#ธรรมชาติ อีโก้งในดงแห้วทรงกระเทียม วรรณชนก สุวรรณกร เรื่องและภาพ ดงแห้วทรงกระเทียมขนาดใหญ่หลายสิบไร่แห่งหนึ่งที่อยู่ถัดจากชายน้ำของหนองกุดทิง จังหวัดบึงกาฬ เป็นบริเวณดงพืชน้ำที่ผมคิดจะนำพาบังไพรแบบลอยน้ำลัดเลาะเข้าไปซุ่มดักถ่ายภาพบรรดานกน้ำทั้งหลายมานานก่อนที่จะได้เข้าไปถ่ายภาพจริง ๆ ด้านในหนองน้ำนั้นเสียที เนื่องจากเห็นว่ามีต้นแห้วทรงกระเทียมขึ้นอยู่รกทึบ น่าจะบังหน้าเลนส์จนมองไม่เห็นตัวนกได้ชัดเจนแน่ ๆ เลยเอาแต่ถ่ายภาพนกน้ำทั้งหลายอยู่ตรงบริเวณริมฝั่งที่ผิวน้ำค่อนข้างเปิดโล่งแทน โดยหารู้ไม่ว่ายังมีของดีอีกอย่างที่ถูกบังตาอยู่ใกล้ ๆ ห่างออกไปไม่กี่สิบเมตรนี่เอง และแล้วในวันหนึ่งโชคชะตาฟ้าลิขิตก็ผลักไสให้ผมเข้าไปพบเจอกับของดีที่ถูกใจเข้าจนได้ เพียงแต่ว่าผู้ที่มอบโชคชะตาผลักไสให้ผมเข้าไปอยู่ในดงแห้วทรงกระเทียมนั้นไม่ใช่มนุษย์ผู้หวังดีชี้ทางสว่างที่ไหนกันหรอกครับ แต่เป็นพี่ควายฝูงหนึ่งที่ชาวบ้านแถวนั้นเขาเอามาเลี้ยงปล่อยให้กินหญ้ากินน้ำตามประสาควายนี่แหละ บ่ายวันนั้น ขณะที่ผมเอาบังไพรลงไปถ่ายภาพนกในน้ำแถวริมฝั่งเหมือนเคย จู่ ๆ ควายฝูงใหญ่ไม่ต่ำกว่าสิบตัว ซึ่งล้วนแล้วแต่อ้วนพีมีแรง แถมยังมีจ่าฝูงเขาใหญ่ร่างกายกำยำ นึกสนุกยังไงไม่รู้ พากันละจากหญ้าอ่อนริมฝั่งเดินลุยน้ำต้าม ๆ ตรงดิ่งมายังบังไพรของผมเสียนี่ เจ้าจ่าฝูงพาลูกฝูงเดินดันลุยน้ำมาเรื่อย ๆ แล้วจ้องมองบังไพรอย่างสงสัยใคร่รู้ จากนั้นก็หยุดเชิดหน้าทำจมูกฟุดฟิดพิสูจน์กลิ่นให้สิ้นสงสัย แต่ปัญหาอยู่ที่ว่ามันไม่ยอมสิ้นสงสัยเสียทีนี่สิครับ พวกเดิน ๆ หยุด ๆ แถมเร่งฝีเท้าเข้ามาเรื่อย ๆ จนใกล้จะถึงตัวบังไพรเต็มที เจอลูกนี้เข้าไป มีหรือที่สุภาพบุรุษอย่างผมจะทนอยู่นิ่งดูดายทำเป็นทองไม่รู้ร้อนไปได้ ว่าแล้วก็รีบเร่งฝีเท้า ขยับบังไพร เผ่นเข้าไปหลบภัยอยู่ในดงแห้วทรงกระเทียมที่อยู่ใกล้ ๆ กันนั่นแหละ โชคดีที่พี่ควายเขายอมรามือราเท้าให้ ยกเลิกภารกิจในการติดตามบังไพรเจ้าปัญหา แล้วหันหลังกลับไปเล่นน้ำกันเป็นที่สนุกสนานสำราญใจ ปล่อยให้ผมหอบแฮ่ก ๆ อยู่ในบังไพรด้วยความตื่นเต้น และโล่งอกที่รอดพ้นจากความขี้สงสัยของพี่ควายเขาไปได้อย่างหวุดหวิด หลังจากหายเหนื่อยคลายความตื่นเต้นและอโหสิกรรมให้กับพี่ควายของเราแล้ว ผมก็เลยถือโอกาสฝังตัวอยู่ในดงแห้วทรงกระเทียมต่อเสียเลย เพราะไหน ๆ ก็ได้เข้ามาอยู่ในนี้แล้วนี่ ไอ้ครั้นจะออกไปถ่ายนกที่จุดเดิม พี่ควายของเราก็ยังไม่ขึ้นจากน้ำ แถมนกต่าง ๆ นานาก็พากันหนีแตกตื่นกระเจิดกระเจิงไม่เหลือหลอแล้ว ยืนแช่น้ำซุ่มอยู่ในบังไพรกลางดงแห้วทรงกระเทียมชั่วโมงกว่า ๆ ก็ได้เวลาประมาณบ่ายสี่โมง ถึงเริ่มมีฝูงนกทยอยกันบินมาลงหากิน หรือแวะหยุดพักที่ดงแห้วฯ มากขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งนกอีโก้งที่ทยอยบินกันมาจากอีกฟากฝั่งที่ห่างออกไปราว 500 เมตร ซึ่งมีสภาพเป็นป่ากกและพืชน้ำอื่น ๆ เมื่อนกอีโก้งบินลงมายืนอยู่บนดงแห้วทรงกระเทียมเรียบร้อยแล้ว ต่างก็หันซ้ายแลขวาสำรวจความปลอดภัย ก่อนที่จะเริ่มเดินหากินด้วยการใช้ปากถอนต้นแห้วขึ้นมาจากน้ำเพื่อเลือกกินส่วนอ่อน ๆ สีขาวที่อยู่ข้างในอีกที ตัวไหนที่อยู่ใกล้บังไพรหน่อย ก็จะได้ยินเสียงต้นแห้วถูกถอนขึ้นมาจนขาดออกจากกันดัง “ปึ๊ด ๆ” ฟังแล้วก็เพลินดีเหมือนกัน ผมเริ่มขยับบังไพรเข้าหานกตัวที่อยู่ใกล้ เลือกมุมที่ต้นแห้วขึ้นในฉากหน้าไม่หนาแน่นนัก จะว่าไป การมีต้นแห้วขึ้นบังด้านหน้านี่ก็ดีไปอย่าง เพราะจะช่วยทำหน้าที่เปรียบเสมือนกับเป็นฟิลเตอร์ซอฟต์ ทำให้ภาพดูนุ่มนวล ละมุนขึ้น ยิ่งเวลาที่ได้แสงอ่อน ๆ ยามเย็นสาดส่องอาบไล้ไปทั่วทุ่งเข้าแล้ว ยิ่งช่วยทำให้สีเขียวขจีของต้นแห้วตัดกับสีแดง น้ำเงิน-ม่วง ของนกอีโก้ง ดูอบอุ่นละมุนมากขึ้นกว่าช่วงกลางวันเป็นไหน ๆ นี่ถ้าไม่ถูกพี่ควายไล่ที่มาล่ะก็… คงอดที่จะได้มาค้นพบกับของดีที่ถูกใจในดงรก ๆ อย่างนี้เป็นแน่แท้ งานนี้ถ้าไม่กราบขอบพระคุณพี่ควายเขางาม ๆ ก็ไม่รู้จะว่ายังไงแล้วล่ะครับ Post Views: 166 5/04/67 เวลา 03:22 น. บทความที่เกี่ยวข้อง ปลานกขุนทองแดง (Floral Wrasse) ในห้วงของความลึก ณ บริเวณจุดดำน้ำใกล้กับอ่าวช่องขาด บริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา ผมใช้เวลาส่วนใหญ่ของการดำน้ำไล่ไปตามบริเวณพื้นทรายซึ่งอยู่ห่างออกมาจากแนวลาดชัน (Reef Slope) ของแนวปะการัง ภูผาม่าน กับนาฏกรรมบนฟากฟ้ายามสนธยา เย็นย่ำยามตะวันกำลังจะลาลับขอบฟ้า อาจหมายถึงช่วงสิ้นสุดเวลาทำงานของผู้คนส่วนใหญ่ รวมทั้งสัตว์นานาชนิดที่ออกหากินในช่วงกลางวัน แต่สำหรับสิ่งมีชีวิตบางสายพันธุ์ นี่คือสัญญาณเริ่มต้นชีวิตในค่ำคืนใหม่ที่เวียนมาถึงอีกครั้ง ปลาเฉี่ยวหิน สมัยที่ผมยังเป็นเด็ก เมื่อเกือบ 40 ปีก่อน ผมเคยไปยืนดูปลาในตู้ปลาในร้านข้างบ้าน ริมถนนสุขุมวิท แล้วก็ตื่นตาตื่นใจกับปลาตัวเล็ก ๆ สีเงิน ๆ ฝูงหนึ่ง คนขายเรียกมันว่าปลาบอร์เนียว ซึ่งในตอนนั้นผมก็ไม่รู้หรอกว่าบอร์เนียวคืออะไร