#ธรรมชาติ แบ่ง ๆ กันกิน วรรณชนก สุวรรณกร เรื่องและภาพ หลายปีมาแล้ว ในสมัยที่ผมยังทำงานอยู่ที่จังหวัดบึงกาฬ พอถึงเวลาที่จะได้กลับไปเยี่ยมครอบครัวที่จังหวัดขอนแก่นแต่ละครั้ง ผมมักจะหยุดแวะพักรถระหว่างทางตามไร่นาของชาวบ้าน ถือโอกาสชมนกชมไม้หรือถ่ายรูปไปด้วย สถานที่ที่แวะพักรถบ่อยที่สุดก็คือบริเวณนาข้าวของชาวบ้านแถว ๆ ริมหนองหานกุมภวาปี หรือที่หลายคนเรียกกันติดปากว่าทะเลบัวแดง ในเขตอำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี เพราะว่าสามารถพบเห็นนกในตระกูลกระ ๆ หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นกระจาบทอง กระจาบอกลาย กระจาบธรรมดา กระติ๊ดแดง กระติ๊ดขี้หมู กระติ๊ดตะโพกขาว กระติ๊ดสีอิฐ กระจอกตาล กระจอกบ้าน และกระจอกใหญ่ พูดง่าย ๆ ก็คือ ไปทีไรไม่เคยผิดหวัง ไม่กระใดก็กระหนึ่ง เป็นต้องมีให้เห็นให้ได้ถ่ายรูปกัน บ่ายคล้อยวันหนึ่ง ผมแวะพักรถในระหว่างทางกลับบ้านตรงบริเวณที่นาขาประจำอีกครั้ง ช่วงนั้นเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวในนาพอดี จึงมีบรรดาพี่กระ ๆ ทั้งหลายเสนอหน้ามาให้ได้ถ่ายภาพมากเป็นพิเศษ ผมเลือกที่จะพักรถริมที่นาแปลงหนึ่งซึ่งเห็นว่ามีนกฝูงใหญ่บินขึ้นบินลงนับร้อยตัว พอจอดรถได้ก็รีบคว้ากล้องลงไปตั้งท่ารอถ่ายรูปทันที เพราะกลัวว่านกจะย้ายจุดหากิน หรือไม่ก็ดวงตะวันจะตกดินไปเสียก่อน เลยไม่ได้เข้าไปสวัสดีทักทายกับชาวบ้านราว ๆ 7-8 คน ที่กำลังก้มหน้าก้มตาช่วยกันเกี่ยวข้าวในนาที่อยู่ติดกัน ส่วนบรรดาคุณพี่กระ ๆ ทั้งหลาย ตอนที่ผมลงจากรถเดินไปตั้งกล้องริมนาก็พากันบินแตกฮือแยกย้ายไปเกาะตามป่ากกป่าอ้อที่อยู่ใกล้ ๆ แต่ไม่เกิน 5 นาทีผ่านไป พอไม่เห็นว่ามีอะไรเกิดขึ้น ก็ค่อย ๆ ทยอยกันบินมาลงกินข้าวในนาแปลงเดิมต่อโดยไม่มีทีท่าสนใจทั้งกับผมและชาวบ้านที่กำลังเกี่ยวข้าวอยู่ใกล้ ๆ คะเนดูแล้วก็ไม่น่าจะต่ำกว่า 200 ตัว ส่วนชาวบ้านเองก็ไม่ได้มีทีท่าว่าจะให้ความสนใจหรือขับไล่ฝูงนกที่ลงมากัดกินข้าวเช่นกัน ในเมื่อเจ้าของนาไม่มีทีท่าว่าจะสนใจไล่นก ส่วนนกก็ไม่ได้มีทีท่าว่าจะสนใจคน ก็เลยเสร็จคนถ่ายภาพอย่างผม ที่สามารถถ่ายภาพคุณพี่กระ ๆ ทั้งหลาย ซึ่งวันนั้นส่วนใหญ่จะเป็นกระจาบอกลายกับกระติ๊ดสีอิฐ ที่แท็กทีมพากันรุมหม่ำข้าวในนากันอย่างไม่สนใจใคร ดู ๆ ไปแล้วก็น่าเห็นใจชาวนาไม่น้อย เพราะฝูงนกที่กำลังรุมหม่ำข้าวเบื้องหน้ามีจำนวนน้อยเสียที่ไหน กว่าจะต้องลงทุนลงแรงหว่าน ไถ ดำ ให้ปุ๋ยให้น้ำ ดูแลกันอยู่หลายเดือนจนถึงช่วงเก็บเกี่ยว ก็ดันมีคุณพี่กระ ๆ ทั้งหลายบินเข้ามาขอส่วนแบ่งเอาดื้อ ๆ เสียนี่ ข้าวบางรวงอาจถูกนกกินไม่กี่เมล็ด แต่ที่ร่วงหล่นตกดินเสียหายไปนี่ก็น่าจะมีไม่น้อย ลองคำนวณดูเล่น ๆ สมมุติว่านก 1 ตัว สามารถทำให้รวงข้าวเสียหายได้ 1 รวง แล้วไอ้ที่เห็นเบื้องหน้าประมาณ 200 กว่าตัวนี่จะสร้างความเสียหายต่อวันสักเท่าไหร่ แล้วก็ยังมีข้อสงสัยอีกอย่างที่ค้างคาใจมานานก็คือ ที่นาในบริเวณนั้น ผมสามารถพบเห็นนกกระ ๆ ได้ง่าย และมีจำนวนมากกว่าหลาย ๆ ที่เท่าที่ผมเคยไปสัมผัสมา แสดงว่าชาวบ้านแถวนี้ไม่น่าจะมีการดักตาข่ายล่านกเหมือนที่อื่น แต่สาเหตุที่แท้จริงจะเป็นเช่นไร ผมเองก็ยังคงเก็บไว้เป็นข้อสงสัยอยู่ในใจมาตลอด หลังจากที่เพลิดเพลินถ่ายภาพคุณพี่กระ ๆ ทั้งหลายจนเย็นย่ำ ก็ได้เวลาที่ชาวบ้านเกี่ยวข้าวเสร็จและช่วยกันขนฟ่อนข้าวใส่รถอีแต๊กเตรียมตัวที่จะกลับบ้านกัน แล้วจู่ ๆ ฝูงนกในนาก็พากันบินแตกฮือขึ้นอีกครั้ง เพราะมีคุณลุงคนหนึ่งละจากวงเกี่ยวข้าวเดินมายังที่ที่ผมอยู่ ผมเลยถามทักทายออกไปเพื่อแก้เขิน เพราะรู้สึกละอายใจอยู่เหมือนกันที่นอกจากจะไม่ช่วยไล่นกที่ลงมารุมกินข้าวให้แล้ว ดันมีความสุขกับการถ่ายภาพนกที่ลงมาสร้างความเสียหายให้กับข้าวในนาเสียอีก “สวัสดีครับลุง ปีนี้ได้ข้าวหลายบ่ครับ” ผมเอ่ยคำทักทายคำแรกออกไป “ก็พอได้อยู่ มาส่องกล้องดูนกติ” คุณลุงตอบสั้น ๆ สีหน้าดูเหน็ดเหนื่อยจากงานเกี่ยวข้าวเต็มที “ครับลุง แล้วนาแปลงนี้ยังไม่เกี่ยวบ่ครับ” ผมหมายถึงนาแปลงที่ผมมาถ่ายรูปนกลงกินข้าว “คงอีก 2-3 มื่อ รอให้เกี่ยวแปลงโน้นเสร็จก่อนโน่นแหละ” คุณลุงหมายถึงข้าวแปลงที่กำลังเกี่ยวอยู่ในวันนี้ “แล้วนกลงหลาย ๆ แบบนี้ ข้าวบ่เสียหายหรือครับลุง” อันนี้ผมถามออกไปแบบรู้คำตอบอยู่แก่ใจแล้ว “ก็เสียหลายอยู่แล่ว แต่บ่ฮู่สิเฮ็ดจังได๋ ถือว่าแบ่ง ๆ กันกินก็แล้วกัน” น้ำเสียงของคุณลุงตอบแบบเหนื่อยล้าเต็มที แต่ฟังแล้วดูมีความจริงใจใสซื่อแบบชาวบ้านในชนบททั่วไป ตอบเสร็จลุงแกก็จัดแจงวักน้ำในห้วยเล็ก ๆ เบื้องหน้าที่ยังคงมีน้ำไหลรินขึ้นมาลูบหน้าลูบตา ก่อนเดินกลับไปขึ้นรถอีแต๊กแล้วขับพาสมาชิกพร้อมกองฟ่อนข้าวกลับเข้าสู่หมู่บ้าน ส่วนผมก็ได้เวลาเก็บอุปกรณ์เพื่อที่จะเดินทางต่อเช่นกัน ระหว่างขับรถกลับบ้าน คำพูดของลุงคำนั้นยังคงก้องอยู่ในใจผมไปตลอดทาง จนกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังไม่ยอมจางหาย คำพูดสั้น ๆ แต่เป็นคำตอบที่ยิ่งใหญ่ที่ค้างคาอยู่ในใจมานานว่า นกกระ ๆ ที่ชื่นชอบกินเมล็ดพืชและข้าวในนาแถวนั้น ทำไมยังมีให้เห็นมากกว่าที่อื่น “ถือว่าแบ่ง ๆ กันกินก็แล้วกัน” Post Views: 269 18/05/66 เวลา 07:49 น. บทความที่เกี่ยวข้อง ปลานกขุนทองแดง (Floral Wrasse) ในห้วงของความลึก ณ บริเวณจุดดำน้ำใกล้กับอ่าวช่องขาด บริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา ผมใช้เวลาส่วนใหญ่ของการดำน้ำไล่ไปตามบริเวณพื้นทรายซึ่งอยู่ห่างออกมาจากแนวลาดชัน (Reef Slope) ของแนวปะการัง ภูผาม่าน กับนาฏกรรมบนฟากฟ้ายามสนธยา เย็นย่ำยามตะวันกำลังจะลาลับขอบฟ้า อาจหมายถึงช่วงสิ้นสุดเวลาทำงานของผู้คนส่วนใหญ่ รวมทั้งสัตว์นานาชนิดที่ออกหากินในช่วงกลางวัน แต่สำหรับสิ่งมีชีวิตบางสายพันธุ์ นี่คือสัญญาณเริ่มต้นชีวิตในค่ำคืนใหม่ที่เวียนมาถึงอีกครั้ง ปลาเฉี่ยวหิน สมัยที่ผมยังเป็นเด็ก เมื่อเกือบ 40 ปีก่อน ผมเคยไปยืนดูปลาในตู้ปลาในร้านข้างบ้าน ริมถนนสุขุมวิท แล้วก็ตื่นตาตื่นใจกับปลาตัวเล็ก ๆ สีเงิน ๆ ฝูงหนึ่ง คนขายเรียกมันว่าปลาบอร์เนียว ซึ่งในตอนนั้นผมก็ไม่รู้หรอกว่าบอร์เนียวคืออะไร