#ที่เที่ยว

ลำตะคอง เส้นทางของวันวานสู่พลังงานแห่งอนาคต

พัชรี อินทร์แสง เรื่อง

ธีรพัฒน์ บุปผาพิบูลย์ ภาพ

มิตรภาพที่จมหายแต่ไม่จางหาย” หากได้ยินคำพูดนี้ หลายคนคงเกิดความคลางแคลงใจอยู่ไม่น้อย เว้นเสียแต่ว่าเป็นคนที่เกิดในยุคถนนมิตรภาพสายเก่า หรือถนนสุดบรรทัด ในสมัยที่ยังคงใช้งานได้ดีในการสัญจรจากกรุงเทพมหานครอันเป็นเมืองหลวงของไทย ผ่านเส้นทางของจังหวัดสระบุรี ไปยังปากช่องจนถึงจังหวัดนครราชสีมาในที่สุด ด้วยยุคสมัยที่แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา หลายสิ่งหลายอย่างเกิดการพัฒนาขึ้น ทำให้ถนนสายประวัติศาสตร์เส้นนี้จมหายไปภายใต้เขื่อน “ลำตะคอง” หลงเหลือไว้เพียงแต่มิตรภาพของผู้คนในชุมชนแห่งนี้ที่ไม่เคยจางหายไปตามกาลเวลา

หากไม่ละทิ้งวันวาน จะเกิดวิวัฒนาการได้อย่างไร… เพื่ออนาคตที่ดีกว่า เส้นทางสายประวัติศาสตร์จึงแปรเปลี่ยนเป็นเส้นทางสายพลังงาน เขื่อนลำตะคอง นอกจากจะเป็นสายน้ำแห่งชีวิตที่คอยหล่อเลี้ยงชาวลำตะคองแล้ว ยังเป็นแหล่งกำเนิดพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนาอีกด้วย และเรื่องราวเหล่านี้เป็นเครื่องพิสูจน์อย่างแน่ชัดแล้วว่า วิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นสามารถดำรงอยู่เคียงคู่เทคโนโลยีและนวัตกรรมได้อย่างไร้ที่ติ

สวมบทผู้กล้า ออกตามหาพลังงานแห่งอนาคต

ไม่ไกลจากเขื่อนลำตะคองนัก มีพื้นที่แห่งหนึ่งซึ่งเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ได้รวบรวมเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่คนในชุมชนและคนสัญจรไปมาต่างพื้นที่ ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง EGAT Learning Center, Lam Takong เป็นศูนย์การเรียนรู้ยุคใหม่ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์และเรียนรู้ในด้านพลังงานไปพร้อม ๆ กับเรียนรู้วัฒนธรรมของคนท้องถิ่น

การเล่าเรื่องที่น่าสนใจถูกถ่ายทอดผ่านการสวมบทบาทสมมติเป็น “ผู้กล้า” รับภารกิจในการตามหาพลังงานแห่งอนาคต เพียงแค่ได้ฟังเรื่องราวจากวิทยากรตัวเขื่องอย่าง H-Bot เจ้าหุ่นยนต์ขนาดยักษ์ ก็รับรู้ได้ถึงความสนุกสนาน น่าตื่นตาตื่นใจที่รออยู่ในเบื้องหน้าแล้ว

หลังจากรับภารกิจในลานผู้กล้า หรือโซน 1 เพื่อเป็นการลงทะเบียนผู้เข้าชมแล้ว ก็พร้อมออกเดินทางผจญภัยเพื่อตามหาพลังงานแห่งอนาคต จากโซนนี้จะสังเกตได้ว่าที่ศูนย์การเรียนรู้มีการนำเสนอออกมาในรูปแบบที่น่าสนใจ แตกต่างจากศูนย์การเรียนรู้อื่น ๆ ที่ถ้าหากต้องการลงทะเบียนผู้เข้าชม ก็คงเป็นเพียงแค่การลงชื่อเพื่อบันทึกว่าเคยมาเยี่ยมเยือนเท่านั้น

โซน 2 พื้นที่เรียนรู้ถัดมาที่ฉันรู้สึกประทับใจไม่น้อยไปกว่าโซนแรก นั่นคือภารกิจพิชิตดินแดนพลังงาน หากครอบครัวไหนพาลูกเล็กเด็กแดงมาที่นี่ คงชื่นชอบจนต้องขอแวะเวียนมาอีกรอบเป็นแน่แท้ ด้วยภาพยนตร์เจ็ดมิติที่ฉายผ่านโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ แสง เสียงชัดเจนกึกก้องไปทั่วทั้งบริเวณ เก้าอี้ที่ออกแบบมาให้ขยับโยกย้ายได้ในทุกครั้งที่หน้าจอมีฉากแอ็กชันแสดงถึงการเคลื่อนไหว ดึงดูดให้เรื่องราวบนจอใหญ่ยิ่งน่าสนใจไปอีกหลายเท่าตัว ฉันไม่แปลกใจสักนิด หากที่นี่จะกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ขวัญใจเด็ก ๆ วัยกำลังศึกษา

หลังจากได้ชมภาพยนตร์ วิทยากรผู้มีรอยยิ้มเปื้อนใบหน้าตลอดก็ออกปากชวนทำกิจกรรมสนุก ๆ ในโซน 3 ดินแดนพลังงาน พอฉันได้ย่างกรายเข้ามาก็ต้องรู้สึกประหลาดใจ ตู้เล่นเกมมากมายตั้งเรียงรายราวกับรอให้เด็กสักคนผ่านมาทางนี้ ถึงแม้ฉันจะอายุเกินกว่าวัยที่จะเรียกว่าเด็กได้แล้ว แต่ก็ยังรู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่วิทยากรแสนใจดีพูดแนะนำและให้ความรู้ในจุดต่าง ๆ นอกจากจะได้ความรู้เรื่องพลังงานหมุนเวียนแล้ว ยังได้ออกทั้งกำลังกายและกำลังสมอง จนลืมไปเสียสนิทว่าตนเองไม่ใช่วัยวิ่งเล่นอีกต่อไปแล้ว

โซน 4 ดินแดนพลังงานแห่งอนาคต เป็นโซนที่ไขข้อสงสัยตลอดการผจญภัยที่ผ่านมาว่าพลังงานแห่งอนาคตคืออะไร แววตาหลายคู่ที่มองลอดผ่านแว่นสามมิติก็ได้รับคำตอบจากภาพยนตร์ที่ฉาย ข้อมูลที่ได้ทำเอาฉันทึ่งในความสามารถของคนไทย ที่สามารถสร้างสุดยอดนวัตกรรมแห่งแรกของเอเชีย ด้วยการหยิบเอาไฮโดรเจน ส่วนประกอบหนึ่งของออกซิเจนที่เราใช้หายใจเพื่อดำรงชีวิตอยู่ทุกวันมาผ่านกระบวนการคัดแยกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้า

ระหว่างทางเดินเข้าโซน 6 ฉันได้ลอดอุโมงค์ในโซน 5 ภารกิจผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทย ซึ่งเป็นเส้นทางภารกิจท้าทายของ กฟผ. ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและอนาคตว่าเป็นอย่างไร แล้วจึงเดินเข้าสู่โซน 6 ฐานบัญชาการสมดุลพลังงาน ที่อัดแน่นไปด้วยความรู้เรื่องการสร้างสมดุลด้านพลังงาน ทั้งระบบผลิต ส่ง และการใช้ไฟฟ้า เพิ่มคลังความรู้รอบตัวในระดับอาเซียน ไปจนถึงระดับโลกที่หลาย ๆ คนไม่เคยรู้มาก่อน หลังจากที่ฉันได้ฟังวิทยากรบรรยายก็รู้สึกเหมือนกับว่าได้หลุดเข้าไปยังอีกโลกหนึ่งที่น้อยคนนักมักจะรู้

ท้ายที่สุด วิทยากรก็ได้พาฉันไปยังพื้นที่สุดท้าย โซน 7 ม่วนซื่นลำตะคอง ที่รวบรวมเอาแหล่งท่องเที่ยวโดยรอบมาจัดแสดงเป็นแผนที่เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางผจญภัยต่อในพื้นที่ลำตะคอง

สัมผัสของจริง ยิ่งกว่าที่ฟังมา

ได้เวลาเรียนรู้ของจริงแล้ว นี่คงเป็นครั้งแรกในชีวิตของฉันที่ได้สานต่อความฝันในวัยเด็กกับการ “ผจญภัยใต้พิภพ” การผจญภัยครั้งนี้ไม่ใช่การตามล่าสัตว์ประหลาดใต้พื้นโลกเหมือนวรรณกรรมเยาวชนที่เคยอ่านแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นการเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าใต้ดินแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย อยู่ใต้ระดับผิวดินลึกกว่า 350 เมตร เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2537-2542 ใช้ระยะเวลารวมทั้งสิ้นกว่า 10 ปีจึงสร้างแล้วเสร็จ มีการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 250 เมกะวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง รวมกำลังผลิต 500 เมกะวัตต์ ต่อมาจึงได้ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพิ่มอีกจำนวน 2 เครื่อง รวมกำลังผลิตทั้งสิ้น 1,000 เมกะวัตต์ นับว่าเป็นแหล่งกำเนิดพลังงานไฟฟ้าอีกหนึ่งแห่งที่สำคัญในประเทศไทย

หลังจากฟังคุณธนิษฐา วิชาเทพ หัวหน้าแผนกประชาสัมพันธ์และชุมชนสัมพันธ์โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา เล่าถึงประวัติความเป็นมาจนรู้ซึ้งถึงที่มาของโรงไฟฟ้าแห่งนี้แล้ว คุณโบรินทร์ ศรีมงคล นักวิทยาศาสตร์ ระดับ 7 แผนกประชาสัมพันธ์และชุมชนสัมพันธ์โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา ก็ได้พาเยี่ยมชมบรรยากาศภายในโรงไฟฟ้า ซึ่งมีจุดเช็กอินถ่ายภาพบริเวณอุโมงค์ทางเข้าโรงไฟฟ้าที่นักท่องเที่ยวทุกคนต้องแวะถ่ายภาพ นั่นก็คือภาพวาดสามมิติที่บริเวณพื้นอุโมงค์นั่นเอง

ผจญภัยที่เมืองใต้พิภพแล้วก็ได้เวลาออกเดินทางไปผจญภัยที่เมืองลอยฟ้าต่อ จะเป็นที่ไหนไปไม่ได้เลยนอกเสียจากอ่างพักน้ำตอนบน โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา หรืออ่างพักน้ำเขายายเที่ยง เป็นอ่างพักน้ำสำหรับสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองมากักเก็บน้ำไว้ในเวลากลางคืนช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าน้อย และปล่อยน้ำลงสู่เขื่อนลำตะคองเหมือนเดิมในเวลากลางวันเพื่อผลิตไฟฟ้าไว้ใช้งานในเวลาที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสูง

กิจกรรมหลักที่นักผจญภัยทั้งหลายไม่ควรพลาดคือการปั่นจักรยานชมวิวเขายายเที่ยงและทุ่งกังหันลมลำตะคอง นอกจากพลังงานน้ำแล้ว พื้นที่แห่งนี้ยังมีพลังงานลม เป็นพลังงานสำคัญที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าอีกด้วย กังหันลมสูงใหญ่ แต่งแต้มสีขาว ดูเด่นเป็นสง่า ยืนตั้งตระหง่านเรียงรายท้าทายลม นับว่าเป็นฉากหลังที่สวยงามไม่แพ้วิวเขายายเที่ยงเลย ใครที่อยากสัมผัสบรรยากาศลมพัดเย็นสบายตลอดทั้งปี แนะนำว่าให้มาที่นี่ ยิ่งบรรยากาศหลังฝนตกใหม่ ๆ ทำให้ทิวทัศน์ของภูเขาอันเขียวชอุ่มแกมบ้านเรือนน้อยใหญ่ริมฝั่งที่ถูกคั่นด้วยเขื่อนลำตะคอง ลมพัดยอดหญ้าโอนเอนลู่ไปมาตามแรงลม บวกกับหมอกจาง ๆ ที่ลอยผ่านทุกครั้งเมื่อยามเราเพิ่มแรงสุดฝีเท้าเพื่อออกแรงปั่น เป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจจนไม่รู้ลืม กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ได้รูปคู่กับมุมนั้นมุมนี้ติดกล้องกลับมาอยู่มากโข

หลังจากใช้แรงไปพักใหญ่ ก็พลันนึกขึ้นได้ว่ากองทัพมักต้องเดินด้วยท้อง ฉันมองไปรอบ ๆ เห็นร้านรวง บ้างขายผลิตภัณฑ์ชุมชน บ้างขายอาหารและของว่างสำหรับรับประทานเล่น เรียกได้ว่ามีทุกอย่างให้เลือกสรร เห็นแบบนี้แล้วฉันไม่รู้สึกเสียดายที่ใช้แรงทั้งหมดไปกับการปั่นจักรยานเลย

ร้านค้าทั้งหมดนี้ หลังจากสอบถามคุณธนิษฐาได้ความว่า “ร้านค้าและสถานีจักรยานท่องเที่ยวบ้านเขายายเที่ยงเป็นการสร้างรายได้ของชุมชน คนในชุมชนเขาทำกันเอง รวมกลุ่มกันทำ ร่วมมือกันทำ จนกลายมาเป็นรายได้เสริมเพื่อนำไปต่อยอดเป็นอาชีพและเป็นรายได้สำหรับพัฒนาชุมชนต่อไป”

พอได้ฟังแบบนี้แล้ว ฉันรู้สึกว่าอยากกลับมาเยี่ยมเยือนที่นี่บ่อย ๆ หากมีโอกาสได้มาอีกครั้งก็คงนับเป็นครั้งที่สามก็ว่าได้ เพราะฉันได้เดินทางมาที่นี่เป็นครั้งที่สองแล้ว แม้จะเป็นการมาซ้ำ แต่กลับได้รับประสบการณ์และความประทับใจที่ไม่เหมือนกันเลยสักครั้ง

ใครที่ยังไม่เคยมาที่นี่ ฉันขอบอกต่ออย่างจริงใจเลยว่าลำตะคองทางผ่านที่ใครหลาย ๆ คนมักใช้เป็นจุดพักรถชั่วครั้งชั่วคราวมีอะไรดีมากกว่าที่หลาย ๆ คนรู้ เปลี่ยนจากการปักหมุดไปในสถานที่ท่องเที่ยวไกล ๆ ลองเลื่อนหมุดมาสิ้นสุดที่ “ลำตะคอง” ดูบ้างสิ รับรองว่าทริปนี้ไม่มีคำว่าผิดหวังอย่างแน่นอน

 

คู่มือนักเดินทาง

ที่กิน

ร้านอาหารบ้านไร่ปลายเนิน ร้านอาหารพื้นบ้าน รสชาติดี มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน บรรยากาศทิวเขาและธรรมชาติ มีพื้นที่รองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก โทรศัพท์ 0 4475 6915เฟซบุ๊ก : ร้านอาหารบ้านไร่ปลายเนิน

ร้านบ้านผักหวานลานจันทร์-ครัวดาบเล็ก ร้านอาหารถิ่นรสเลิศ บรรยากาศดี มีหลากหลายเมนูให้เลือกสรร โทรศัพท์ 08 5833 3722 เฟซบุ๊ก : บ้านผักหวานลานจันทร์-ครัวดาบเล็ก

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครราชสีมา โทรศัพท์ 0 4421 3666

9/03/66 เวลา 04:23 น.