#ที่เที่ยว

เสน่ห์ความหลัง วังสวนบ้านแก้ว จันทบุรี

ภาคภูมิ น้อยวัฒน์ เรื่องและภาพ

เส้นทางเดินลัดเลาะผ่านใต้ร่มเงาของต้นลั่นทมคล้ายกับประตูย้อนเวลา นำพาผู้มาเยือนย้อนไปสู่อดีตกาล วันเวลาเมื่อครั้ง “วังสวนบ้านแก้ว” เปี่ยมด้วยชีวิตชีวา

นิวาสสถานอันงดงามร่มรื่นแห่งนี้ สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระองค์ทรงผ่านเหตุการณ์สำคัญของสยามประเทศ คือการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชสู่ระบอบประชาธิปไตยโดย “คณะราษฎร” เมื่อปี พ.ศ. 2475 ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จยังประเทศอังกฤษ และเมื่อทรงเห็นว่ารัฐบาลในสมัยนั้นไม่ปฏิบัติตามพระราชปณิธานที่ต้องการจะให้ประชาชนมีสิทธิ์ออกเสียงในนโยบายของประเทศอย่างแท้จริงแล้ว พระองค์จึงทรงประกาศสละราชสมบัติ แล้วเสด็จไปประทับอยู่ในชนบทของอังกฤษ

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้ทรงตามเสด็จพร้อมถวายการดูแลรักษาพยาบาลพระราชสวามี ซึ่งทรงมีพระพลานามัยไม่แข็งแรงอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2484 

ภายหลังจากเสด็จกลับจากอังกฤษ พร้อมด้วยพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงเลือกที่จะประทับที่จังหวัดจันทบุรี ทรงสร้าง “วังสวนบ้านแก้ว” ขึ้นในปี  พ.ศ. 2492 เพื่อเป็นที่ประทับ โดยทรงใช้ทรัพย์สินส่วนพระองค์ซื้อที่ดินบริเวณคลองบ้านแก้ว เนื้อที่ประมาณ 689 ไร่ ซึ่งขณะนั้นยังเป็นป่าดงรกเรื้อ ปราศจากน้ำประปาและไฟฟ้า

ในช่วงเริ่มต้น พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือนไม้ไผ่หลังคามุงจากขึ้นเป็นที่ประทับชั่วคราว แล้วเสด็จประทับแรมครั้งแรกเมื่อวันที่ 20  มิถุนายน พ.ศ. 2493 ก่อนจะสร้างเรือนไม้ขึ้นสามหลัง เรือนหนึ่งทาสีเทา ใช้เป็นที่ประทับเรียกว่า “เรือนเทา” เรือนหนึ่งทาสีแดง เรียกว่า “เรือนแดง” ใช้เป็นที่พักของข้าหลวงผู้ติดตาม และอีกเรือนหนึ่งทาสีเขียว เรียกว่า “เรือนเขียว” ใช้เป็นที่พักของราชเลขานุการ

เรือนเขียวและเรือนเทา

จากนั้นอีก 2 ปีสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักใหญ่ หรือตำหนักเทา เพื่อใช้เป็นที่ประทับถาวร แล้วต่อมาได้มีการสร้างพระตำหนักแดงหรือพระตำหนักดอนแคขึ้นอีกหลังเพื่อเป็นที่รับแขกเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ และที่พักของราชเลขานุการส่วนพระองค์ ในการก่อสร้างโปรดให้ประหยัดด้วยการซื้อเครื่องทำอิฐ แล้วให้ช่างชาวจีนมาสอนคนงานทำอิฐ เผาอิฐ เผากระเบื้องมุงหลังคาขึ้นเอง โดยอิฐที่ทำขึ้นมีสัญลักษณ์เฉพาะเป็นตัวอักษร ส บ ก อันย่อมาจาก “สวนบ้านแก้ว”

ภายในอาณาบริเวณอันกว้างใหญ่ของวังสวนบ้านแก้ว สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงมีพระราชดำริให้ปลูกพืชไร่ พืชสวนครัว และสวนผลไม้นานาชนิด รวมทั้งเพาะเลี้ยงพันธุ์สัตว์ต่าง ๆ หากชนิดใดได้ผลดีก็ทรงนำความรู้เผยแพร่กับราษฎรต่อไป นอกจากนี้ ยังทรงริเริ่มพัฒนาหัตถกรรมพื้นบ้านของชาวจันทบุรีคือ “เสื่อจันทบูร” ทั้งในด้านคุณภาพ สีสัน ตลอดจนการออกแบบ รวมทั้งนำไปใช้ผลิตเป็นเครื่องใช้ประเภทอื่น เช่น กระเป๋าเอกสาร กล่องใส่กระดาษเช็ดมือ  โดยโปรดเกล้าฯ ให้ติดเครื่องหมายการค้ารูปคนหาบกระจาด มีอักษรย่อ ส.บ.ก. ใช้ชื่อว่า “อุตสาหกรรมชาวบ้าน” จนเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายอีกด้วย

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ประทับอยู่ที่วังสวนบ้านแก้วเป็นระยะเวลานาน 18  ปี คือตั้งแต่ พ.ศ. 2493-2511 เมื่อพระชนมายุมากขึ้น ทรงมีพระพลานามัยไม่แข็งแรงนัก จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับมาประทับที่วังสุโขทัยในกรุงเทพฯ เป็นการถาวร แล้วพระราชทานพื้นที่วังสวนบ้านแก้วให้กับรัฐบาลเพื่อก่อตั้งเป็นวิทยาลัยครูจันทบุรี พร้อมพระราชทานตรา “ศักดิเดชน์” ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เป็นตราประจำวิทยาลัย

ต่อมาได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธเบศร์ มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ให้ใช้พระนามาภิไธย “รำไพรรณี” เป็นนามวิทยาลัย และเมื่อพระราชทานนามให้กับวิทยาลัยครูทั่วประเทศว่า “สถาบันราชภัฎ” วิทยาลัยรำไพพรรณี จึงเปลี่ยนมาใช้นามใหม่ว่า “สถาบันราชภัฎรำไพพรรณี” ก่อนจะยกฐานะขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพพรรณี” นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547  เป็นต้นมา โดยได้อนุรักษ์ในส่วนของพระตำหนักและเรือนต่าง ๆ ครั้งสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ประทับอยู่ที่วังสวนบ้านแก้วไว้เป็นอนุสรณ์รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ

สุดทางลาดปลายแนวลั่นทม สถาปัตยกรรมชั้นครึ่ง กึ่งตึก กึ่งไม้ สีเทาทรงยุโรป เด่นตระหง่าน คือพระตำหนักเทา ที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ยังคงรักษาสภาพดั้งเดิมไว้ได้เป็นอย่างดี ถึงขนาดได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี 2545 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ 

บริเวณสถานที่จัดเลี้ยงด้านข้าง จัดแสดงนิทรรศการพระอัจฉริยภาพด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์เสื่อ ภาพถ่ายเก่าของวังสวนบ้านแก้ว บอกเล่าสภาพความเป็นอยู่ภายในอาณาบริเวณวังสวนบ้านแก้วเมื่อครั้งอดีต รถยนต์ส่วนพระองค์แวนการ์ดที่ทรงใช้ไปจ่ายตลาด รวมทั้งเครื่องบล็อกสำหรับทำอิฐซึ่งทรงสั่งซื้อมาจากแอฟริกาใต้

ภายในพระตำหนักได้พยายามอนุรักษ์ให้คงสภาพเหมือนครั้งที่พระองค์ทรงเคยประทับอยู่มากที่สุด พร้อมทั้งรวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ ซึ่งแสดงถึงการใช้ชีวิตที่เรียบง่ายแบบสามัญชนของพระองค์ จัดแสดงเรื่องราวพระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ โดยแบ่งเป็นห้องต่าง ๆ

ชั้นล่าง ในห้องโถงใหญ่ ประดิษฐานพระสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ขนาดใหญ่ ขนาบด้วยพระโกศบรรจุพระเกศาและพระทนต์ ด้านข้างเรียงรายด้วยตู้กระจกจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ ที่ได้รับมอบมาจากวังสุโขทัย ซึ่งเป็นสิ่งของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ที่ใช้ในวังสวนบ้านแก้ว เช่น เครื่องแก้ว เครื่องเบญจรงค์ โดยมีพระนามาภิไธยย่อ รพ. รวมถึงของที่ระลึกส่วนพระองค์จากการประพาสต่างประเทศ ห้องเครื่องฝรั่ง จัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ที่ทรงใช้ในการปรุงพระกระยาหาร เช่น เครื่องครัวฝรั่ง เตาอบ ตู้เย็น

พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ในสวนหน้าพระตำหนัก

ห้องพระสำราญ เป็นที่ตั้งโต๊ะเสวย โดยรอบเป็นตู้กระจกจัดแสดงอุปกรณ์ชุดทรงกีฬา เช่น ชุดอุปกรณ์กอล์ฟ สกี แร็กเก็ตเทนนิสทำจากไม้ที่ทรงใช้ กระเป๋าถือผลิตจากเสื่อกกจันทบูรที่ทรงออกแบบ และแผนผังลำดับราชวงศ์จักรี มุมหนึ่งตั้งจอฉายวีดิทัศน์การสัมภาษณ์เชื้อพระวงศ์ที่เคยอยู่อาศัยใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทเล่าถึงบรรยากาศของอดีตในวังสวนบ้านแก้วให้ชม ติดกันเป็นห้องรอเข้าเฝ้า ซึ่งเป็นเป็นห้องเรือนกระจกเชื่อมต่อกันด้วยบันไดอิฐ 3 ขั้น จัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ในหัวข้อต่าง ๆ  

ห้องนิทรรศการดนตรีพระปกเกล้าฯ เป็นห้องข้างห้องเครื่อง จัดแสดงเครื่องดนตรีไทย รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เช่น เพลงราตรีประดับดาว เพลงเขมรลออองค์ เพลงโหมโรงคลื่นกระทบฝั่ง

ชั้นบนของตำหนักเป็นห้องพระบรรทม จัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ เช่น เตียงบรรทม ชุดโต๊ะทรงพระอักษร ฉลองพระองค์ และเฉลียง ซึ่งสามารถมองเห็นทิวทัศน์สวนภายนอกได้กว้างไกลสวยงาม ซึ่งในห้องนี้ให้ชมจากภายนอกห้องเท่านั้น และไม่อนุญาตให้บันทึกภาพ

ใกล้กับพระตำหนัก เรือนทั้งสามหลังที่เป็นอาคารชุดแรกที่สร้างขึ้นของวังสวนบ้านแก้ว ได้แก่ เรือนเทา เรือนแดง และเรือนเขียว ก็ยังได้รับการอนุรักษ์ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์เช่นเดียวกัน

ถัดจากพระตำหนักใหญ่ขึ้นไปไม่ไกล เป็นที่ตั้งของพระตำหนักแดง สถาปัตยกรรมสองชั้นแบบยุโรป สร้างด้วยไม้สัก ทาสีแดงทั้งหลัง มีอีกชื่อหนึ่งว่า “ตำหนักดอนแค” เนื่องจากหน้าตำหนักปลูกต้นแคฝรั่งเรียงรายอยู่ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักดอนแคขึ้นเป็นที่ประทับรับรองสำหรับเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ และราชเลขานุการส่วนพระองค์ ในช่วงที่หม่อมเจ้าผ่องผัสมณี จักรพันธุ์ พระขนิษฐาของพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งราชเลขานุการ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้เสด็จมาประทับที่พระตำหนักแดงด้วยกัน

ปัจจุบันพระตำหนักแดงใช้เป็นพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมท้องถิ่น ภายในจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับจันทบุรี  ห้องโถงกลางจัดแสดงหัวข้อประวัติศาสตร์ มีภาพวาดสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดจันทบุรีบนผนัง พร้อมทั้งแบบจำลองสถานที่สำคัญของจังหวัดจันทบุรี  

พระตำหนักแดงหรือพระตำหนักดอนแค

หัวข้อชาติพันธุ์จัดแสดงแบบจำลองบ้านเรือนวิถีชีวิตของชาวชองชาวจีน ชาวญวน ชาวกุหล่า และชาวเขมร ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในจันทบุรีและหัวข้อเสื่อจันทบูรผลิตภัณฑ์พื้นบ้านอันเลื่องชื่อ และห้องภูมิปัญญาท้องถิ่น จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้และวิถีชุมชนในการประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ ในการดำรงชีวิตด้วยภูมิปัญญาของตนเอง

ชั้นใต้ดินลงไปจัดแสดงหัวข้อการขุดพลอย ทำเป็นตู้กระจกจัดแสดงพลอยชนิดต่าง ๆ อุปกรณ์เครื่องใช้ในการทำพลอย อันเป็นทรัพยากรสำคัญของจันทบุรี ส่วนชั้นบนจัดแสดงหัวข้อภูมิประเทศโดยมีแบบจำลองพื้นที่ให้เห็นอย่างขัดเจน และหัวข้อนาฏศิลป์และการแสดงพื้นบ้านอันเป็นเอกลักษณ์ของจันทบุรีอย่างเท่งตุ๊ก และเพลงซัดชาตรี รวมทั้งเครื่องดนตรีและอุปกรณ์ประกอบการแสดง

ทางทิศตะวันตกของพระตำหนักแดงยังมีพระตำหนักน้อย บ้านรับรองสำหรับพระราชวงศ์ที่เสด็จมาเยี่ยมเยือน และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงใช้เป็นที่ประทับทรงพระสำราญตามพระราชอัธยาศัยในบางโอกาส ยังคงรักษารูปแบบสถาปัตยกรรมและสภาพดั้งเดิมเอาไว้ได้เป็นอย่างดี

รถยนต์พระที่นั่งแวนการ์ด

พิพิธภัณฑ์วังสวนบ้านแก้ว ตั้งอยู่ภายในอาณาเขตของมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี เลขที่ 41 หมู่ 5 ถนนรักศักดิ์ชมูล ตำบลท่าช้าง อำเภอเมืองฯ จังหวัดจันทบุรี รหัสไปรษณีย์ 22000 ห่างจากตัวเมืองจันทบุรี 6 กิโลเมตร เปิดให้เข้าชมทุกวันโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 นาฬิกา ไม่มีวันหยุด สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 3947 1072

4/09/66 เวลา 05:00 น.