#ข่าว

นักแกะสลักหิมะไทยพาผลงาน “The Naga Fireballs” คว้าที่ 2 จาก “Sapporo International Snow Sculpture ครั้งที่ 48”

ทีมนักแกะสลักหิมะตัวแทนประเทศไทย พาผลงาน “The Naga Fireballs” คว้ารางวัลรองชนะเลิศ จากการประกวดแข่งขัน “Sapporo International Snow Sculpture ครั้งที่ 48” นำเสนอตำนานบั้งไฟพญานาค พร้อมโชว์ความประณีตอ่อนช้อยของผลงานเชิงพุทธศิลป์แบบช่างศิลป์ไทยสู่สายตานานาชาติ

นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท. ได้ส่งทีมแกะสสักหิมะตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมแข่งขันในงาน “International Snow Sculpture ครั้งที่ 48” ซึ่งนับเป็นกิจกรรมไฮไลต์อย่างหนึ่งภายใต้เทศกาลหิมะ “Sapporo Snow Festival ครั้งที่ 74” ณ เมืองซัปโปโร จังหวัดฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 3 – 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567  โดยนับเป็นงานเทศกาลหิมะที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น แต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางมาเข้าร่วมและเที่ยวชมงานกว่า 2 ล้านคน โดยสำหรับในปีนี้เป็นการกลับมาจัดกิจกรรมแกะสลักหิมะอีกครั้ง ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่ง ททท. เห็นเป็นโอกาสอันดีในการนำเสนอวัฒนธรรม ประเพณี และความเชื่อของไทยผ่านงานศิลปะการแกะสลักหิมะไปสู่สายตาชาวต่างชาติทั่วโลก ทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริม Soft Power ซึ่งจะสร้างภาพจำและความประทับใจ ตลอดจนแรงบันดาลใจในการเดินทางท่องเที่ยวมายังประเทศไทยอีกด้วย

ทีมตัวแทนประเทศไทยที่ ททท. สนับสนุนให้เข้าแข่งขันในปีนี้ คือทีมที่ได้สร้างชื่อเสียงมาแล้วหลายครั้ง ประกอบด้วย นายกุศล บุญกอบส่งเสริม จากโรงแรมแชง-กรีล่า นายอำนวยศักดิ์ ศรีสุข นักแกะสลักอิสระ และนายกฤษณะ วงศ์เทศ นักแกะสลักอิสระ โดยร่วมเข้าแข่งขันกับตัวแทนจากต่างประเทศต่าง ๆ รวม 9 ทีม ได้แก่ ฮาวาย (สหรัฐอเมริกา) อินโดนีเซีย โปแลนด์ สิงคโปร์ พอร์ทแลนด์ (สหรัฐอเมริกา)  ลิทัวเนีย มองโกเลีย เกาหลีใต้ และประเทศไทย

ในการแข่งขันแกะสลักหิมะครั้งนี้ ทีมแกะสลักหิมะตัวแทนประเทศไทยได้นำเสนอผลงานที่ชื่อว่า “The Naga Fireballs” หรือ “บั้งไฟพญานาค” โดยสร้างสรรค์ขึ้นจากเรื่องราวและความเชื่อเกี่ยวกับพญานาคในรูปแบบของคนไทย ผลงานนี้เล่าเรื่องราวของพญานาคในบริบทของความเชื่อทางพุทธศาสนาและถูกสืบสานผ่านตำนานบั้งไฟพญานาคที่คนท้องถิ่นในภาคอีสานเชื่อว่าพญานาคเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำโขงและพญานาคในแม่น้ำโขงเป็นผู้จุดบั้งไฟนี้เพื่อบูชาพระพุทธเจ้าในวันออกพรรษา นอกจากเรื่องความเชื่อและความศรัทธาแล้วพญานาคในผลงานชิ้นนี้จึงยังสะท้อนถึงความเชื่อมโยงระหว่างสายน้ำ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของคนไทย นอกจากนี้ ทีมช่างแกะสลักยังตั้งใจออกแบบและแกะสลักลวดลายให้ละเอียดอ่อนประณีต เพื่อนำเสนอความสวยงามของจิตรกรรมและประติมากรรมเชิงพุทธศิลป์แบบไทย

การส่งตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันแกะสลักหิมะ เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ ททท. สนับสนุนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2534 โดยครั้งนี้นับเป็นการส่งตัวแทนเข้าแข่งขันครั้งที่ 21 โดยการที่ช่างแกะสลักตัวแทนประเทศไทยได้รับรางวัลชนะเลิศ (Champion) รวมทั้งสิ้น 9 ครั้ง และคว้ารางวัลชนะเลิศติดต่อกัน 3 ปีซ้อน (Grand Champion) จำนวนถึง 2 ครั้ง อย่างที่ไม่มีตัวแทนของประเทศอื่นสามารถทำได้มาก่อน ถือเป็นเครื่องพิสูจน์อย่างชัดเจนถึงความสามารถของช่างศิลป์ไทย และเป็นการเผยแพร่เอกลักษณ์งานศิลป์แบบไทยที่เป็นภูมิปัญญาสืบทอดกันมาแต่ช้านานผ่านงานเทศกาลระดับโลก นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทีมตัวแทนประเทศไทยยังได้รับความสนใจอย่างมากจากชาวญี่ปุ่นผู้ติดตามให้กำลังใจ ตลอดจนสื่อมวลชนของญี่ปุ่นและต่างประเทศ โดยในปีนี้ สำนักข่าว NHK WORLD-JAPAN และ TV Asahi ได้เตรียมนำเสนอเนื้อหาพิเศษเกี่ยวกับทีมแกะสลักหิมะไทยเพื่อเผยแพร่ไปยังผู้ชมชาวญี่ปุ่นทั่วประเทศ รวมถึงยังมีการนำเสนอผ่าน Hokkaido Newspaper ที่มียอดตีพิมพ์ 800,000 ฉบับต่อวัน ถือเป็นการสร้างชื่อเสียงและช่วยดึงดูดชาวญี่ปุ่นให้สนใจมาท่องเที่ยวประเทศไทยได้ในอนาคตด้วย

ทั้งนี้ ตลาดนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นถือเป็นตลาดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพของไทย โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเดินทางเข้าประเทศไทยกว่า 800,000 คน เติบโตร้อยละ 180 เมื่อเทียบกับปี 2565 ซึ่งติด 10 อันดับประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยสูงที่สุดในปี 2566

#นักแกะสลักหิมะไทย #TheNagaFireballs #SapporoInternationalSnowSculpture #ททท #amazingthailand

8/02/67 เวลา 04:20 น.