#ที่เที่ยว

จะนกหรือไก่ดีนะ…

ชนันพัทธ์ สุรชัยกุลวัฒนา เรื่องและภาพ

บินเหมือนนก หากินเหมือนไก่ ….ที่สำคัญเป็น “สัตว์ป่าคุ้มครอง” ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช ๒๕๓๕ ด้วยสิ อ้อ… “ชาปีไหน” นี่เอง แค่ชื่อก็สุดแสนเท่แล้ว…

นกชาปีไหน (Nicobar pigeon) ถือว่าเป็น “นกแห่งหมู่เกาะ” กล่าวคือเราจะพบเห็นนกชนิดนี้ได้ตามหมู่เกาะต่าง ๆ บริเวณทะเลอันดามัน และอินโด-แปซิกฟิก เช่น หมู่เกาะนิโคบาร์ หมู่เกาะอันดามัน สำหรับในประเทศไทยจัดให้ “นกชาปีไหน” เป็นนกหายาก สัตว์ป่าคุ้มครองทีเดียวครับ เพราะว่า เราจะพบ “ชาปีไหน” อาศัยและกระจายพันทางภาคใต้เฉพาะทะเลฝั่งอันดามันเท่านั้นครับ เช่นอุทยานแห่งชาติทางทะเลหมู่เกาะสิมิลัน อุทยานแห่งชาติทางทะเลหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา เป็นต้น

นกชาปีไหน เป็นนกในวงศ์เดียวกับนกพิราบและนกเขา แต่มีขนาดใหญ่กว่านกพิราบ เรียกว่า ขนาดเป็นน้อง ๆ ไก่แจ้… แถมยังมีพฤติกรรมการอาศัยอยู่ตามพื้นดินมากกว่าอยู่บนต้นไม้ หากินแบบไก่ กล่าวคือ ชอบคุ้ยเขี่ยหากินตามพื้นดินพื้นทรายทั่วไป แต่… อย่าคิดว่า หากินบนพื้นดินแล้ว “น้องชาปีไหน” บินไม่ได้นะครับ…. เค้ามีความสามารถในการบิน และบินได้ไกลด้วยครับ… เห็นด้วยกับผมไหมครับว่า “ชาปีไหน” มีคุณสมบัติโดดเด่นมาก ๆ ๆ เลยครับ เราอาจจะพบเห็นเพียงตัวเดียวหรือเป็นคู่ ๆ น้อยครั้งที่อาจพบเห็นเป็นฝูง อีกทั้งจะไม่ค่อยได้ยินเสียงร้องของ “ชาปีไหน” ครับ …นาน ๆ จะได้ยินเสียงร้องของนกชนิดนี้สักครั้ง…

บริเวณจมูกของนกชาปีไหนมีตุ่มนูนให้เห็น ขนสีเขียว เหลืองและม่วงคละเคล้าผสมผสานอย่างงดงามลงตัว ขนเหล่านี้คลุมส่วนหลังลงมาจนถึงปีกทั้งสองข้างและโคนหาง ส่วนปลายปีกนั้นมีสีดำผสมน้ำเงิน ปลายหางแซมด้วยสีขาว บริเวณลำคอจะมีขนสีเขียวห้อยยาวออกมาเหมือนสร้อยคอ ขนบริเวณนี้จะยาวขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้น มีขาที่แข็งแรงและขนาดใหญ่ คล้ายขาไก่ ไว้คุ้ยเขี่ยหาอาหารตามพื้นดินทั่วไป…

สีขนของตัวผู้และตัวเมียจะคล้ายกัน แต่สีขนของตัวผู้นั้นจะโดดเด่นและฉูดฉาดกว่า เพื่อเรียกร้องความสนใจจากตัวเมียในฤดูผสมพันธุ์ นกชาปีไหนมักทำรังอยู่ตามเถาวัลย์ที่หนาแน่นและตามโขดหินต่าง ๆ ไม่สูงจากพื้นดินมากนัก ตกไข่ครั้งละ 1 ฟอง ตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันเลี้ยงลูก จากวันแรกที่กกไข่ จนถึงวันที่ลูกน้อยแข็งแรงและออกจากรังมาโบยบินสู่โลกกว้าง ใช้เวลาโดยประมาณเกือบ 60 วัน แต่หากช่วงไหนอากาศดี อาหารบริเวณถิ่นอาศัยสมบูรณ์ แม่นกบางตัวอาจออกไข่ได้ถึง 2 ฟองเลยทีเดียว…

เป็นไงบ้างครับกับเจ้านกชาปีไหน น่าสนใจและน่าศึกษามาก หากท่านผู้อ่านมีโอกาสมาเยือนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ มาร่วมกันส่องหา “นกชาปีไหน” นะครับ แล้วท่านผู้อ่านจะหลงรักในสีสันงดงามสะท้อนแดดยามสายของ “น้องชาปีไหน”

9/03/66 เวลา 01:56 น.