#ที่เที่ยว

เที่ยววัดสองฝั่งคลองจอมทอง

 

ชตาทิพย์ อำพันทอง เรื่อง

ชื่นจิตต์ เจริญจิตต์ ภาพ

 

สองฝั่งคลองในเขตจอมทองยังมีวัดวาอารามและแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจให้แวะชมอยู่ไม่น้อย เช่นที่คลองด่าน (คลองสนามชัย) มีวัดสำคัญที่น่าสนใจได้แก่ วัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอก เป็นวัดเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เดิมชื่อวัดจอมทอง ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัด เสด็จมาคุมงานและทรงตรวจตราการก่อสร้างด้วยพระองค์เอง โดยกำหนดรูปแบบการก่อสร้างพระอุโบสถ พระวิหาร พระระเบียง และศาลาการเปรียญเป็นศิลปกรรมแบบพระราชนิยม ซึ่งมีการผสมผสานระหว่างศิลปกรรมไทย-จีน เช่น หลังคาเป็นแบบจีน แต่มุงกระเบื้องสีแบบไทย ไม่มีช่อฟ้าใบระกา หน้าบันประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีต่าง ๆ ซุ้มประตูหน้าต่างประดับด้วยกระเบื้องสี เมื่อแล้วเสร็จได้น้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 พร้อมขอพระราชทานนามวัด ได้รับพระราชทานนามใหม่ว่าวัดราชโอรสา ต่อมาได้มีการสถาปนาเป็นพระอารามหลวง นามวัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร

นอกจากความงดงามที่เรามองเห็นกันตั้งแต่ซุ้มประตู พระอุโบสถ พระวิหาร และศาลาการเปรียญ ที่ประดับประดาด้วยกระเบื้องเคลือบสีสันสดใสลวดลายงดงามแล้ว ภายในวัดยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง เช่น พระอุโบสถ ที่มีพระพุทธอนันตคุณอดุลญาณบพิตร ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีสีทองอร่าม สร้างสรรค์อย่างประณีตงดงามด้วยฝีมือช่างสมัยรัตนโกสินทร์ ข้างองค์พระประธานมีภาพวาดของรัชกาลที่ 3 ประดับอยู่ ด้านข้างพระอุโบสถมีพระแท่นที่ประทับของรัชกาลที่ 3 อยู่ใต้ต้นพิกุล เมื่อครั้งเสด็จมาทรงคุมงานบูรณปฏิสังขรณ์วัด ด้านหลังพระอุโบสถมีสถูปรูปทรงแบบจีนตั้งอยู่

ถัดไปทางด้านซ้ายของพระอุโบสถคือวิหารพระยืน ด้านในมีหลวงพ่ออู่ทอง พระพุทธรูปยืนสมัยอยุธยา ส่วนด้านขวาของพระอุโบสถเป็นศาลาการเปรียญ หรือวิหารพระนั่ง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปนั่ง ปางประธานพระธรรมเทศนา

พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์นารถชนินทร์ ชินสากยบรมสมเด็จ สรรเพชญพุทธบพิตร ที่มีการทำลวดลายมงคล 108 แบบเดียวกับพระพุทธไสยาสน์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ ต่างกันตรงที่นี่ใช้เทคนิคลายรดน้ำ ส่วนที่วัดโพธิ์ใช้เทคนิคฝังมุก ที่คล้ายคลึงกันอีกอย่างหนึ่งคือที่นี่มีแผ่นจารึกตำรายา หาชมได้ที่บริเวณกำแพงด้านนอกระเบียงคด

ด้านหนึ่งของวัดตรงบริเวณใกล้กันคือทางรถไฟ ที่มีรถไฟสายวงเวียนใหญ่-มหาชัยวิ่งผ่าน เราเดินข้ามสะพานทางรถไฟที่เชื่อมต่อสองฝั่งคลอง แล้วลัดเลาะผ่านบ้านเรือนริมคลองเพื่อไปยังวัดนางนอง วรวิหาร พระอารามหลวงชั้นตรี ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงกันข้าม

วัดนางนองได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เนื่องจากเป็นวัดที่อยู่ในแถบนิวาสสถานของสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระนามเดิมเจ้าจอมมารดาเรียม พระราชชนนีในรัชกาลที่ 3 มีการบูรณะในรูปแบบผสมผสานศิลปะไทย-จีน ประดับประดาหน้าบันพระอุโบสถและวิหารเด่นชัดด้วยลวดลายแบบจีน ประตูกำแพงแก้วที่เข้าสู่ตัววิหารเป็นทรงกลม อีกทั้งบานประตูพระอุโบสถก็เป็นศิลปะแบบจีนเช่นกัน

เราแวะพระอุโบสถ กราบสักการะพระพุทธมหาจักรพรรดิที่สร้างอย่างประณีตงดงาม ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีลวดลายละเอียด ผ้าทิพย์ที่ทอดยาวลงมาจากฐานชุกชีหล่อด้วยโลหะเป็นลายพฤกษาดูอ่อนช้อยงดงามเช่นกัน เหนือบานหน้าต่างโดยรอบประดับด้วยภาพเขียนกระจกจากประเทศจีน ด้านข้างของพระประธานมีภาพของรัชกาลที่ 3 ประดับเช่นเดียวกับที่วัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร แม้ในเวลานี้ผนังด้านหนึ่งของพระอุโบสถยังอยู่ในขั้นตอนการบูรณะ แต่ผู้ที่ศรัทธาก็สามารถเข้ามาสักการะพร้อมชมความงดงามได้

ห่างไปอีกไม่ไกลในย่านเดียวกันคือวัดหนัง ราชวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นตรี สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยมีหลักฐานสำคัญคือระฆังหล่อด้วยโลหะสำริด ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 หรือพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระแห่งกรุงศรีอยุธยา

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือพระวิหาร หรือที่เรียกกันว่าพระวิหารพระเจ้า 5 พระองค์ ภายในวิหารผนังทาสีขาว ไม่มีการตกแต่งใด ๆ มีกระเบื้องกรุแบบจีนกั้นกลางวิหาร ด้านหน้ามีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่ 1 องค์ เดินผ่านผนังกระเบื้องกรุเข้าไปด้านหลังเป็นที่ประดิษฐานของพระประธานปางมารวิชัยบนฐานชุกชี ศิลปะอยุธยา ทำจากหินทรายแดงแกะสลักเป็นแกนแล้วปั้นปูนทับ ลงรักปิดทอง หน้าองค์พระประธานมีพระพุทธรูปโลหะลงรักปิดทองเรียงเป็นแถวอยู่ 5 องค์ สันนิษฐานว่าเดิมวิหารแห่งนี้เคยเป็นพระอุโบสถมาก่อน

ภายในวัดหนังยังมีสิ่งที่น่าสนใจอย่างพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาวัดหนังราชวรวิหาร เรือนไทยสองชั้นที่เคยเป็นกุฏิพระได้ปรับเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ชั้นล่างบอกเล่าเรื่องราวและประวัติความเป็นมา ข้าวของเครื่องใช้ และเครื่องไม้เครื่องมือทางการเกษตร พาหนะเดินทาง การจำลองวิถีชีวิตความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อมของชุมชนในแถบนี้ เรียกได้ว่าเข้ามาที่นี่เราจะได้เห็นภาพรวมของพื้นที่สวน วิถีชีวิตชาวบ้าน และบรรยากาศในอดีต

ด้านบนจัดแสดงข้าวของที่มีความเกี่ยวข้องกับวัดหนัง ตั้งแต่ป้ายชื่อวัดในสมัยที่ยังเป็นจังหวัดธนุบรี ตำรายาไทย การรักษาโรค และการปรุงยา ตู้เก็บคัมภีร์ใบลาน หนังสือเรียน และเครื่องอัฐบริขารของพระสงฆ์ ด้านในสุดเป็นห้องที่ประดิษฐานหุ่นขี้ผึ้งพระภาวนาโกศลเถร (หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร) พระเกจิชื่อดังซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธา รวมทั้งภาพถ่ายและข้าวของเครื่องใช้ประจำตัวของท่าน

เราไปหยุดกันที่จุดสุดท้าย คือเรือนไม้ริมน้ำนามถิ่นไพบูลย์ ตั้งอยู่ริมคลองด่าน (คลองสนามชัย) ร้านถิ่นไพบูลย์จำหน่ายเครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ ที่มีมาเนิ่นนาน ภายในร้านยังมีข้าวของแบบดั้งเดิมจำหน่าย เช่น เตาอั้งโล่ ภาชนะดินเผา หม้อเคลือบ มีด ตุ๊กตาชาววัง ไม้พายเรือ ศาลพระภูมิไม้ ฝาโอ่งอะลูมิเนียม ครกหินและดินเผา นอกจากนี้ งอบยังเคยเป็นสินค้าขึ้นชื่อในคลองแถบนี้ พี่นอม-กฤษณวรรณ กิติผดุง เจ้าของร้านถิ่นไพบูลย์เล่าให้ฟังว่า “ร้านเปิดอยู่ตรงข้ามตลาดน้ำวัดไทรตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 สมัยก่อนใช้การสัญจรทางน้ำเป็นหลัก ในช่วงที่มีตลาดน้ำที่นี่จะคลาคล่ำไปด้วยพ่อค้าแม่ขายที่พายเรือนำของจากในสวนออกมาขาย งอบเป็นเครื่องใช้ที่นิยมใส่กันแดดเวลาพายเรือมาขายของ ชาวบ้านที่มีฝีมือในการเย็บงอบได้นำมาขายที่ตลาดน้ำวัดไทรและส่งขายที่ร้าน” เวลานี้เราเห็นงอบหลายใบวางโชว์อยู่ภายในร้าน เป็นเครื่องยืนยันถึงความเจริญรุ่งเรืองในสมัยนั้น

เขตจอมทองยังมีเรื่องราวอีกมากมายให้ค้นหา ขึ้นอยู่กับว่าระหว่างเส้นทางที่เราผ่านนั้นได้พบเห็นสิ่งใดบ้าง

คู่มือนักเดินทาง

การเดินทาง

รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียวเข้ม (สายสีลม) สนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า ลงที่สถานีวุฒากาศ แล้วต่อรถสาธารณะ ค้นหารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.bts.co.th

รถไฟ สามารถใช้บริการรถไฟสายวงเวียนใหญ่-มหาชัย ลงที่สถานีจอมทองซึ่งตั้งอยู่หลังวัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร ค้นหารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.raiway.co.th

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

เรือรับจ้างในคลองบางประทุน ติดต่อสอบถามพี่หลิม โทรศัพท์ 08 6883 7555

9/03/66 เวลา 12:17 น.