#ที่เที่ยว

ต่อลมหายใจ…กระจับปี่ เครื่องดนตรีแห่งราชสำนักสยาม

สุริยะ สิทธิชัย เรื่อง ดาราพร อารีสง่าวงศ์ ภาพ

หากพูดถึง “กระจับปี่” เด็กรุ่นใหม่น้อยคนนักที่จะรู้จัก ยิ่งถ้าไม่ได้อยู่ในวงการดนตรีไทยด้วยแล้ว เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเคยได้ยินได้ฟังการบรรเลงกระจับปี่ที่มีเสียงเป็นเอกลักษณ์และไพเราะจับใจ เนื่องจากผู้เล่นก็มีน้อย โดยเฉพาะช่างทำกระจับปี่ก็แทบจะหาได้ยากแล้ว

กระจับปี่ เครื่องดนตรีโบราณประเภทพิณ จากประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า ได้รับอิทธิพลจากประเทศอินเดียผ่านชวาและขอม เข้าสู่ราชสำนักสยามในสมัยอยุธยา ใช้บรรเลงขับกล่อมพระมหากษัตริย์ในพระบรมมหาราชวัง ในบทละครเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงกล่าวถึงเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า

“จะนิ่งบรรทมไปก็ไม่หลับ แต่พลิกกลับสับสนอยู่บนที่ จึงเสด็จย่างเยื้องจรลี มาเล่นมโหรีสบาย เรียกเอากระจับปี่มาทรงดีด กรายกรีดรัวนิ้วหนุนสาย แต่งจริตบิดเบือนให้เหมือนชาย ทำเพลใหญ่ย้ายเป็นหลายเพลง” แสดงให้เห็นว่า กระจับปี่ได้รับความนิยมอยู่ภายในราชสำนักสยามเสมอมา จนเสื่อมความนิยมและเลิกบรรเลงในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงทำให้วิธีการบรรเลงและวิธีการสร้างกระจับปี่ขาดผู้สืบทอดไป

แต่ในวันนี้ มีผู้สืบทอดลมหายใจของกระจับปี่ให้กลับมาโลดแล่นในวงการดนตรีไทยอีกคำรบหนึ่ง คุณเต้ย-ณัฐพันธุ์ นุชอำพันธ์ เจ้าของ “เรือนวิเศษดนตรี” ตั้งอยู่ที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี แม้จะจบจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ก็มีความสนใจในศิลปะแขนงอื่น ๆ โดยเฉพาะดนตรีไทยและศาสตร์ในการสร้างเครื่องดนตรี เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เกิดขึ้น ทำให้ชีวิตหักเห ต้องออกจากการเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน หันมาจับงานใหม่ คือการทำกระจับปี่ ซึ่งเป็นงานฝีมือที่คุณเต้ยชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และการเป็นนักดนตรีไทยทำให้มีความรู้เรื่องเสียง เข้าใจกายภาพของเครื่องดนตรีที่เอื้อต่อการบรรเลงที่ง่าย อีกทั้งสามารถบรรจงผลิตให้ได้รูปทรงที่อ่อนช้อยสวยงาม

สำหรับการผลิตกระจับปี่ ส่วนสำคัญคือตัวกล่องเสียงและคันทวน ที่ทำจากไม้ได้หลากหลายชนิด เช่น ไม้สัก ไม้ประดู่ ไม้ตะแบก ไม้ขนุน ไม้แก้ว ที่โรงงานวิเศษดนตรีจะใช้ไม้สักขุดเป็นรูปทรงค่อนข้างกลม มีขอบคันทวนเกลาให้เป็นรูปเรียว ส่วนปลายดัดโค้งอ่อนช้อยไปด้านหลัง นำคันทวนเข้าเดือยประกอบเข้ากับกล่องเสียง และปิดหน้ากล่องเสียงด้วยไม้เนื้ออ่อน เจาะร่องรางไหม รูลูกบิด หลังจากนั้นจึงตกแต่งรายละเอียดในส่วนต่าง ๆ พร้อมทำสี ในส่วนประกอบอื่น ๆ ของกระจับปี่ ได้แก่ ลูกบิด 4 ลูก ซุ้ม นม แป้นรั้งสาย จะนำมาติดเมื่อทำเรียบร้อยแล้ว ประกอบเป็นตัวกระจับปี่ที่สมบูรณ์งดงาม

หากผู้สนใจอยากทำความรู้จักกระจับปี่มากกว่านี้ว่ามีเสียงที่ไพเราะจับใจแค่ไหน วิธีดีดเป็นอย่างไร หาชมได้ที่ช่องยูทูบ วิเศษดนตรี ซึ่งเป็นช่องทางที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นการอนุรักษ์ศิลปะด้านดนตรีไทย โดยเฉพาะกระจับปี่ ให้คงอยู่ต่อไปและมีผู้รู้จักมากขึ้น

เรือนวิเศษดนตรี

เลขที่ 49 อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี 18120

โทรศัพท์ 08 1843 7100

เฟซบุ๊ก : วิเศษดนตรีพิพิธภัณฑ์

กรุณานัดหมายการเข้าชมพิพิธภัณฑ์วิเศษดนตรีล่วงหน้า และเข้าชมเป็นกลุ่มตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

12/03/67 เวลา 07:37 น.