#ที่เที่ยว

ชาสร้างรอยยิ้ม…ไร่ชาอรักษ Araksa Tea Garden

จุฑาทิพย์ นิลงาม เรื่อง

ธีรพัฒน์ บุปผาพิบูลย์ ภาพ

         ปัจจุบันชาได้รับความนิยมดื่มกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก ทั้งยังมีการนำใบชาและส่วนอื่น ๆ ของต้นชามาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหาร ยารักษาโรค เครื่องสำอางค์ ฯลฯ ชาจึงเข้ามามีบทบาทกับสุขภาพของผู้คนมากขึ้น ในฐานะสาวกคนรักการดื่มชา เราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักแหล่งปลูกชาออร์แกนิกที่ซ่อนตัวอยู่ชายป่าของอำเภอแม่แตง ขับรถไม่ถึงชั่วโมงจากตัวเมืองเชียงใหม่ ก็ได้มานั่งชิลจิบชาหอม ๆ คุณภาพดีกันแล้ว

         ไร่ชาอรักษ (Araksa Tea Garden) เป็นหนึ่งในไร่ชาที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลบ้านช้าง อำเภอแม่แตง คำว่า “อรักษ” อ่านว่า อา-รัก-สะ เป็นคำที่สะกดแบบสันสกฤต แปลว่า “อนุรักษ์” ที่มาของการใช้ชื่อนี้ แต่เดิมผืนดินตรงนี้ปลูกชามายาวนานหลายสิบปี หลักฐานสำคัญที่บ่งบอกคืออายุของต้นชาในไร่ ต่อมาที่นี่ถูกปล่อยร้างจากเจ้าของเดิม ทำให้ต้นชาเติบโตและดูแลตัวเองตามธรรมชาติปราศจากสารเคมีมานานเกินกว่าสิบปี และในวันที่ไร่ชาแห่งนี้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งโดยเจ้าของใหม่ ภายใต้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า “อรักษ” ทางไร่ยังคงรักษาความบริสุทธิ์ของผืนดินและต้นชาเอาไว้ โดยไม่ใช้สารเคมีหรือสารพิษที่เป็นอันตรายต่อพืชและสิ่งแวดล้อมในทุกกระบวนการผลิตชา ทำให้ผลิตภัณฑ์ชาของที่นี่ได้รับการรับรองว่าเป็นออร์แกนิกแท้

         ภูมิประเทศของไร่ชาอรักษอยู่ติดกับผืนป่าบริเวณเชิงเขา ที่ระดับความสูง 520 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีพื้นที่รวม 300 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่ปลูกต้นชาพันธุ์อัสสัม (Camellia Sinensis var assamica) ซึ่งมีต้นกำเนิดสายพันธุ์จากรัฐอัสสัมของอินเดีย ชาวบ้านมักเรียกกันว่า “ชาป่า” หรือ “เหมี้ยง” ต้นชาของทางไร่จะปลูกให้เติบโตระหว่างพื้นที่ว่างของต้นไม้ใหญ่ เพื่ออาศัยร่มเงาไม้ช่วยลดความร้อนและปรับความชื้นให้พอเหมาะพอดี ส่วนด้านในสุดของไร่ชาถูกโอบล้อมด้วยกำแพงภูเขา เมื่อมองในมุมกว้างเป็นภาพแลนด์สเคป จะพบว่าอรักษเป็นไร่ชาที่มีภูมิทัศน์สวยกลมกลืนไปกับธรรมชาติโดยรอบ ต่างจากไร่ชาส่วนมากที่มักปลูกเรียงกันเป็นแถวหรือปลูกลดหลั่นกันเป็นขั้นบันไดอย่างมีระเบียบ ทางไร่ยังแบ่งพื้นที่บางส่วนสำหรับปลูกพืช เช่น ขิง ตะไคร้ และปลูกดอกไม้ เช่น จำปา กุหลาบ อัญชัน เพื่อนำมาผลิตชาสมุนไพรและชาดอกไม้ นอกจากนี้ ยังมีโรงงานผลิตชา ร้านอาหารที่นำใบชามาเป็นวัตถุดิบสร้างสรรค์จานอร่อย และร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากชาตั้งรวมอยู่ในพื้นที่เดียวกัน

         ความมุ่งหวังของการมาเยือนที่นี่ นอกจากการได้จิบชารสชาติดี ยังมีความใคร่รู้การเดินทางของใบชาว่า ตั้งแต่บนต้นจนถึงในถ้วย มีที่ไปที่มาอย่างไร ซึ่งอรักษมีกิจกรรมทัวร์ไร่ชาให้ผู้สนใจได้ทำความรู้จักชามากกว่าการชงและดื่ม โดยเปิดให้เดินชมไร่ชาอย่างใกล้ชิด มีวิทยากรคอยให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการผลิตชา มีการสาธิตและให้ลองเก็บใบชาด้วยตนเอง การสาธิตคั่วใบชาด้วยกระทะบนเตาถ่าน การสาธิตชงชาและทดลองจิบชาชนิดต่าง ๆ ซึ่งกิจกรรมนี้ใช้เวลาเพียงครึ่งวันเท่านั้น และนี่คือเหตุผลหนึ่งที่คนรักการดื่มชาอย่างเราต้องปักหมุดพาตัวเองมาที่นี่

         เมื่อได้เวลาเริ่มกิจกรรมวิทยากรจะพาเดินลึกเข้าไปพื้นที่ด้านในของไร่ชา ด้วยตั้งอยู่กลางธรรมชาติใกล้ผืนป่าและภูเขา ทั้งการงดเว้นใช้สารเคมีภายในไร่ ทำให้ตลอดทางที่เดินไปได้ยินเสียงนกและจิ้งหรีดร้องดังก้องมาจากพงไพรรอบด้าน มีฝูงผีเสื้อบินโฉบมาอวดปีกสวยให้เห็นไม่ขาดสาย เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าดิน น้ำ ลม และผู้คนของที่นี่เป็นมิตรกับธรรมชาติ เมื่อได้ฟังความเป็นไปของไร่ชาอรักษและความรู้เรื่องชาจากวิทยากร ทำให้ทราบว่าทางไร่มีนโยบายจ้างแรงงานท้องถิ่นทำหน้าที่เก็บใบชา และกระจายไปรับผิดชอบในทุกขั้นตอนการผลิตชา ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านพื้นที่ใกล้เคียงและกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งอาข่า ไทใหญ่ ลีซู ถือเป็นการสร้างอาชีพและกระจายรายได้ในพื้นที่ ตรงจุดนี้น่าจะเป็นการสร้างรอยยิ้มให้กับคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งก็คือแรงงานผู้อยู่ต้นทางของกระบวนการผลิตชา

         ระหว่างเดินเก็บใบชาตามคำแนะนำของวิทยากร จึงได้เข้าใจว่าใบชาทุกชนิดเก็บมาจากต้นชาเดียวกัน แตกต่างกันตรงเทคนิดการเก็บและกรรมวิธีในการผลิตหลังจากนั้น ซึ่งจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าเป็นชาตัวไหน เช่น ชาขาว ชาดำ ชาเขียว โดยทางไร่ได้ให้ผู้ทำกิจกรรมได้ลองเก็บใบชาในส่วนยอดบนสุดลงมาจนถึงก้านใบที่ 2-3 ของต้นชา เพื่อนำมาผลิตเป็นชาเขียว Preserve (ชาเขียวแบบคั่วมือ) จากนั้นวิทยากรจะพาเดินนำมาที่โรงคั่วใบชา สาธิตการนำใบชาที่เพิ่งเก็บมาได้ ลงคั่วในกระทะบนเตาถ่าน สลับกับนำใบชากลับขึ้นมาเทลงบนกระด้งไม้ไผ่ เพื่อนวดใบชาด้วยมือทำให้เกิดการบิดม้วนของใบ ก่อนที่จะนำใบชากลับลงไปคั่วในกระทะต่ออีกครั้งจนใบชาแห้งพร้อมที่จะนำไปชงชา ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นกรรมวิธีการผลิตชาเขียว Preserve แบบดั้งเดิม ที่หาชมได้ยากและไม่บ่อยนักที่จะมีโอกาสได้ทดลองทำด้วยตัวเอง

         มาถึงกิจกรรมสุดท้าย คือ การสาธิตชงชาและทดลองจิบชาชนิดต่าง ๆ ไร่ชาอรักษได้คิดค้นผลิตชาชนิดต่าง ๆ ที่เป็นตำรับเฉพาะของตัวเอง เช่น ชาขาว “อรุณ” เป็นชื่อใบชาที่เก็บในตอนเช้าตรู่ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ชาขาว “สายันต์” เป็นใบชาที่เก็บในตอนเย็นก่อนพระอาทิตย์ตก นอกจากนี้ ยังมี “Thai Tea” (ชาดำเบลนด์กับกลิ่นวนิลาและคาราเมล) “Joy Tea” (ชาดำเบลนด์กับดอกจำปา) และชาสมุนไพรซึ่งปราศจากสารคาเฟอีน เช่น “Bluefly” (ตะไคร้กับดอกอัญชัน) “Pai Lin” (ขิงกับดอกอัญชัน) ฯลฯ ระหว่างทดลองจิบชาเป็นช่วงเวลาที่สนุก เพราะได้ลุ้นว่าชาแต่ละชนิดจะมีรสและกลิ่นอย่างไร แม้ว่าชาแต่ละชนิดจะให้รสสัมผัส กลิ่นสัมผัส และคุณประโยชน์ที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่น่าจะมีเหมือนกันนั่นคือ ช่วยสร้างความรู้สึกผ่อนคลาย และอาจสร้างรอยยิ้มเล็ก ๆ ตามมาหลังจากจิบชาโดยไม่รู้ตัว

         ระยะเวลาครึ่งวันกับการพาตัวเองมาอยู่ที่นี่ ทำให้รับรู้ได้ว่าไร่ชาอรักษทำหน้าที่เป็นผู้สร้างและส่งต่อความสุขได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งสร้างการอนุรักษ์ให้ไร่ชาผืนเก่ากลับมามีชีวิตชีวาคงอยู่และสืบไป สร้างแหล่งท่องเที่ยวให้ผู้คนได้มาใกล้ชิดธรรมชาติและรู้จักกับชามากขึ้น สร้างโอกาสสร้างงานเติมรอยยิ้มให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ และสุดท้ายคือสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้ผู้คนด้วยผลิตภัณฑ์ชาออร์แกนิกของทางไร่

 

ไร่ชาอรักษ

โทรศัพท์ 08 7703 7326

เฟซบุ๊ก : Araksa Tea Garden

เว็บไซต์ : www.araksatea.com

กิจกรรมทัวร์ไร่ชา ในช่วงเวลาปกติจัดวันละ 3 รอบ คือ 09.00, 11.00, 14.00 นาฬิกา รับผู้สนใจไม่เกิน 25 คน ต่อรอบ ใช้เวลาทำกิจกรรมประมาณ 3 ชั่วโมง ค่าใช้จ่ายคนละ 650 บาท แนะนำให้สอบถามรอบเวลาทัวร์ที่แน่นอนอีกครั้งและจองล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน ผ่านทางโทรศัพท์หรือกล่องข้อความในเฟซบุ๊ก หากไม่สนใจกิจกรรมทัวร์ไร่ชา สามารถรับประทานอาหารและเครื่องดื่มได้ที่ร้านอาหาร หรืออุดหนุนผลิตภัณฑ์ชาได้ที่ร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึกของทางไร่ ทั้งนี้การเดินชมไร่ชาอนุญาตเฉพาะผู้เข้าร่วมในกิจกรรมทัวร์ไร่ชาเท่านั้น

 

 

9/03/66 เวลา 08:18 น.