#ข่าว

ตุลาคมนี้เปิดแน่! ‘อ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก’ เผยมุมลับครั้งแรกที่เที่ยววิถีใหม่พร้อมให้เยี่ยมชมวิถีชุมชน

 

 

กรมชลประทานพร้อมดันแหล่งท่องเที่ยวสุด Unseen แห่งใหม่ สันอ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก ให้ประชาชนได้ชื่นชมความงามที่น้อยคนจะเคยเห็นด้วยตาตัวเอง บวกมนต์เสน่ห์ของวิถีชีวิตรอบอ่างเก็บน้ำสุดประทับใจ ครบเครื่องความเป็นท้องถิ่น

อ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก เป็นหนึ่งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนด้านการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรและเพื่อการอุปโภคบริโภค โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2555 แล้วเสร็จเมื่อปี 2560 สามารถเก็บกักน้ำได้ 61ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ส่งน้ำ 25,500ไร่ หลังจากสร้างเสร็จประชาชนที่อยู่รอบอ่างรวมถึงพื้นที่รับประโยชน์ได้มีคุณภาพชีวิตที่ยกระดับขึ้น มีน้ำกินน้ำใช้ มีน้ำเพื่อการเกษตร ปศุสัตว์ การประมง และยังเป็นการช่วยบรรเทาสาธารณภัยด้วย

แต่ผลพลอยได้อีกประการคือเรื่องการท่องเที่ยว เนื่องจากอ่างเก็บน้ำมวกเหล็กมีผืนป่าล้อมรอบ มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ และมีภูมิทัศน์สวยงาม ที่ผ่านมาจึงมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาที่อ่างเก็บน้ำแห่งนี้จำนวนมาก ทว่ายังมีบางมุมที่ยังไม่เคยเปิดให้นักท่องเที่ยว และในเดือนตุลาคมนี้ โครงการชลประทานสระบุรีจะเปิดให้นักท่องเที่ยวทั่วไปได้เข้าไปสัมผัสความงดงามของสันอ่างเก็บน้ำที่ถือเป็น Unseen ของอ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก

 

 

ณัทเศรษฐ์ ถิรวัฒน์ธนกร ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสระบุรี ผู้บริหารกรมชลประทาน กล่าวถึงภาพรวมอ่างเก็บน้ำมวกเหล็กว่า นอกจากแหล่งท่องเที่ยวที่ประชาชนมาพักผ่อนหย่อนใจโดยปกติแล้ว ยังมีอีกหลายจุดไฮไลท์ที่น้อยคนจะได้ชม

“นักท่องเที่ยวทั่วไปอาจเคยมาที่ถนนริมอ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก เพราะอ่างนี้มีความสวยงามในแง่ของการที่อยู่ติดภูเขา จึงจะเห็นทั้งน้ำและภูเขา แต่คนส่วนมากจะยังไม่เคยเข้าไปในตัวอ่างเพราะเรายังไม่เคยเปิดให้คนเข้าไปชม ถ้าใครเคยเข้าไปชมข้างบนอ่างจะเห็นมุมท็อปวิวที่มองลงมา โดยเฉพาะช่วงเย็นที่มีพระอาทิตย์ตก

ส่วนพื้นที่รอบนอกที่ได้ประโยชน์จากอ่างก็จะมีรีสอร์ทและลำห้วยมวกเหล็กซึ่งเป็นลำห้วยธรรมชาติ ก็ยังมีคนมาเที่ยวกัน นอกจากเที่ยวที่ตัวอ่างเก็บน้ำแล้วก็จะได้มาชมวิถีชีวิตแถวนั้นได้”

ถึงจะเคยมีภาพของบริเวณสันอ่างเก็บน้ำมวกเหล็กเผยแพร่บนโลกโซเชียลอยู่บ้าง แต่นั่นคือวาระพิเศษเช่นการจัดงานวิ่งมาราธอน งานปั่นจักรยาน ที่ผู้เข้าร่วมงานได้เห็นความสวยงามจนต้องถ่ายภาพโพสต์ลงโซเชียล ทว่าในวาระปกติยังไม่เคยเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมสันอ่างเก็บน้ำแห่งนี้มาก่อน

ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสระบุรีเล่าว่าเหตุผลที่ยังไม่เคยเปิดสันอ่างเก็บน้ำให้คนมาเที่ยวหรือเข้าชมเพราะด้วยจำนวนบุคลากรที่จะดูแลส่วนนี้ยังมีไม่เพียงพอ หากเปิดตอนที่ยังไม่พร้อมก็อาจจัดการได้ลำบากรวมถึงความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน แต่ตอนนี้เขายืนยันว่าอ่างเก็บน้ำมวกเหล็กพร้อมแล้วให้ทุกคนได้มาเที่ยวชมความสวยงามสุด Unseen

“เราจะจัดระเบียบและกำหนดเวลา คนที่จะเข้ามาต้องจอดรถในพื้นที่ที่เราจัดเตรียมไว้  ยังไม่ได้อนุญาตให้ขับรถวิ่งบนสันอ่างเก็บน้ำ แต่ให้เดินเที่ยวชมได้ ถ่ายรูปได้ เวลาที่เหมาะสมจะเที่ยวบนสันอ่างเก็บน้ำ แบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา คือ เวลา 06.00 – 08.00 น. และเวลา 16.00-18.30 น. ทุกคนจะได้ใช้เป็นพื้นที่วิ่งออกกำลังกาย ปั่นจักรยานในยามเช้า หรือหากมาเที่ยวในช่วงเย็นชมแสงสุดท้ายของพระอาทิตย์ตกดินก่อนจะกลับออกมาอย่างมีความสุข ซึ่งเราก็จะดูแลได้”

นอกจากการเปิดสันอ่างเก็บน้ำมวกเหล็กเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการ ตลอดหลายปีที่มีอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ ประชาชนที่อาศัยอยู่รอบๆ ได้ใช้ประโยชน์มากมาย ทั้งการเกษตรและการอุปโภคบริโภค จากเดิมที่ชาวบ้านทำไร่ข้าวโพด ไร่อ้อย ประสบปัญหาทั้งดินเสีย น้ำแล้ง ไปจนถึงราคาผลผลิตตกต่ำ ปัจจุบันพวกเขาสามารถลืมตาอ้าปากได้ โดยมีน้ำใช้อย่างสมบูรณ์ และเกิดอาชีพที่มั่นคงอีกหลายอาชีพ

 

 

ชุตินัตท์ แน่นชารี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฟาร์มเห็ดบ้านดงน้ำฉ่า เล่าถึงอาชีพทำฟาร์มเห็ดที่เกิดขึ้นหลังจากได้ใช้ประโยชน์จากน้ำในอ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก ว่าเดิมทีเป็นกลุ่มแม่บ้านอยู่แล้วแต่ยังไม่ได้เพาะเห็ด ยังปลูกกล้วย แปรรูปผลิตภัณฑ์จากกล้วย จนกระทั่งเกิดภัยแล้งขึ้น กลุ่มจึงจัดตั้งกันเป็นกลุ่มวิสาหกิจเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา โดยเริ่มต้นด้วยการผลิตก้อนเห็ดจำหน่าย แล้วค่อยขยับขยายต่อมา

“เราขยายเครือข่ายไปทุกตำบลที่อยู่ในอำเภอเรา เราได้ต่อยอดดูแลคนทั้งอำเภอที่สนใจอาชีพนี้ ซึ่งกลุ่มเราได้ใช้ประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำเต็มที่ แต่ก่อนน้ำจะท่วมบ่อย น้ำป่าจะไหลหลาก พอมีอ่างเก็บน้ำปัญหานั้นก็หมดไป นอกจากนั้นกรมชลประทานก็ช่วยเหลือดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างดี ในเรื่องการใช้น้ำกลุ่มได้ใช้น้ำเพื่อการเกษตรกันครบทุกคน รายได้ที่เพิ่มมากขึ้นนอกจากอาชีพหลักคือเกษตรพืชไร่ พวกเรายังมีรายได้การทำฟาร์มเห็ด ผลิตก้อนเห็ดแล้วปันผลกันทุกสิ้นปี รวมถึงการที่เรามีเงินส่วนกลางคอยดูแลสมาชิกเพื่อให้ทุกคนหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้นอกระบบ

ยิ่งอ่างเก็บน้ำมวกเหล็กจะเปิดให้ท่องเที่ยว กลุ่มของเรามีโมเดลอยู่ว่าเราจะจำหน่ายสินค้าของเราในพื้นที่ที่เขาจัดให้ ส่วนกิจกรรมท่องเที่ยวเราจะให้นักท่องเที่ยวได้มามีส่วนร่วมทำก้อนเห็ดหรือการเก็บเห็ด และเราจะเป็นแหล่งเรียนรู้ สอนวิธีการทำเห็ด นักท่องเที่ยวที่ทำก้อนเห็ดเขียนชื่อไว้ พอออกดอกเขาก็อาจจะกลับมาเก็บเห็ดของเขา”

อีกแหล่งท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นจากการมีอ่างเก็บน้ำมวกเหล็กคือ มุมลับลานสวนน้ำใส ป้าอึ่ง ซึ่งใช้พื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำเนรมิตเป็นลานเล่นน้ำแสนสนุก บรรยากาศดี แต่ราคาสุดแสนจะมิตรภาพ

 

 

ณิชตาภรณ์ กองพลู (ป้าอึ่ง) เจ้าของมุมลับลานสวนน้ำใส เล่าว่า จากความชื่นชอบสมัยเคยไปทำงานที่รีสอร์ทของน้องสาว โมเดลแหล่งท่องเที่ยวริมน้ำน่าจะเกิดขึ้นได้เหมือนกันบนที่ดินของป้าอึ่งซึ่งอยู่ตรงข้ามกับพื้นที่ปลูกกะเพรา โหระพา ซึ่งเป็นรายได้หลักของเธอ

“ใจชอบตั้งแต่อยู่รีสอร์ทน้องสาวแล้ว ที่ได้เห็นคนเล่นน้ำมีความสุข เราก็มีความสุข มุมลับลานสวนน้ำใสเปิดเมื่อสงกรานต์ที่ผ่านมา เปิดแบบบ้าน ๆ ไม่ได้มีทุนมากมาย ก็อาศัยว่าน้ำจากห้วยที่ไหลมา ยายก็ปั๊มน้ำมาปลูกผักขาย ส่วนที่เที่ยวนี่ตั้งแต่เปิดมาก็มีคนมาเที่ยวเรื่อยๆ บางช่วงมีคนมากางเต็นท์บ้าง มาเล่นน้ำบ้าง

ตั้งแต่เราได้อ่างเก็บน้ำมาชีวิตป้าก็ดีขึ้น เพราะเรามีน้ำใช้ตลอดปี เกษตรกรก็ดีขึ้นเยอะเพราะมีสายปล่อยไปหลายสาย มีน้ำใช้ทั่วถึง แล้วเดี๋ยวอ่างเก็บน้ำมวกเหล็กจะเปิดเป็นที่ท่องเที่ยวก็จะเป็นโอกาสของป้าด้วย เพราะที่ของเราไม่ได้ไกลจากอ่างเก็บน้ำ คนอาจจะไปเที่ยวที่นั่นเสร็จก็มาเที่ยวที่นี่ หรือเที่ยวที่นี่เสร็จแล้วค่อยไปอ่างเก็บน้ำ ก็เป็นไปได้หมด แล้วเราก็คิดค่าบริการแค่ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท ป้าทำด้วยใจรักจริง ๆ”

จะเห็นได้ว่าวิถีชีวิตของผู้คนรอบอ่างเก็บน้ำมวกเหล็กถูกยกระดับขึ้น  จากแต่ก่อนพอสมควร ซึ่ง พรสุนีย์ คำพันธุ์ ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำ นิยามว่า “พวกเขามีความหวังมากขึ้น” เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าเดิมทีอาชีพคนที่นี่คือปลูกพืชไร่ จึงต้องรอแต่ฤดูฝนเพื่อให้มีน้ำใช้ทำการเกษตร แต่เมื่อมีอ่างเก็บน้ำเท่ากับพวกเขามีน้ำใช้ตลอดทั้งปี

ความยากลำบากในอดีตถึงขนาดมีเรื่องเล่าขานกันเลยทีเดียวว่า คุณภาพของผลิตผลการเกษตรตกต่ำถึงขีดสุด

“ในพื้นที่จะมีโรงงานทำน้ำตาล แล้วคนส่วนมากก็ปลูกอ้อย แล้วพอไม่มีฝน ปีไหนฝนแล้ง ต้นอ้อยก็ลำนิดเดียว มันเป็นกอจนคนพูดว่ามันเป็นต้นอ้อยหรือต้นตะไคร้ แต่ตอนนี้ถ้าใครขยันก็ได้ผลผลิตที่ดีกันมากๆ เลย ปัจจุบันคนส่วนมากก็ยังเป็นเกษตรกร ปลูกอ้อย ปลูกมัน ปลูกข้าวโพด แตกต่างจากเมื่อก่อนคือน้ำเพียงพอจึงเพาะปลูกได้มีคุณภาพ

ส่วนเรื่องการท่องเที่ยวก็มีข้อดีคือจะมีการค้าขาย มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ชาวบ้านก็จะได้มีโอกาสพัฒนาสินค้า แทนที่เราจะปลูกแค่ข้าวโพดอ้อย ก็จะมีปลูกพืช ปลูกผลไม้ ที่ต่อยอดขายได้ แปรรูปให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก”

จากมุมลับที่ปิดไม่ให้ใครเข้ามา อีกเพียงไม่กี่อึดใจก็จะเปิดให้ทุกคนได้สัมผัสความงามแล้ว อ่างเก็บมวกเหล็กและวิถีชีวิตรอบอ่างกำลังรอนักท่องเที่ยวอยู่  10 ตุลาคมนี้!! มุมลับสุด Unseen จะกลายเป็นมุมที่ทุกคนตกหลุมรักแน่นอน

 

 

#อ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก#สระบุรี#กรมชลประทาน#มวกเหล็ก#อ่างเก็บน้ำ

10/10/66 เวลา 02:34 น.