#ที่เที่ยว

แม่ลาน้อย มนต์เสน่ห์แห่งวิถีคนกลางขุนเขา

ธีรพัฒน์ บุปผาพิบูลย์ เรื่องและภาพ

ขับรถชมวิวทิวทัศน์บนถนนสวยของจังหวัดแม่ฮ่องสอนไปยังอำเภอเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางขุนเขาสลับซับซ้อนที่ชื่อว่าแม่ลาน้อย

ที่นี่คือเป้าหลอมทางวัฒนธรรมของผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ที่ผสมผสานกันอย่างกลมกล่อม ก่อเกิดเป็นความงดงามที่สะท้อนผ่านการใช้ชีวิตและงานศิลปกรรม

และนอกจากเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมแล้ว ความงดงามทางธรรมชาติของแม่ลาน้อยก็ยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เชื้อเชิญผู้คนให้เดินทางเข้ามาสัมผัสอย่างใกล้ชิด ภาพของนาขั้นบันไดและทิวเขาสูงสลับซับซ้อนที่มีให้เห็นตลอดเส้นทาง นั่นนับว่าเป็นภาพที่ตราตรึงใจยิ่งนัก

เราจะเดินทางออกไปค้นหาความงดงามที่ซ่อนอยู่ในอำเภอเล็ก ๆ แห่งนี้กัน

แม่ลาน้อย จุดเริ่มต้นของการเดินทาง

แม่ลาน้อยเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวที่ปรารถนาจะพาตัวเองหลบหนีจากความวุ่นวายของเมืองใหญ่ แล้วออกไปค้นหาความเงียบสงบเพื่อพักกายและใจมายาวนาน อาจจะด้วยความห่างไกลจากเส้นทางสัญจรสายหลัก ทำให้แม่ลาน้อยเข้าถึงยากในสายตาของนักท่องเที่ยวทั่วไป แต่สิ่งนี้กลับเป็นเหมือนสิ่งที่ช่วยให้แม่ลาน้อยยังคงเสน่ห์แบบที่เคยเป็นไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

ตัวเมืองแม่ลาน้อยนั้นมีขนาดไม่ใหญ่นัก เมื่อมองจากเจดีย์วัดดอยแก้วที่ตั้งตระหง่านบนยอดเขาเหนือชุมชน จะเห็นภาพของบ้านเรือนไม้ที่ดูคลาสสิกสร้างเกาะกลุ่มกันอยู่กลางทุ่งนา โอบล้อมไปด้วยทิวเขาสูงสลับซับซ้อน มีลำน้ำไหลผ่านกลาง มองแล้วคล้ายกับภาพวาดในจินตนาการของศิลปิน

แต่ความงดงามของแม่ลาน้อยนั้นไม่ได้อยู่แค่ในเขตตัวอำเภอเท่านั้น หากลองขับรถเลี้ยวออกจากตัวอำเภอไปตามทางหลวงหมายเลข 1266 เพียงไม่ไกลก็จะถึงจุดชมวิว กม. 9 จุดชมวิวที่สวยงามที่สุดมุมหนึ่ง ภาพของทิวเขาสลับซับซ้อนไกลสุดสายตาจนอาจจะมองไปได้ถึงดินแดนของประเทศเพื่อนบ้าน มีฉากหน้าเป็นพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านกระจายอยู่ตามไหล่เขานั้นงดงามเหนือคำบรรยาย

ละอูบ บ้านของงานศิลป์ถิ่นคนละว้า

ไม่ไกลจากอำเภอแม่ลาน้อย มีหมู่บ้านขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่บนยอดเขาอันงดงาม บ้านละอูบ หรือโมซัมเบรียง ในภาษาท้องถิ่น แปลว่าภูเขาที่มีผลไม้ชนิดหนึ่งขึ้นอยู่ ที่นี่คือชุมชนชาวละว้าที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ
ชาวละว้าเป็นชาติพันธุ์ที่มีความสามารถในเชิงศิลป์หลากหลายแขนงที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น ยิ่งเวลาผ่านไป การหลอมรวมทางวัฒนธรรมกับผู้คนภายนอก รวมถึงการได้รับการส่งเสริมอาชีพจากหน่วยงานหลายแห่ง ก็ยิ่งทำให้งานหัตถกรรมจากบ้านละอูบมีความน่าสนใจมากขึ้นไปอีก

ตามธรรมเนียมของชาวบ้านที่นี่ หากใครมาเยือนก็จะต้อนรับด้วยมื้ออาหารท้องถิ่น การมาเยือนบ้านละอูบของพวกเราในครั้งนี้ก็เช่นกัน ได้รับความอนุเคราะห์จากพ่อหลวงณัฐ-ณัฐพงษ์ ไผ่พันธุ์พฤกษ์ พ่อหลวงของหมู่บ้านต้อนรับด้วยอาหารมื้อใหญ่ มีพระเอกอยู่ที่เมนูขึ้นชื่ออย่างสะเบื๊อก

สะเบื๊อกคืออาหารพื้นถิ่นดั้งเดิมของชาวบ้านละอูบ มีลักษณะคล้ายกับยำของคนเมือง ประกอบไปด้วยหมูหรือไก่ต้ม นำมาคลุกเคล้ากับพริก เกลือ ตะไคร้ ต้นหอม ผักชี ออกมาเป็นยำที่ให้รสชาติกลมกล่อม เน้นรสเค็มนำ โดยจะแตกต่างจากยำตรงที่ไม่มีการใส่มะนาวให้มีรสเปรี้ยว กินคู่กับน้ำซุปที่ได้จากการต้มเนื้อที่ใส่ในสะเบื๊อก

หลังจากอิ่มอร่อยกับมื้ออาหารถิ่นกันแล้ว คุณย่ามัน-มัน ไผ่พันธุ์พฤกษ์ คุณแม่ของพ่อหลวงณัฐ ก็เดินออกมาจากครัวด้วยชุดพื้นเมืองละว้าพร้อมกับสาธิตการทอผ้าลายตวน งานหัตถกรรมพื้นถิ่นของชาวละว้าที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตตั้งแต่เกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ผ้าลายนี้ถือเป็นลายมงคลที่แต่ละบ้านจะทอเพื่อมอบให้กับทารกที่เกิดใหม่เป็นผ้าประจำตัว โดยจะทำเป็นหมอนให้ทารกแรกเกิดนอน และเมื่อถึงวาระสุดท้าย ผ้าลายตวนจะถูกใช้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งให้ผู้วายชนม์เดินทางไปสู่วาระสุดท้ายของชีวิตอย่างแท้จริงตามความเชื่อของชาวละว้า

นอกจากผ้าทอมือแล้ว ชาวบ้านละอูบยังมีชื่อเสียงในด้านการทำเครื่องเงินชั้นดี ทั้งเพื่อใช้งานเองและส่งขายให้กับผู้คนภายนอก เช่นเดียวกับผ้าลายตวน เงินนั้นเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญในจารีตของชาวละว้าที่ผูกพันกับชีวิตของผู้คนตั้งแต่เกิดจนตาย รวมถึงงานมงคลต่าง ๆ ทั้งการขึ้นบ้านใหม่และงานแต่งงาน เป็นต้น
นอกจากความสวยงามของวิวทิวทัศน์แล้ว บ้านละอูบยังเป็นที่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ของงานศิลป์ทำมือที่มีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์อย่างหาตัวจับได้ยากอีกแห่งหนึ่ง

บ้านห้วยห้อม หอมกรุ่นกลิ่นกาแฟและอบอุ่นด้วยผาทอขนแกะ

         ไม่ไกลจากบ้านละอูบ มีหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางภูเขาสูงที่โอบล้อมอยู่รอบตัว ด้วยสภาพแวดล้อมที่พอเหมาะพอดีทั้งอากาศและความสูง ทำให้บ้านห้วยห้อมเป็นแหล่งผลิตกาแฟชั้นดีอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย

กาแฟอะราบิกาถูกนำเข้ามาให้ชาวบ้านห้วยห้อมรู้จักมาตั้งแต่ปี 2515 โดยมิชชันนารีที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนา ด้วยทำเลที่ตั้งของหมู่บ้านที่อยู่ในระดับ 1,100 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีอากาศเย็นสบายตลอดปี และยังมีผืนป่าที่ยังอุดมสมบูรณ์ ถือเป็นปัจจัยที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของกาแฟอะราบิกา

คุณภาพของกาแฟที่นี่การันตีด้วยคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่องมายาวนานหลายสิบปีจากหนึ่งในร้านกาแฟแบรนด์ดังระดับโลก ผู้คนในเมืองใหญ่หลายคนอาจจะมีโอกาสดื่มกาแฟบ้านห้วยห้อมอยู่ทุกวันอย่างไม่รู้ตัวก็เป็นได้

และถ้าหากจะมาตามหากาแฟชั้นดีที่บ้านห้วยห้อม ก็ต้องมาที่แม่ยาย โฮมสเตย์ ของคุณบิว-ธันวา กลิ่นสกุล และคุณนานา-สุดธิดา ทรัพย์ไพรวัลย์ สองสามีภรรยาที่ตัดสินใจละทิ้งอาชีพการงานในเมืองหลวง แล้วมุ่งหน้ากลับบ้านมาทำตามความฝันของทั้งคู่

แม่ยาย โฮมสเตย์ เป็นที่พักและคาเฟ่เล็ก ๆ แสนน่ารักขนาดสองห้องนอน ที่จะรับลูกค้าเพียงวันละ 1 กลุ่มเท่านั้น ไม่ว่าจะมาแค่ 1 คนก็ตาม โดยมีกิมมิกเล็ก ๆ ที่ทางคุณบิวและคุณนานาจะทำกับข้าวให้กับนักท่องเที่ยวได้รับประทาน 1 มื้อ และอีกมื้อ นักท่องเที่ยวจะต้องลงมือทำเองเพื่อแลกเปลี่ยนกัน

นอกจากโฮมสเตย์แล้ว คุณบิวและคุณนานายังมุ่งมั่นที่จะยกระดับกาแฟจากบ้านห้วยห้อมให้สูงขึ้นไปอีกระดับผ่านการทำกาแฟในรูปแบบ Specialty Coffee ที่ให้ความสำคัญในเรื่องของคุณภาพมากกว่าปริมาณ ทั้งสองกลับมาศึกษาและทดลองการทำกาแฟในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การดูแลต้นกาแฟที่ปลูกมาตั้งแต่สมัยคุณแม่ การเก็บเกี่ยวและแปรรูปด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ จนถึงการออกแบบเมนูที่ดึงเอารสชาติของเมล็ดกาแฟออกมาได้อย่างลงตัว

และที่สำคัญคือ ความสำเร็จของคุณบิวและคุณนานาเริ่มจุดประกายให้ชาวบ้านคนอื่นเริ่มหันมาให้ความสนใจในการทำกาแฟ Specialty Coffee มากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว

อีกหนึ่งสิ่งที่มิชชันนารีนำเข้ามาที่บ้านห้วยห้อมพร้อมกับต้นกาแฟก็คือแกะและวิชาการทอผ้าขนแกะ ที่อาจจะเรียกได้ว่าห้วยห้อมเป็นหมู่บ้านเดียวในเมืองไทยที่มีกิจกรรมทอผ้าขนแกะก็ว่าได้ เริ่มต้นจากแกะ 5 ตัวที่มิชชันนารีมอบให้ชาวบ้านในครั้งแรก ปัจจุบันลูกหลานของแกะรุ่นแรกหลายสิบตัวถูกเลี้ยงในทุ่งหญ้าบนภูเขาสูง และสามารถตัดขนแกะได้มากพอที่จะนำมาแปรรูปเป็นผ้าทอขนแกะอันเลื่องชื่อ ไม่เพียงแค่ในประเทศไทย แต่ยังเป็นที่รู้จักไปไกลถึงในต่างประเทศอีกด้วย

ตอนนี้ นอกเหนือจากผ้าทอแล้ว ป้าแอนและสมาชิกในกลุ่มยังคิดค้นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่าง ๆ ขึ้นมาอีกหลายอย่าง ทั้งหมวกกันหนาว ผ้าพันคอ และถุงผ้าดีไซน์เก๋ ได้รับการตอบรับจากกลุ่มลูกค้าต่างชาติเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเกาหลีและญี่ปุ่นที่ได้รับการตอบรับดีเป็นพิเศษ

นี่เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดของผู้คนที่มองเห็นคุณค่าและสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่ในชุมชน แล้วหยิบมันมาต่อยอดผ่านงานคราฟต์จนสร้างความเปลี่ยนแปลงและสรรค์สร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในบ้านของพวกเขาเอง

คู่มือนักเดินทาง

การเดินทาง

การเดินทางมาที่อำเภอแม่ลาน้อย หากเดินทางด้วยรถยนต์จากกรุงเทพฯ มีเส้นทางให้เลือกใช้ได้หลายเส้นทาง แต่เส้นทางที่ใกล้และสะดวกที่สุดคือเส้นทางจากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ที่ใช้ทางหลวงหมายเลข 105 ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 108 แต่ด้วยความที่เป็นเส้นทางขนาดเล็กและวิ่งเลียบชายแดน บางจุดไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ จึงแนะนำให้ใช้เส้นทางนี้ในช่วงเวลากลางวันจะดีกว่า

หรืออาจใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 108 จากอำเภอฮอด มุ่งหน้าอำเภอแม่สะเรียง แล้วเลี้ยวขวาต่อไปยังอำเภอแม่ลาน้อย เป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่สะดวกสบายเช่นกัน

หากเดินทางมาโดยเครื่องบิน ลงที่ท่าอากาศยานแม่ฮ่องสอน แล้วเช่ารถขับเที่ยวตามทางหลวงหมายเลข 108 ผ่านแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลายแห่ง หรือสามารถนั่งรถสาธารณะต่อไปยังตัวอำเภอแม่ลาน้อยได้ แต่อาจจะใช้เวลามากขึ้นสักนิด

ที่พัก

อำเภอแม่ลาน้อยมีที่พักหลายแห่ง อย่างเฮินไต รีสอร์ท ที่พักได้มาตรฐานในตัวอำเภอแม่ลาน้อย สร้างขึ้นโดยเน้นการนำเอาวัฒนธรรมท้องถิ่นมาผนวกกับสิ่งอำนวยความสะดวกรบครัน อีกทั้งยังมีทุ่งนาอยู่หน้าห้องพักให้ชมวิวสวย ๆ อีกด้วย ติดต่อสอบถามข้อมูลห้องพักได้ทางหมายเลขโทรศัพท์ 08 6915 3555

ที่กิน

ครัวเฮินไต ตั้งอยู่ภายในเฮินไต รีสอร์ท มีอาหารหลากหลายรูปแบบให้บริการ ตั้งแต่อาหารไทย อาหารพื้นเมือง รวมไปถึงอาหารตะวันตก เปิดทุกวัน เวลา 10.00-21.00 นาฬิกา

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแม่ฮ่องสอน โทรศัพท์ 0 5361 2982-3

9/03/66 เวลา 15:27 น.