#ที่เที่ยว

แผ่นดินใต้หลังคาดาว กลางหุบเขาบ้านป่าหมาก


คืนค่ำปรับเปลี่ยนหน้าตาไปตามการเคลื่อนที่ของเราเอง มันอาจคล้ายการเอาตรรกะธรรมดามาปรุงแต่งด้วยถ้อยคำสะสวย แต่ว่าก็ว่าเถอะ มันเป็นเช่นนั้นจริง ๆ กับคนที่หลงใหลการพาตัวเองออกไปสู่โลกกลางแจ้งเท่าที่โอกาสในชีวิตจะเป็นได้

กับบางคน หลายหนทาง หลากจุดหมาย ล้วนก่อร่างจนคล้ายเป็นรอยสักจารึกภาพการเดินทาง แต่สำหรับบางชีวิต “การเคลื่อนที่” นั้นอาจเป็นคนละเรื่องกับการเดินทาง สิ่งใดกันแน่จะพิสูจน์ได้ว่า ระหว่างระยะไมล์สะสมที่มากขึ้นกับทิศทางที่ถูกที่ควรสำหรับการก้าวไป ชีวิตต้องการอะไรมากไปกว่ากัน 

กลางหุบเขาชายแดนตะวันตก วันที่สายลมหนาวเริ่มทักทาย มันเป็นอีกครั้งที่หนทางสายเดิมย้ำเตือนให้ใครสักคนได้รู้ว่า หน้าตาของ “โลกภายนอก” ระหว่างกันและกันล้วนแตกต่าง และคงไม่มีใครคิดจะเอามันมาเปรียบเทียบ

ลานแคมป์ใต้หลังคาของดวงดาวริมห้วยตะลุยแพรกสายที่ชมจันทร์ในป่าหมาก ฟาร์มสเตย์

 

เกือบสิบปีมาแล้ว เราเคยใช้ “ทางยาก” เข้ามาถึงป่าเขาชายแดนไทย-พม่าแถบประจวบคีรีขันธ์แถบสามร้อยยอดแห่งนี้ ใครสักคนจากปลายน้ำเตาะแตะโฟร์วีลคันเล็กไปตามทางฝุ่น ข้ามห้วยสายสวยหลายต่อหลายรอบ ก่อนจะมาพบว่า หมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ขอบเขตสันเขาตรงหน้าน่าหลงใหล

ระหว่างทางไปสู่บ้านป่าหมากเต็มไปด้วยมุมของถนนสวย ๆ ที่ผ่านการลาดยางเรียบกริบ หลายหมู่บ้านตกแต่งสองข้างทางด้วยดอกไม้สีสด

 

มากไปกว่ามาเยือน เขาผูกมิตรกับผู้คนตรงนั้น เลือกที่ดินสักแปลงให้เหมาะกับความฝันบั้นปลาย ลงทุเรียนและผลไม้ และไม้ใหญ่หลากหลาย หมายมั่นจะให้มันเป็นบ้านไร่ที่อยู่ร่วมไปกับผู้คนเล็ก ๆ ตรงชายแดน

วันเวลาพ้นผ่าน ผู้คนและพืชพรรณเติบโตไปในความเปลี่ยนแปลง เรากลับมาเยือนป่าเขาแถบนั้นอีกครั้ง เพียงเพื่อที่จะพบว่า ความฝันของใครคนนั้นเติบโตมาเคียงคู่กับชีวิตที่ดีขึ้นของหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ราวกับในนิทานเมื่อสิบกว่าปีก่อน

ดาวเดือนเคลื่อนอยู่หลังม่านเมฆในคืนหนาว ลำห้วยหลากไหลพึมพำ ความเป็นจริงตรงหน้ารอการบอกเล่าเมื่อแสงแรกโผล่พ้นสันเขา อาบฉายลง ณ บ้านป่าหมาก หมู่บ้านของคนปกาเกอะญอตรงชายแดนแห่งนี้ชัดเจนด้วยความอบอุ่นและการเติบโต

บ่ายวันแดดสดและป่าเขาในเขตเทือกตะนาวศรีโอบล้อมเราไว้รอบด้าน ทางหลวงหมายเลข 3218 บ่ายตัวเองจากเส้นบายพาสหัวหิน เลยบ้านหนองพลับมาไม่ไกล ตรงกิโลเมตรที่ 44 ก่อนถึงบ้านป่าละอูน้อย เราตีไฟเลี้ยวซ้ายและเคลื่อนผ่านตามกันไปผ่านบ้านห้วยไทรงาม บ้านคอกช้างใหญ่ บ้านบึงนคร ถนนราบเรียบจนแทบนึกภาพทางลูกรังฝุ่นแดงในอดีตไม่ออก

กายภาพรอบด้านแผ่ขยายด้วยชุมชนชาวไร่ ทั้งสับปะรด ข้าวโพด และมันสำปะหลัง ไกลตาคือปราการของทิวเขาและป่าไม้ในเขตป่ากุยบุรีและต่อเนื่องไปยังผืนป่าอื่น ๆ ภาพการอยู่กินตามชายขอบพื้นที่อุทยานฯ เปลี่ยนแปรเป็นความชัดเจนในการแบ่งสรรพื้นที่ระหว่างป่ากับชุมชน

ชีวิตชายป่าเปลี่ยนหน้าตาไปไม่น้อยยามที่เขาเลือกปักหลักทำกิน ไร้การเร่ร่อนรุกทำลายผืนป่าที่โอบอุ้มชีวิตมาหลายรุ่น หนทางขรุขระจากด้านนอกกลายเป็นราบเรียบและนำเรามุ่งลึกเข้าไปเรื่อย ๆ ลุงปกาเกอะญอที่บ้านคลองน้อยซึ่งเราเคยแวะซื้อเสบียงยังคงยิ้มร่าในร้านค้าเล็ก ๆ หนทางนิรนามในอดีตไม่หลงเหลือรูปรอย ถูกกำหนดเลขถนนซึ่งนำมาสู่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เราไปถึงบ้านท่าไม้ลาย จุดที่เป็นเหมือนแยกใหญ่ในป่าลึก ทางหนึ่งมุ่งหน้าขึ้นไปยังบ้านแพรกตะคร้อ ใครสักคนเอ่ยถึง “หุบกาฮัง” ทางออฟโรดที่ยังคงความดิบเถื่อนสำหรับคนหลงรักการขับรถในผืนป่า

ผู้คนตรงรอยต่อระหว่างสามอำเภอ คือ ปราณบุรี กุยบุรี และสามร้อยยอด ที่บ้านท่าไม้ลายและแพรกตะคร้อตรงกิโลเมตรที่ 64 ดูจะเป็นความคึกคักตามแบบฉบับชุมชนที่พอเห็นได้ท้าย ๆ เส้นทาง เราแยกซ้ายและทิ้งแนวเสาไฟฟ้าอันมาสิ้นสุดลงที่นั่น ข้ามห้วยตะลุยแพรกขวาไปง่าย ๆ ด้วยสะพานซีเมนต์ไม่เหมือนสิบปีก่อน สายน้ำหลากไหลผ่านโตรกหิน มองลึกไปถึงที่มากลางป่าลึกเร้นที่เป็นฉากหลังยังดูสงบขรึมขลัง

อากาศเย็นชื่นยามลดกระจกลงและปล่อยให้สายลมข้างนอกหน้าต่างทายทัก ความโดดเดี่ยวกันดารเลือนหายไปบ้างตามการเติบโตและวันเวลา ทว่าเรื่องราวของการผจญภัยที่ยังหลงเหลือก็คล้ายยังชัดเจนอยู่บนหนทางไปสู่ชายแดนไทย-พม่า ณ พิกัดนี้

ริมห้วยตะลุยแพรกซ้ายอันมีต้นน้ำไหลมาจากป่าเขาชายแดน ใครคนหนึ่งที่เคยพาเรามาถึงที่นี่เชื้อเชิญให้เราแวะลงในที่ดินผืนเดิม แผ่นดินที่เขาค่อย ๆ เปลี่ยนมันเป็นสวนผลไม้และบ้านริมห้วยกลางหุบเขา

จากที่ไร่รกร้างริมลำห้วย สิบกว่าปีก่อนที่สุวรรณชัย พานิช และเพื่อนรุ่นน้องห้อรถผ่านทางดินแดงนิรนามเข้ามาถึงบ้านแพรกตะลุย ที่ตอนนั้นยังเป็นหมู่บ้านสุดท้ายบนที่ราบกลางแนวเขาตะนาวศรี เพื่อนบ้านทั้งชาวปกาเกอะญอและคนทำไร่หลากหลายที่มาที่เข้ามาถึงที่นี่ก่อนเขาล้วนเห็นว่า ชายวัยกลางคนจากชะอำคนนี้หลงรักที่ดินผืนนี้มากเพียงใด

“ตอนนั้นก็เหมือนคนอื่น ๆ แหละครับ อยากได้ที่ดินสักผืนไว้ทำไร่ทำสวนหลังเกษียณจากงานในเมือง” เขาว่าชีวิตในป่ามันเริ่มต้นคล้ายคนอื่น ๆ แต่การมาอยู่นั้นเป็นอีกเรื่อง สุวรรณชัยและรุ่นน้องร่วมปณิธานเวียนเข้าออกไร่กลางเขาร่วมสิบปี จากค่อย ๆ ลงทุเรียน มังคุด และผลไม้นานา ค่อยปรับที่ดิน และเลือกหนทางเกษตรอินทรีย์ให้กับต้นไม้ในไร่ จนวันหนึ่งเมื่อสุขภาพและความอ่อนล้าจากในเมืองผลักดัน ชมจันทร์ในป่าหมาก ฟาร์มสเตย์ ก็กลายเป็นทั้งบ้านและไร่ในหุบเขาให้ชายจากชะอำได้ฝากบั้นปลายชีวิตไว้ที่นี่

เราค่อย ๆ ลงไปที่ริมห้วย เซตแคมป์ในไร่อันแสนโรแมนติก กระแตแต้แว้ดร้องเสียงแหลมยามเสียงเครื่องยนต์เงียบสิ้น เต็นท์และชุดเก้าอี้ถูกเลือกทำเลก่อนมืด สวนทุเรียนด้านบนไล่แถวเป็นแนวแปลง ธารน้ำตะลุยแพรกซ้ายฉ่ำเย็นไหลเอื่อยอยู่แนบใกล้ มื้อค่ำอันแสนพิเศษผ่านพ้นอยู่ตรงลานกว้าง ฟ้าก่อนสิ้นแสงฉายสีม่วงแดงคลุมผืนเขา ตะเกียงและโคมไฟจากโซลาร์เซลล์คือแสงสว่างชั่วคราวก่อนที่ใครสักคนจะค้นพบว่า จันทร์ฉายกลางเดือนมืดค่อนดึกนั้นสว่างนวลและน่าแหงนมองกว่าแหล่งกำเนิดแสงอื่นใด

รุ่งเช้าเราพรากแคมป์หลังจากหมอกชื่นยามเช้าค่อย ๆ เคล้ากาแฟกรุ่นหอม จากพื้นที่ไร่ที่เน้นการทำสวนเก็บผลิตผลแต่เริ่มแรก เมื่อเลือกมาอยู่เป็นบ้าน สุวรรณชัยและคนรักค่อยสร้างค่อยปรับเปลี่ยนจนแทบทุกพื้นที่ในไร่สะอาดสะอ้าน เป็นสัดส่วน เรือนไม้ยกพื้นตกแต่งอย่างเนี้ยบ เป็นร้านกาแฟสดง่าย ๆ น่านั่งเพลินทั้งสายบ่าย ใครสักคนที่เลือกมากางเต็นท์ที่นี่อาจเคยคุ้นจะเรียกเขาว่า “น้าปูด” หรือ “ลุงปูด” จะอะไรก็ตามแต่ เขาคือคนรักงานศิลปะที่เปลี่ยนตัวเองมาสร้างงานศิลป์ผ่านผืนป่า สายน้ำ และการใช้ชีวิตจริงในหุบเขา

เซตแคมป์แบบสมบูรณ์เพื่อประกอบอาหาร

 

ทุเรียนป่าละอูที่โด่งดังในเรื่องรสชาติเรียงรายให้คนมาแคมป์ได้ลองเรียนรู้วิถีเกษตรอินทรีย์ที่สอดแทรกอยู่ในนั้น เดินเล่นริมสวนไปยังป่าไผ่ชายห้วย ผูกเปลรับลมเย็น ก่อนกลับมาที่ลานแคมป์ ปรุงอาหารง่าย ๆ ด้วยตัวเอง หรือเลือกฝากท้องไว้กับน้าปูดก็ตามสะดวก อดีตเจ้าของร้านผัดไทยครัวปีกไม้ ร้านอาหารดังแถบชะอำ-หัวหินก็เชี่ยวชาญการหาของอร่อยไว้รับแขกอยู่ไม่น้อย

“ชีวิตในป่าในไร่ฟังดูมันโรแมนติกครับ แต่กว่าจะอยู่กับมันจริง ๆ ได้ก็เหนื่อยอยู่ ไร่แบบคนเมืองกับไร่แบบชาวบ้านเขาทำมันต่างกันมาก” น้าปูดบอกว่าไร่ของเขาและเพื่อนรุ่นน้องนั้นพึ่งพาทั้งผลิตผลไร้สารเคมี การท่องเที่ยวแค้มปิ้ง รวมไปถึงการแปรรูปและสื่อสารกับคนข้างนอกผ่านหลายสิ่งหลายอย่าง นอกเหนือจากเกษตร “มันต่างกับการทำไร่เพื่อขายผลไม้อย่างเดียวครับ แต่เรื่องความรู้ในพื้นที่ แรงงาน หรือพืชท้องถิ่น เราได้จากเพื่อนบ้านแถบนี้ทั้งหมด” ชายหนุ่มสุขุมเสียงนุ่มเย็นเหมือนจะบอกเราว่า ในหุบเขาเต็มไปด้วยสัมพันธภาพของผู้คนหลากหลาย

เกือบสิบปีที่คนจากเมืองชายทะเลโยกย้ายตัวเองเข้ามาอยู่กลางป่าเขา สิ่งใดกันแน่ผลักดันให้เขาก้าวเดินจากถิ่นฐานที่มา เพียงเพี่อจะไปพบพานกับโลกเล็ก ๆ อีกหลายใบที่ซ้อนทับกันอยู่อย่างไร้การรับรู้

บางนาทีที่พยายามค้นหาคำตอบเหล่านั้นเงียบ ๆ ผ่านชีวิตเปล่าเปลือยนิยาม ไร้คำถาม ปราศจากสิ่งที่เรียกว่าตัวตน เขาคนอาจพบค้นพบความหมายของมันผ่านค่ำคืนไร้แสงไฟ ท่ามกลางดวงดาวกะพริบพราย กาแฟกรุ่นโชยหอม อันเป็นยามเดียวกับที่นกกลางคืนบางชนิดร้องระวังไพรอย่างเป็นปกติธรรมดา

ชิมกาแฟสดในร้านไม้สวย ๆ ของน้าปูด

 

จากริมห้วยตะลุยแพรกซ้าย ทางไต่เขาขึ้นลงเพื่อไปให้ถึงสิ่งที่เรียกกันหลวม ๆ ว่าจุดมุ่งหมาย หนทางจากไร่น้าปูดที่แพรกตะลุยเปลี่ยนสัมผัสของผิวถนนไปจนเหมือนที่มันเคยเป็นแต่เดิม ธารน้ำสายแรกทอดผ่านสะท้อนความอุดมชุ่มของป่าเขาตะนาวศรีที่ไหลแรงแม้ในฤดูน้ำน้อย

เรานึกถึงครั้งเก่าที่ค่อย ๆ หยอดรถไปบนหินลอยสีดำคล้ำ โดดดิ้นไปมาก่อนจะผ่านพ้นขึ้นอีกฝั่งธาร รอบด้านร่มรื่นและเงียบงัน นาน ๆ ทีจะมีรถของพี่น้องปกาเกอะญอสวนมาสักคัน ต่างกันบ้างที่ยามนี้ชีวิตคนที่ปลายถนนดินเปลี่ยนแปลงดีขึ้นด้วยการมีสะพานข้ามห้วย ไม่ต้องตัดขาดตัวเองยามน้ำป่าหลากแรง

ถนนดี ๆ สักเส้นคือสิ่งเชื่อมโยงคนของขุนเขาออกสู่ภายนอก หลังจากพวกเขาถูกม่านฝนและหล่มโคลนกักขังให้โดดเดี่ยวตัวเองกลางขุนเขามาตลอดฤดูกาล ข้ามธารที่สองด้วยเวลาและการขับรถแบบเชื่องช้าเช่นเดียวกัน เราก็ใช้เวลาไปกับทางภูเขาที่เหลืออีก 8 กิโลเมตร ไปสู่ป่าเขาและผู้คนที่อยู่กิน ณ พื้นที่ต้นน้ำปราณบุรี

ขี่จักรยานเล่นในสวนทุเรียน

 

เสียงจอแจของเด็ก ๆ เปลี่ยนบ้านกลางป่าให้ดูสดใส เรามาถึงบ้านป่าหมาก หมู่บ้านสุดท้ายชายแดนไทย-พม่า เหนือเขตเขาตะนาวศรีในเขตของอำเภอสามร้อยยอด ชีวิตของผู้คนปกาเกอะญอราว 600 คนของที่นี่ห่มคลุมอยู่ด้วยความเรียบง่าย ศรัทธาทางศาสนาทั้งพุทธ คริสต์ และความเชื่อดั้งเดิมเรื่องผีบรรพบุรุษอันเกี่ยวโยงกับป่าเขา ล้วนหล่อหลอมให้ชีวิตงดงามดำรงอยู่อย่างที่มันควรจะเป็น

สะพานสลิงสีเหลืองสดเชื่อมฝั่งหมู่บ้านและวัดป่าช้างขาว

 

แนวหมากเสียดยอดสูงเด่นไปตามทางเดินเล็ก ๆ ที่เวียนเป็นวงกลมกลางหมู่บ้าน บางหลังยังคงเป็นกระท่อมไม้ไผ่สับฟากมุงตับคล้อ ข้างในทึบทึมทว่าที่ก้อนเส้าไม่เคยจางหายควันไฟ ขณะที่หลายหลังเปลี่ยนแปลงสู่ความมั่นคงแข็งแรงตามชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยการเพาะปลูกพืชผลอย่างกาแฟโรบัสตา หมาก ผลไม้หลากชนิด รวมไปถึงงานจักสานจากหวาย

หวายและไผ่ถูกคนป่าหมากหามาทำงานจักสาน ทั้งใช้เองและส่งลงไปขายเบื้องล่าง

 

จะว่าไป บ้านป่าหมากเพิ่งก่อร่างชุมชนมาไม่นาน จากการอพยพย้ายถิ่นทำกินของพี่น้องชาวปกาเกอะญอจากบ้านสวนทุเรียน แถบทางไปน้ำตกแพรกตะคร้อ ผู้คนอาศัยป่าเพื่ออยู่กินและผูกพันกับมันมาเนิ่นนาน หากแต่ชีวิตกลางป่าเขาล้วนถูกตัดขาดจากโลกภายนอกที่ก้าวเดินแตกต่างกันอย่างสุดขั้วไปลิบลับ

ราวปี พ.ศ. 2547 ยามที่สายพระเนตรของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดผ่านจากมุมมองเหนือป่าเขาตะนาวศรี เมื่อเฮลิคอปเตอร์นำเสด็จหย่อนลงจอด คล้ายชีวิตกลางแดนไพรกลับเย็นชื่นด้วยพระกรุณาธิคุณ

“ตอนนั้นหนูยังเด็ก ป่าหมากเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ โดดเดี่ยว มีเพียงศูนย์ ตชด. มาตั้งระวังภัย คนรุ่นปู่ย่าว่าเราอยู่กันลำบาก” ขนิษฐา อยู่เจริญ ผู้ช่วยผู้ใหญ่สาวของบ้านป่าหมาก เล่าถึงวันวัยในอดีต “พระองค์ดำริให้สร้างโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านป่าหมาก ครูอาสาทั้งที่เป็น ตชด. และคนข้างล่างก็เริ่มขึ้นมาประจำบนนี้ก็คราวนั้น”

จากพระกรุณาธิคุณ สืบต่อถึงงานพัฒนาจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทยอยกันขึ้นมา ปรับเปลี่ยนภาพหมู่บ้านห่างไกลของบ้านป่าหมากให้ก้าวเดินไปอย่างมีจุดมุ่งหมาย พืชพรรณต่าง ๆ ล้วนเกิดขึ้นด้วยการส่งเสริมการยังชีพ กาแฟโรบัสตารวมถึงพืชไร่ต่าง ๆ ได้หยั่งราก และมีนักวิชาการขึ้นมาแนะนำ รวมไปถึงงานฝีมืออันตกทอดอยู่ในลายเลือดของพวกเขา ทั้งผ้าทอผืนสวยมากมายลวดลาย ทักษะการสานหวายเป็นตะกร้า เปล ทั้งหมดหลอมรวมเป็นทางเลือกอีกหนึ่งเส้นที่เคียงคู่ไปกับการเพาะปลูก

จากลานเฮลิคอปเตอร์อันเป็นสนามกว้างหน้าโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านป่าหมากที่มีร้าน Coffee School ร้านกาแฟเรียบง่ายที่ชาวบ้านจัดการกันเองในโรงเรียน เราเดินลัดเลาะห้วยป่าหมากไปตามชีวิตจริงแท้ที่โอบล้อมท้ายบ้าน บางหลังหญิงชราและลูกหลานผลัดกันเหยียบยืนบนคานกระเดื่องของครกไม้ตำข้าวเก่าคร่ำ ลานดินกว้างหน้าบ้านคือแผงตากผลสุกของกาแฟ ไล่ลึกไปตามสันเนินคือสวนกาแฟติดผลสีแดงเข้ม สลับกับสวนหมาก หรือ “ตาหมื่อโอ๊ะ” ในภาษาของพวกเขา ยังไม่นับทุเรียน ที่ต่างรอความหวังในการแปรรูปมาสู่ชีวิต ที่คนบ้านนี้ต่างคาดเดาว่ามันคือความยั่งยืน

สวนกาแฟโรบัสตาในยามออกผลแดงสุกให้ชาวบ้านเก็บมาเข้าสู่ขั้นตอนการทำกาแฟเพื่อยังชีพ

 

เราขออนุญาตหลวงพ่อตั้งแคมป์กันตรงริมห้วยตะลุยแพรกซ้าย หน้าวัดป่าข้างขาว เด็ก ๆ ตามมาเล่นน้ำและช่วยหาผักกูดรวมถึงผักสวนครัว ใครสักคนเปลี่ยนตัวเองจากหนุ่มเมืองกลายเป็นพ่อครัวใหญ่กลางป่าเขา มื้อค่ำแสนพิเศษอีกครั้งด้วยความเงียบงันหนาวเย็น เดือนดาวยังสะท้อนตัวเองลงบนธารน้ำ เสียงสุดท้ายที่ได้ยินหลังบทสนทนาคือฟืนไผ่แตกปะทุ หลังจากนั้นค่ำคืนแสนสงบของบ้านป่าหมากก็หลอมรวมทั้งพี่น้องปกาเกอะญอ ศรัทธาทางศาสนาและความเป็นอยู่ รวมถึงผู้มาเยือนจากพื้นล่างให้หลับใหลไปริมลำธารอันเป็นหนึ่งในต้นน้ำของแม่น้ำปราณบุรี

แคมป์แสนสบายในอากาศเยียบเย็นริมห้วยที่บ้านป่าหมาก

 

นาฬิกาชีวิตของบ้านในหุบเขาคือดวงอาทิตย์และการงานนานา ตั้งแต่เช้าที่สายหมอกยังเรี่ยผืนน้ำ สะพานสลิงสีเหลืองสดที่เชื่อมฝั่งวัดป่าช้างขาวและฝั่งหมู่บ้านของป่าหมากชัดเจนอยู่ด้วยภาพแห่งศรัทธาของผู้คนและพระพุทธศาสนา

พระสงฆ์สองสามรูปยังคงเดินข้ามแนวสะพานไปรับบาตรพี่น้องปกาเกอะญอในหมู่บ้าน มันเหมือนเมื่อสิบปีก่อนไม่เปลี่ยนแปลง ภาพสงบงามกลางแดดอุ่นที่โอบล้อมด้วยป่าเขากว้างไกล แตกต่างกันกับอดีตก็ตรงที่การเติบโตของผู้คนบ้านนี้ชัดเจนขึ้นอย่างน่ายินดี

ตรงลาดผาหน้าวัดป่าช้างขาว เรือนไม้เล่นระดับสร้างขึ้นตรงจุดที่มองเห็นวิวหมู่บ้านได้สวยที่สุด มองไปทางไหนก็เต็มไปด้วยมุมสวยของคนรักการถ่ายรูป ลำห้วยสะท้อนแดดเป็นประกายวิบวับ ป่าเขาเขียวครึ้มตระหง่านเป็นฉากหลัง ตามครัวเรือนของหมู่บ้านมีควันไฟจากครัวลอยล่องในยามเช้า เรือนไม้ตรงนี้ก็เช่นกัน มันกลายเป็นร้านกาแฟที่เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจกันทั้งพระสงฆ์จากวัดเล็ก ๆ ที่เคียงข้างชุมชน ไล่เลยไปถึงเหล่าชาวบ้านผู้ปลูกกาแฟ และการคิดค้นพัฒนาจากกลุ่มผู้นำชุมชนในการเลือกจะดูแลบ้านกลางขุนเขาของพวกเขาด้วยตัวเอง

“หลวงพ่อหวายท่านเป็นคนริเริ่มให้ชาวบ้านทำร้านกาแฟของชุมชนค่ะ ท่านเรียนเจ้าอาวาสว่าอยากใช้พื้นที่ตรงนี้เปิดเป็นร้านกาแฟรับนักท่องเที่ยว ให้พวกเรามีรายได้เพิ่ม” ผู้ช่วยฯ ขนิษฐาบอกถึงพระนักพัฒนาจากพัทลุงรูปนั้น ที่เราเห็นท่านนั่งอยู่ตรงระเบียงเรือนไม้ เด็ก ๆ ในหมู่บ้านรายล้อม ช่วยกันตระเตรียม คั่วเมล็ดกาแฟ บางคนแพ็ก บางคนจดแยกออร์เดอร์ เป็นภาพน่าชื่นใจในยามสาย

สวนกาแฟโรบัสตาที่แทรกซ่อนอยู่ในขุนเขาบ้านป่าหมากนั้น บางส่วนถูกร่นปลายทางให้เหลือแต่ที่วัดป่าช้างขาว วิสาหกิจชุมชนที่จัดตั้งโดยกลุ่มชาวบ้านโดยมีทางวัดช่วยสนับสนุนในหลาย ๆ เรื่อง ปรากฏเป็นภาพชัดเจนนามโรบัสต้าป่าช้างขาว ร้านกาแฟที่ขับเคลื่อนไปด้วยการพัฒนาชุมชนโดยตัวพวกเขาเอง

นานาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกาแฟในนามโรบัสต้าป่าช้างขาว มีขายที่ร้านกาแฟประจำชุมชน

 

“ทางวัดและหลวงพ่อเห็นว่า เราไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการเกษตรแบบเก่าที่ผูกไว้กับนายทุนอย่างเดียวค่ะ เราทำกันเอง พีอาร์กันเอง รายได้ส่วนหนึ่งก็หักเก็บไว้เป็นทุนและดูแลหมู่บ้าน” ผู้ช่วยฯ สาวบอกว่า ทางวัดรับซื้อเชอร์รีกาแฟสดจากชาวบ้านในราคาที่สูงกว่าตลาดเสียอีก แต่ก็ให้พวกเขาเองนั่นล่ะ เข้ามาร่วมบริหารและทำงานในด้านต่าง ๆ เราจึงเห็นภาพตรงหน้าที่เต็มไปด้วยการงาน ทั้งการคั่วมือ จัดส่งตามออร์เดอร์ หรือเปิดขายในร้านกาแฟในมุมสวย ไล่เลยไปถึงเรื่องการจัดการเรื่องการท่องเที่ยวของคนชอบมาแคมป์

“เราแบ่งโซนชัดเจนว่าลานกางเต็นท์อยู่ตรงไหน ไม่รบกวนชาวบ้าน จัดสร้างห้องน้ำห้องท่า ดูแลเรื่องการจัดการขยะ ที่สำคัญคือทำในนามชุมชนทั้งหมด”

เราจากลาบ้านไกลกลางตะนาวศรีกันอย่างยากเย็น เด็ก ๆ เวียนแวะมาหา มุมกาแฟที่มองวิวได้ทั้งวันก็เป็นเลิศ เปลหวายของพี่สาวชาวปกาเกอะญอนั้นงดงามละเอียดลอออย่างน่าทึ่ง ชวนให้นั่งมองการจักสานอันมีชีวิตชีวา

กลางขุนเขาและคดโค้งไม่อาจคาดเดาถึงอะไรก็ตามแต่ที่รอคอยอยู่เบื้องหน้า หลายชีวิตวางแนบตัวเองอยู่กลางความยิ่งใหญ่ของผืนป่า หากภูเขาคือการเปิดช่องว่างให้ใครหลายคนรู้จักเติมเต็มสิ่งที่เรียกว่าชีวิต หนทางของคนบ้านป่าหมากก็อาจไม่ตายตัว ไร้ตัวเลขมากำกับ และอยู่ที่ว่าใครจะแต่งเติมมันลงไปด้วยความคิดความเชื่อประเภทใด

มากไปกว่านั้น คุณค่าคำตอบของแต่ละคนล้วนแปลกแยกแตกต่าง ทว่าก็เป็นตัวของตัวเองอย่างถึงที่สุด

หลังพร้อมกันทั้งใจและรถ เราใช้เส้นทางสายเดิมที่พาเราขึ้นมารู้จักพวกเขา มันไมใช่หนทางแปลกเปลี่ยวอีกต่อไป บางคนจดจำคดโค้งและสันเนินได้พอ ๆ กับที่จดจำรอยยิ้มและมิตรภาพแสนสั้นในถ้อยคำของหมู่บ้านเล็ก ๆ กลางหุบเขาที่เรามาอาศัยแรมนอน

20/02/66 เวลา 05:57 น.