
เพลิดเพลินเดินเมียงมอง ตึกรามบ้านช่องย่านเก่าสงขลา
ภาคภูมิ น้อยวัฒน์ เรื่อง สุรพล สุภาวัฒนกุล ภาพ
โรงสีข้าวเก่าทาด้วยสีแดงสดสะดุดตาอันมีชื่อเรียกว่า “หับ โห้ หิ้น” บนถนนนครนอกนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินเที่ยวชมสถาปัตยกรรมย่านเมืองเก่าสงขลาที่ดีมาก เนื่องเพราะนอกจะด้านหนึ่งมีลานกว้างสำหรับจอดรถชนิดสบายใจไม่ต้องเป็นห่วงแล้ว ภายในโรงสีแดงแห่งนี้ยังบอกเล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมาของเมืองสงขลาสามยุคสมัย สรุปไว้ให้ในรูปของนิทรรศการอย่างเสร็จสรรพ ที่สำคัญคือแบบจำลองสถาปัตยกรรมในตู้กระจกใสที่จำแนกรูปแบบแต่ละแบบเอาไว้อย่างชัดเจน ทำให้เมื่อชมนิทรรศการแล้วออกมาชมตึกรามบ้านช่องของจริง ภาพของสองฟากฝั่งถนนที่มองเห็น จะไม่ใช่เพียงแค่ห้องแถวธรรมดาเรียงรายกันอยู่อีกต่อไป เพราะเราจะสามารถแยกแยะได้ว่าเป็นสถาปัตยกรรมแบบไหน สร้างในช่วงใด เก่าแก่ขนาดไหน เดินดูได้สนุกสนานเพลิดเพลินกว่ากันจมเลยเชียวครับ
อาคารรุ่นแรก ๆ สร้างขึ้นในสมัยแรกเริ่มตั้งเมืองสงขลาบ่อยางในปี พ.ศ. 2379 นับถึงวันนี้ก็ 189 ปี แต่ก็ยังมีให้เห็นอยู่ไม่น้อย คือห้องแถวจีนดั้งเดิม ที่นำแบบแผน วัสดุก่อสร้าง และช่างมาจากมณฑลฝูเจี้ยนในประเทศจีน นับเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนแท้ ด้านหน้าสร้างติดแนวถนนมองดูเหมือนห้องแถวแคบ ๆ แต่แท้จริงแล้วเป็นบ้านแบบจีนซึ่งพื้นที่ด้านในเป็นแนวยาวล้อมด้วยกำแพง ส่วนหน้าเป็นคูหาสำหรับเป็นหน้าร้านค้า ด้านบนเป็นชั้นลอยใช้เก็บสินค้า ถัดเข้าไปพื้นที่ช่วงกลางเป็นที่ตั้งบ่อน้ำกินน้ำใช้และลานอเนกประสงค์ เรียกว่า “ฉิ่มแจ้” ตามความเชื่อเรื่องฮวงจุ้ยของจีน พื้นที่ส่วนหลังเป็นที่พักอาศัย มีทั้งแบบชั้นเดียวและสองชั้น โครงสร้างอาคารใช้คานไม้พาดเหนือผนังก่ออิฐก้อนใหญ่ฉาบปูนรับน้ำหนัก พื้นปูกระเบื้องดินเผาแผ่นใหญ่ โครงหลังคาทำจากไม้ท่อนใหญ่ มุงด้วยกระเบื้องดินเผากาบกล้วยโค้งแบบจีน หน้าต่างแคบเล็ก ไม่มีกันสาด บางหลังเขียนสีและประดับลายปูนปั้นเหนือบานหน้าต่าง จั่ว หลังคา และช่องลมช่องแสง เป็นรูปสัตว์ หรือผลไม้มงคล เช่น ปลาหลีฮื้อคู่ว่ายเป็นสัญลักษณ์ “อนันต์” หมายถึง “มีกินมีใช้ไม่สิ้นสุด” หรือค้างคาวที่อักษรในภาษาจีนพ้องกับคำว่า”มงคล” และลูกท้อ สัญลักษณ์ความเป็นอมตะ มั่นคงยืนยาว
รุ่นถัดมาเป็นอาคารที่พัฒนารูปแบบจากห้องแถวแบบจีนดั้งเดิม คือห้องแถวพาณิชย์แบบจีน เก่าแก่น้อยกว่านิดหน่อย แต่อายุก็ประมาณ 100 ปีขึ้นไป ประยุกต์ให้ทันสมัยขึ้นโดยยังคงรูปแบบหลังคาแบบจีนอย่างเดิมไว้ แต่ปรับแต่งให้มีพื้นที่ใช้งานมากขึ้น จากอาคารชั้นเดียวมีชั้นลอย เพิ่มเติมชั้นบนขึ้น กลายเป็นอาคารสองชั้น ชั้นบนใช้เป็นที่พักอาศัย ผนังด้านหน้าทำเป็นหน้าต่างบานเกล็ดยาวระบายอากาศ คูหาชั้นล่างใช้สำหรับทำกิจการค้าขาย ประตูหน้าเป็นบานเฟี้ยมไม้สามารถพับเก็บไว้ด้านข้าง ส่วนกลางอาคารยังคงมีการเว้นเป็นลานอเนกประสงค์ หรือ “ฉิ่มแจ้” เหมือนกับห้องแถวแบบจีนดั้งเดิม (แต่ส่วนใหญ่จะต่อเติมหลังคาคลุมส่วนนี้ในภายหลัง เนื่องจากมีการเรียนรู้ว่าสภาพภูมิอากาศภาคใต้ของไทยฝนตกชุกต่างจากจีน) อาคารแบบนี้สร้างขึ้นโดยเน้นประโยชน์ใช้สอยทางการค้าเป็นหลัก จึงค่อนข้างเรียบง่าย ไม่มีการประดับประดาอะไรมาก
อาคารที่ดูอลังการงดงามที่สุดน่าจะเป็น ห้องแถวแบบชิโน-ยูโรเปียน หรือแบบโคโลเนียล สถาปัตยกรรมอิทธิพลตะวันตกผสมกับสถาปัตยกรรมแบบจีนที่ได้รับรูปแบบมาจากสิงคโปร์และปีนัง ซึ่งเริ่มมีมาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๓ ลักษณะเป็นตัวตึกสูงสองถึงสามชั้น ต่างจากสองแบบเดิมตรงใช้อาคารด้านติดถนนเป็นอาคารหลัก ด้านหน้ามีกันสาด และมีทางเดินหน้าอาคาร “หงอคาขี่” เป็นซุ้มโค้งทางเดินยาวเชื่อมต่อกัน ทว่าไม่ได้เปิดให้ใช้เป็นทางเดินสาธารณะ โดยเฉพาะอาคารมุมในสมัยหลังหลังคามีการตกแต่งชั้นสองโดยเพิ่มระเบียงกันสาดและแผงบังหลังคา หน้าต่างชั้นบนซึ่งมักจะทำซุ้มโค้ง เป็นบานเปิดยาวถึงพื้น บางหลังเป็นบานเกล็ดไม้ผสมบานกระทุ้ง ทั้งยังมีการตกแต่งในส่วนที่เป็นช่องหน้าต่างประตู ระเบียง ค้ำยัน หัวเสา ด้วยปูนปั้นเป็นลวดลายแบบตะวันตก แต่ที่ยังเหมือนกับสองแบบแรกคือส่วนกลางมักจะเว้นเป็นลานอเนกประสงค์ “ฉิ่มแจ้” เอาไว้ กับมีอาคารด้านหลังอีกอาคารหนึ่ง
ห้องแถวพาณิชย์แบบจีนสมัยใหม่ ห้องแถวรุ่นนี้แม้ไม่เก่ามาก แต่อย่างน้อยก็อายุประมาณตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป มีตั้งแต่สองชั้นไปถึงสี่ชั้น แทรกแซมอยู่ในท่ามกลางห้องแถวรุ่นเก่า โครงสร้างเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กใช้ผนังรับน้ำหนักแบบไม่มีเสา ลักษณะเด่นของของห้องแถวประเภทนี้คือชั้นบนสุดมีแผงปูนกั้นบังส่วนหลังคาและนิยมปั้นปูนจารึก พ.ศ. ที่สร้างเอาไว้ บางหลังเป็นหลังคาแบบจั่วหรือแบบปั้นหยาในขณะที่บางหลังเป็นหลังคาคอนกรีตเสริมเหล็กแล้ว ส่วนใหญ่เป็นอาคารร้านค้าเต็มรูปแบบ จึงค่อนข้างเรียบง่ายเน้นประโยชน์ใช้สอย แต่ยังมีบางหลังที่ตกแต่งด้วยรูปแบบของห้องแถวแบบชิโน-ยูโรเปียน บางหลังก็ออกแบบโดดเด่นสะดุดตาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ในการศึกษารูปแบบทางวิชาการสถาปัตยกรรมในเมืองเก่าสงขลานี้ยังมีพบอีกรูปแบบ คือห้องแถวแบบผสม จีน ยุโรป และมุสลิม โดยมีโครงสร้างแบบชิโน-ยูโรเปียน แต่มีการประดับช่องแสงและช่องลมระบายอากาศด้วยไม้ฉลุลวดลายแบบมุสลิม จัดเป็นรูปแบบพิเศษที่มีอยู่น้อยและหาชมได้ยาก ตึกรามบ้านช่องต่างยุคต่างสมัยเหล่านี้เรียงรายอยู่ด้วยกันอย่างผสมกลมกลืน บนถนนสามสายในย่านเมืองเก่าอันได้แก่ ถนนนครนอก ถนนนครใน และถนนนางงาม เราจึงพบเห็นได้ทั้งห้องแถวรกร้างสภาพเก่าคร่ำคร่าที่ยังคงผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนานนับร้อยปี ห้องแถวดัดแปลงสภาพตามยุคสมัยใช้เป็นที่อยู่อาศัยมาอย่างต่อเนื่อง และห้องแถวที่ได้รับการ “รีโนเวต” ให้สวยงามสภาพเหมือนใหม่ เพื่อใช้เป็นร้านค้าหรือโรงแรมที่พักที่มีบรรยากาศคลาสสิก ความคงอยู่และความเปลี่ยนแปลงที่สังเกตได้เป็นความสนุกสนานระหว่างทางที่ทำให้ไม่รู้สึกซ้ำซากจำเจในการเดินชมย่านเมืองเก่า
นอกแนวกำแพงเมืองออกไป บนถนนวิเชียรชมที่เชื่อมต่อจากถนนนครใน ตัวอาคารจัดแสดงของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา เป็นสถาปัตยกรรมรุ่นเก่าอีกแห่งหนึ่งที่ถือว่ามาเยือนเมืองเก่าสงขลาแล้วไม่ควรพลาดมาเยี่ยมชม เนื่องจากตัวอาคารอายุกว่าร้อยปีแห่งนี้ ได้รับการยกย่องว่าเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนผสมยุโรป (ชิโน-ยูโรเปียน) ที่งดงามที่สุดของภาคใต้ ซึ่งตามประวัติว่าสร้างขึ้นโดยพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร ณ สงขลา) รองเจ้าเมืองสงขลา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๑ เพื่อยกให้นางชื่นผู้เป็นบุตรี แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จก็ถึงแก่อนิจกรรมเสียก่อน พระอนันตสมบัติ (เอม) บุตรชายคนรองจึงดำเนินการก่อสร้างต่อจนสำเร็จ ก่อนที่ต่อมารัฐบาลได้ขอซื้อเพื่อใช้เป็นศาลาว่าการมณฑล ก่อนจะกลายมาเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา ในปัจจุบัน
ตัวอาคารหันหน้าไปทางทิศตะวันตกและทะเลสาบสงขลาเป็นตึกก่ออิฐถือปูนสองชั้น ในลักษณะเรือนหมู่ 4 หลัง เชื่อมต่อกันด้วยระเบียงทางเดิน มีบันไดขึ้นด้านหน้าและตรงกลางลานด้านใน กลางบ้านเป็นลานเปิดโล่ง ด้านหน้าเป็นลานโล่งขนาบด้วยอาคารโถงสองข้าง โดยรอบเป็นสนามหญ้าและสวน ล้อมด้วยกำแพงโค้งแบบจีน หลังคามุงกระเบื้องสองชั้นฉาบปูนเป็นลอน สันหลังคาโค้ง ปลายทั้งสองด้านเชิดสูง ในห้องยาวด้านหลังของอาคารชั้นบน มีบานประตูบานเฟี้ยมไม้แกะสลักเล่าเรื่องวรรณคดีจีน สลับด้วยลวดลายพันธุ์พฤกษา และลายมังกรดั้นเมฆหาไข่มุกไฟ ส่วนหัวเสาชั้นบนตกแต่งด้วยภาพเขียนสีเทพเจ้าจีนและลายพรรณพฤกษา ขื่อหลังคาภายในห้องเป็นเครื่องหมายหยินหยางและยันต์แปดทิศตามคติจีน
นี่ยังไม่นับนิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวของเมืองสงขลาและภาคใต้ประกอบการจัดแสดงโบราณวัตถุเอาไว้อย่างน่าสนใจและเข้าใจง่ายภายในอาคาร แค่เข้ามาเดินชมสถาปัตยกรรมของพิพิธภัณฑ์ก็เกินคุ้มค่าบัตรเข้าชมแล้วครับ