#เที่ยวป่าเขา

Green Trip เพชรบุรี

ธีรพัฒน์ บุปผาพิบูลย์ เรื่องและภาพ

         เส้นทางขับรถเที่ยวครั้งนี้ พาไปท่องเที่ยวแบบกรีน ๆ ทั้งกิจกรรมการท่องเที่ยวแบบ Zero Carbon รวมไปถึงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติระดับโลกในแบบที่ไปได้ง่ายและยังอยู่ใกล้เมืองกรุงแค่ 2 ชั่วโมงนิด ๆ ที่จังหวัดเพชรบุรี

         ก่อนจะเดินทางไปด้วยกัน ขอให้ทุกท่านที่มีใจรักการท่องเที่ยวธรรมชาติตระเตรียมอุปกรณ์แค้มปิงของตัวเองกันให้ดี เพราะแต่ละที่นั้นมีจุดบริการสำหรับตั้งแคมป์ที่สวยงามน่าสนใจทั้งสิ้น จุดหมายแบบกรีน ๆ ที่แรกที่เราจะเดินทางไปนั้นอยู่ในพื้นที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ออกจากแนวเส้นทางถนนเพชรเกษมไม่ไกลนัก นั่นคือวนอุทยานเขานางพันธุรัต สถานที่แห่งนี้อาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากนัก แต่ต้องบอกเลยว่าที่นี่สวยงามเกินกว่าจะผ่านเลยไปเฉย ๆ ด้วยพื้นที่โดยรวมที่ได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี มีความสะอาดและเป็นระเบียบมาก อีกทั้งยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติทั้งระยะใกล้ หลักร้อยเมตร ไปจนถึงระยะไกลหลายกิโลเมตร ให้นักท่องเที่ยวเลือกเดิน โดยเฉพาะเส้นทางศึกษาธรรมชาติวนอุทยานเขานางพันธุรัต ระยะทาง 150 เมตร ผู้มาเยือนทุกเพศทุกวัยสามารถเที่ยวได้แบบสบาย ๆ เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจของที่นี่

         นอกจากนี้ อย่างที่เอ่ยไปข้างต้นว่าที่วนอุทยานเขานางพันธุรัตมีลานกางเต็นท์พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวสายธรรมชาติได้มาพักค้างแรมอย่างสะดวกสบายอีกด้วย เรียกได้ว่าครบเครื่องจนได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 25 แหล่งท่องเที่ยวตามโครงการ Unseen New Series 25 เส้นทางขับรถเที่ยวทั่วไทยของ ททท. กันเลย

         และก่อนเข้าสู่วนอุทยานเขานางพันธุรัต จะสังเกตเห็นโบราณสถานแห่งหนึ่ง คือแหล่งโบราณสถานทวารวดีโคกเศรษฐี ร่องรอยของการสร้างชุมชนในพื้นที่แถบนี้ที่ย้อนกลับไปได้ถึงยุคทวารวดี ก็สามารถจอดแวะเยี่ยมชมได้อีกหนึ่งจุด

         ย้อนกลับมาในเขตพื้นที่อำเภอแก่งกระจาน ซึ่งเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวจากการเป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่นี่ยังมีชุมชนเล็ก ๆ ที่เลือกแนวทางการทำการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างชุมชนบ้านถ้ำเสือ ชุมชนท่องเที่ยวด้านการอนุรักษ์ที่เป็นต้นแบบให้กับอีกหลายชุมชนได้เดินตามรอย เป็นที่รู้จักกันในฐานะแหล่งท่องเที่ยวแบบ Zero Carbon ได้รับการจัดการเป็นอย่างดีจากคนในชุมชน

         การทำกิจกรรมท่องเที่ยวที่ไม่สร้างมลพิษ เช่น กิจกรรมล่องแพแม่น้ำเพชรบุรี หรือนกิจกรรมยิงหนังสติ๊กส่งเมล็ดพันธุ์พืชกลับคืนสู่ป่า รวมไปถึงการบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ อย่างแข็งขัน และอีกหนึ่งไฮไลต์ของชุมชนบ้านถ้ำเสือคือการทำกิจกรรมแค้มปิงที่มีผู้ให้บริการหลายพื้นที่ให้เลือกตามความชอบ ซึ่งแต่ละที่ก็มีวิวทิวทัศน์งดงามต่างกันไป แต่ทั้งหมดก็สามารถให้ประสบการณ์การพักผ่อนร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน

         ออกเดินทางจากชุมชนบ้านถ้ำเสือแล้วก็ได้เวลาเดินทางเข้าใกล้ธรรมชาติมากขึ้นที่แค้มป์บ้านกร่าง ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน แค้มป์บ้านกร่างเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวสายธรรมชาติในฐานะของสถานที่แค้มปิงที่สวยงามและแหล่งดูผีเสื้อที่อลังการที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนที่บรรดาผีเสื้อหลากหลายสายพันธุ์จะปรากฏตัวให้เห็นเป็นจำนวนมาก

         ผีเสื้อเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของความหลากหลายทางชีวภาพของกลุ่มป่าแก่งกระจานที่มากจนได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือ UNESCO ให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เมื่อปี 2564 นับเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 3 ของประเทศไทยต่อจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง และกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นการการันตีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติที่นี่ได้เป็นอย่างดี

         ถนนหนทางจากด่านเก็บค่าธรรมเนียมในบริเวณหน่วยพิทักษ์แก่งกระจาน กจ. 2 ไปจนถึงแค้มป์บ้านกร่างเป็นถนนลาดยางที่สะดวกสบาย แต่ก็อยากฝากให้นักท่องเที่ยวปฏิบัติตามป้ายเตือนต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการใช้ความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด เพราะเพื่อนร่วมทางบนถนนเส้นนี้คือเหล่าบรรดาสัตว์ป่าหลายชนิดที่เดินข้ามถนนตามจุดต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ เป็นหน้าที่ที่พวกเราต้องช่วยกันปกป้องพวกเขาให้ปลอดภัยด้วย

         มาถึงสถานที่สุดท้ายก่อนเดินทางกลับ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้เส้นทางที่ผ่านที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีแหล่งท่องเที่ยวให้ได้แวะกัน ทั้งจุดชมวิวเขื่อนแก่งกระจาน หรือสะพานแขวนแก่งกระจาน ที่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวจากภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่อง

คู่มือนักเดินทาง

         จากทางเข้าบริเวณหน่วยพิทักษ์แก่งกระจาน กจ. 2 จนถึงแค้มป์บ้านกร่างนั้นเป็นเส้นทางลาดยางที่รถทุกชนิดสามารถสัญจรได้ แต่ขอให้ใช้ความเร็วตามที่กำหนด เนื่องจากอาจมีสัตว์ป่าที่เดินข้ามถนนตลอดเส้นทาง การใช้ความเร็วเกินกว่าที่กำหนดอาจจะก่อให้เกิดอันตรายกับทั้งคนและสัตว์ป่าได้

 

9/03/66 เวลา 15:37 น.