#ที่เที่ยว ขับกินลมชมเมืองแกลง ขับกินลมชมเมืองแกลง ธีรพัฒน์ บุปผาพิบูลย์ เรื่องและภาพ ขับรถเที่ยวทริปนี้ จะมาแนะนำการเดินทางท่องเที่ยวที่เหมาะกับการพักผ่อนในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ อีกทั้งยังไม่เหนื่อยล้าจากการขับรถมากนัก เพราะอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร จากกรุงเทพฯ เราใช้ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 มุ่งหน้าสู่อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 344 มุ่งตรงสู่อำเภอแกลง จังหวัดระยอง จุดหมายปลายทางของการเดินทาง หลายคนรู้จักชื่อของอำเภอแกลงจากหนึ่งในบทกวีเรื่องนิราศเมืองแกลงของสุนทรภู่ กวีเอกเมืองไทย แต่การขับรถเที่ยวแกลงในครั้งนี้ จะพาทุกท่านไปพบกับความน่าสนใจอีกหลายอย่างที่รวมอยู่ในอำเภอชายฝั่งทะเลอ่าวไทยแห่งนี้กัน จุดหมายแรกของทริปขับกินลมชมเมืองแกลงคือทุ่งโปรงทอง ป่าชายเลนอุดมสมบูรณ์ พื้นที่กว่า 6,000 ไร่ ตรงบริเวณปากน้ำประแส ที่แต่เดิมบริเวณนี้คือพื้นที่เสื่อมโทรมจากการทำประมงและบ่อกุ้ง จนเมื่อปี พ.ศ. 2544 ชาวบ้านเริ่มตระหนักถึงการอนุรักษ์และรวมตัวกันฟื้นฟูสภาพพื้นที่ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน นอกจากที่นี่จะเป็นบ้านของต้นไม้นานาชนิดแล้ว ยังมีสัตว์หลากหลายสายพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกันในระบบนิเวศแบบป่าชายเลน จนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเยาวชนที่แวะเวียนมาทัศนศึกษาไม่ขาดสาย จุดเด่นของที่นี่คือทุ่งต้นโปรงใบสีเขียวอมเหลืองที่ขึ้นอยู่หนาแน่นทั่วบริเวณจนกลายเป็นสีเหลือง ยิ่งในช่วงพระอาทิตย์ทอแสงลงบนพื้นที่ บริเวณนี้ก็จะกลายเป็นสีทองตามชื่อสถานที่ โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดคือช่วงเช้า อากาศกำลังดี และจะได้เห็นแสงสีทองสาดส่องอาบไปทั่วท้องทุ่ง ขับรถออกจากทุ่งโปรงทองมาไม่ไกลก็เดินทางมาถึงอนุสรณ์เรือหลวงประแส ที่ตั้งตระหง่านอย่างสง่างามอยู่ตรงบริเวณปากแม่น้ำประแส เรือหลวงประแสเป็นหนึ่งในเรือรบที่สำคัญของราชนาวีที่เคยเข้าร่วมรบร่วมกับชาติพันธมิตรในสงครามเกาหลีอย่างกล้าหาญ จนเมื่อปลดประจำการในปี พ.ศ. 2543 กองทัพเรือจึงมีแนวคิดในการนำเรือมาตั้งเป็นอนุสรณ์ ณ บริเวณปากแม่น้ำประแส เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมทุกวัน นับเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่นอกจากจะทำให้เรารู้สึกภูมิใจในความเป็นคนชนชาติไทยแล้ว ยังมีมุมถ่ายรูปสวย ๆ ให้ได้เก็บภาพเยอะเลย เราขับรถออกจากอนุสรณ์เรือหลวงประแสไปบนถนนเฉลิมบูรพาชลทิต ถนนสายท่องเที่ยวที่ลัดเลาะชายทะเล เชื่อมการเดินทางของจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราดเข้าด้วยกันไปจนถึงแหลมแม่พิมพ์ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจอันเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวชาวไทยมาหลายยุคหลายสมัย แม้ในปัจจุบันบรรยากาศจะเงียบเหงาลงไปบ้าง แต่แหลมแม่พิมพ์ก็ไม่เคยร้างราผู้คนที่มาแวะพักผ่อนใต้ทิวสนและชมบรรยากาศริมทะเลเลยสักเวลา และสถานที่สุดท้ายที่ถือเป็นไฮไลต์ของการเดินทางขับกินลมชมเมืองแกลงครั้งนี้ก็คือสวนพฤกษศาสตร์ระยอง เชื่อว่าหลายคนคงมีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมชมกันมาแล้ว แต่อยากจะบอกว่ามาเที่ยวที่นี่ครั้งเดียวไม่พอจริง ๆ เพราะในแต่ละฤดูกาล สภาพแวดล้อมของสถานที่แห่งนี้จะเปลี่ยนแปลงไป ก่อให้เกิดมุมมองใหม่ ๆ ไม่ซ้ำกันเลย อย่างเช่น ช่วงเวลาที่เราเดินทางไปเป็นช่วงกลางฤดูฝน มีปริมาณน้ำมาก การเข้าถึงพื้นที่ศึกษาธรรมชาติสามารถไปได้ด้วยเรือเท่านั้น ซึ่งทางสวนพฤกษศาสตร์ระยองก็มีทั้งเรือยนต์ท้องแบนและเรือคายักเตรียมไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว โดยเราเลือกเช่าเรือคายักพายเข้าไปตามจุดต่าง ๆ ภาพของผืนป่าที่เคยได้มาเยี่ยมเยือนครั้งก่อนในช่วงฤดูแล้งซึ่งก็สวยงามมากอยู่แล้ว กลับกลายเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำงดงามราวกับเป็นคนละสถานที่ นี่คือเสน่ห์ของสวนพฤกษ์ศาสตร์ระยองจนได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 25 แหล่งท่องเที่ยวตามโครงการ Roadtrip Unseen New Series 25 เส้นทางขับรถเที่ยวทั่วไทย ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นับว่าเป็นความประทับใจที่ได้ออกเดินทางมาเห็นเมืองไทยในมุมมองที่ต่างไปอีกครั้ง นี่ไม่ใช่การเดินทางครั้งแรกบนเส้นทางนี้ และด้วยความงดงามของแหล่งท่องเที่ยวตลอดเส้นทาง ทำให้มั่นใจได้เลยว่าจะต้องมีครั้งต่อไปอีกแน่นอน คู่มือนักเดินทาง การเที่ยวชมสวนพฤกษ์ศาสตร์ระยองทางเรือทั้งเรือคายักหรือเรือยนต์ท้องแบน เพื่อความปลอดภัยขอให้ปฏิบัติตามระเบียบที่ทางเจ้าหน้าที่กำหนด โดยเฉพาะการสวมเสื้อชูชีพ และสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการพายเรือคายัก แนะนำให้ศึกษาแผนที่และเส้นทางพายเรือให้เรียบร้อยก่อน Post Views: 5,803 9/03/66 เวลา 07:27 น. บทความที่เกี่ยวข้อง หลืบลับฉบับโรงปี๊บ “โรงปี๊บ” ไม่ได้มีแต่อาหารคาวเพียงอย่างเดียวประเภทขนมเครื่องดื่มก็มีเช่นกันทำให้ตอบสนองกับความต้องการของลูกค้าทุกอย่าง เพราะเจตนาหลักอยากให้ทุกคนเข้าถึง สงบเงียบ ผ่อนคลาย ในเมืองเบตง โรงแรมแกรนด์วิว แลนด์มาร์ค เบตง เติมเต็มความสุขในวันพักผ่อนด้วยเครื่องนอนคุณภาพดี สัมผัสนุ่มนวลชวนสบายในยามนอน ภายในห้องพักแสนจะเงียบสงบที่ผู้เข้าพักจะได้ Akhoo ทุกเวลาคืออาหาร กลางเมืองสงบอย่างนราธิวาส ครอบครัวหนึ่งขับเคลื่อนการใช้ชีวิตของพวกเขาด้วยอาหาร จากพ่อสู่ลูก ความสู้ชีวิตและการเรียนรู้ในอดีตปรับเปลี่ยนเป็น Akhoo by Nasir ในทุกวันนี้