้ หากแตกหักหรือถูกเปลี่ยนเป็นอันใหม่ก็มักจะเกี่ยวโยงกับการทำงานที่อาจจะเกิดข้อผิดพลาดซึ่งใช้คำอธิบายอารมณ์ประมาณว่าไม่เข้ามือเหมือนอย่างเดิม “ตอนทองแพงก็จบหมดเลย สมัยสักประมาณปีหนึ่งหกถึงหนึ่งเก้า ที่ขึ้นจากบาทละ 400 เป็น 600 แล้วไปพันกว่า ช่างทองไปขายลอตเตอรี่กันหมดเลย อย่างฉันก็ไปขายผ้าในตลาดกลับมาปีสามศูนย์ก็มาทำต่อได้” ช่างทองเป็นการทำงานที่หัดเป็นแล้วเป็นเลย แต่ก็หาคนทำได้ยาก เพราะเป็นงานที่ใช้เวลาและสมาธิอย่างมาก กว่าจะได้เครื่องทองออกมา 1 ชิ้น อย่างน้อยที่สุดก็ใช้เวลาค่อนอาทิตย์ เมื่อคนที่ทำเป็นค่อย ๆ ล้มหายตายจากและไม่มีผู้สืบทอด คนที่ทำเป็นก็เริ่มเหลือน้อยลงทุกที ความวิจิตรของงานทองโบราณเมืองเพชรบุรีจะคงอยู่และสืบต่อตราบเท่าที่คุณค่ายังคงแสดงให้ช่างทำทองหยัดยืนหาเลี้ยงชีพต่อไปได้ ไม่ใช่เหลือไว้แค่คำว่างานหัตถศิลป์ที่งดงามและน่าชื่นชมขึ้นหิ้งไว้ในพิพิธภัณฑ์แต่เพียงเท่านั้น โรงทองโกวแขก เลขที่ 386-384 ถนนพานิชเจริญ ตำบลท่าราบ อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี 76000 โทรศัพท์ 08 0959 7966 เฟซบุ๊ก: โรงทองโกวแขก ทองโบราณเพชรบุรี Post Views: 30 16/12/67 เวลา 09:34 น. บทความที่เกี่ยวข้อง ตระการตาจิตรกรรม “ฝ้า” ผนัง วัดประดู่ พระอารามหลวง เมืองแม่กลอง จิตรกรรมบนผนังเพดานศาลาการเปรียญหลังเก่าของวัดประดู่ฯ นั้นเป็นจิตรกรรมไทยประเพณี วาดด้วยสีฝุ่น ไม่มีข้อมูลบันทึกไว้ว่าเขียนขึ้นในสมัยไหน พระพิมพ์ พุทธศิลป์ถิ่นสุโขทัย คติความเชื่อในการสร้างพระสุโขทัยเป็นการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา ตามหลักความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด การสร้างพระจึงถือเป็นการสร้างบุญบารมีอย่างหนึ่ง ท่องเที่ยวจักรวาลในวัดโบราณล้านนา สมัยนี้ที่ผ่านมาเราคงจะได้ยินว่าในต่างประเทศเริ่มมีการออกไปทัศนาจรในอวกาศกันแล้ว และมีแนวโน้มว่าต่อไปอาจจะมีการท่องเที่ยวจักรวาลกันในอนาคตอันใกล้