#ข่าว

ดีอีเอส  ไปรษณีย์ไทยลุยจัดงาน “โพสต์ติเวิร์ส” เนรมิตจุดเช็กอินย่านบางรัก อัดความตระการตา “ป็อปคัลเจอร์  ซอฟต์พาวเวอร์  สตอรี่ 140 ปี กิจการแห่งชาติ” พร้อมจัดโอลิมปิกงานแสตมป์ ส่งสุขให้คนไทย ทิ้งท้ายปี 66

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ร่วมเฉลิมฉลอง 140 กิจการไปรษณีย์ไทย เตรียมจัดงาน “POSTiverse : ส่งสุขไปทุกเวิร์ส 140 ปีไปรษณีย์ไทย และงานแสดงตราไปรณียากรโลก 2566” สะท้อนจักรวาลที่รวมความทรงจำปัจจุบันและอนาคตของไปรษณีย์ไทย พร้อมด้วยการนำเสนอศิลปะในระดับเวิลด์คลาส การนำเสนอซอฟต์พาวเวอร์ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากหลายกลุ่มบุคคล รวมถึงสิ่งล้ำค่าที่หาชมได้ยาก ซึ่งจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม พ.ศ. 2566 ณ อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก

 

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า ปี 2566 เป็นปีที่มีความสำคัญอย่างมากของไปรษณีย์ไทยเนื่องด้วยวาระครบรอบ 140 ปีกิจการด้านการสื่อสารและขนส่งของชาติ และยังครบรอบปีที่ 20 การแปรสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งมีบริการต่าง ๆ ที่สนับสนุนให้ภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศเติบโตขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้ เพื่อเป็นการฉลองการครบรอบวาระดังกล่าวกระทรวงดีอีเอสโดยไปรษณีย์ไทยจึงได้เตรียมจัดงานใหญ่เพื่อให้คนไทยได้เห็นถึงวิวัฒนาการกิจการของชาติ และสะท้อนให้เห็นถึงความก้าวล้ำของไปรษณีย์ไทยที่ทันสมัย สอดรับกับชีวิตยุคดิจิทัลในงาน “POSTiverse : ส่งความสุขไปทุกเวิร์ส 140 ปีไปรษณีย์ไทย และงานแสดงตราไปรณียากรโลก 2566” ซึ่งมีความพิเศษอย่างมากในทุกแง่มุม เช่น ความเป็นศิลปะในระดับเวิลด์คลาส การกระตุ้นซอฟต์พาวเวอร์ – เศรษฐกิจสร้างสรรค์ การเติมเต็มโอกาสและความสุขให้คนไทยด้วยไปรษณีย์ไทย ตลอดจนสิ่งล้ำค่าที่หาชมได้ยากที่จะถูกจัดแสดงในบิ๊กอีเว้นท์นี้

 

นายประเสริฐ กล่าวเสริมว่า นอกเหนือการจัดงานกระทรวงดีอีเอสยังให้ความสำคัญอย่างมากกับการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศดิจิทัลของประเทศให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งที่สำคัญนอกเหนือไปจากการลงทุนคือการใช้ประสบการณ์ของหน่วยงานในสังกัดเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ – สังคมให้ทัดเทียมกับสากล โดยไปรษณีย์ไทยเป็นหนึ่งในกลไกที่กระทรวงฯ ตั้งเป้านำประสบการณ์กว่า 140 ปี มากระตุ้นโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศดิจิทัลที่ดียิ่งขึ้น โดยมุ่งให้ไปรษณีย์เป็นแพลตฟอร์มแห่งโอกาสที่เติมเต็มความเชื่อมั่นด้านดิจิทัลทั้งภาพความเป็นรัฐบาลดิจิทัลจากการมีข้อมูลเครือข่าย ผู้ใช้บริการ ข้อมูลทางตลาดที่ภาคธุรกิจสามารถวางใจใช้การขนส่งได้ทั้งระบบ ความอัจฉริยะและความปลอดภัยในด้านตัวตนของคนไทย 70 ล้านคนจากการริเริ่มใช้ Digital ID การพลิกโฉมงานเอกสารออนไลน์ทั้งประเทศที่จะเริ่มใช้อย่างกว้างขวางในปี 2567 นี้ รวมไปถึงการเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่จะมาเติมเต็ม Smart City จากการเป็นสื่อสารและขนส่งที่อัจฉริยะขึ้น ตอบโจทย์ได้ทุกตามความต้องการและความยั่งยืน

ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า การจัดงาน POSTiverse : ส่งสุขไปทุกเวิร์ส 140 ปีไปรษณีย์ไทย และงานแสดงตราไปรณียากรโลก 2566 ระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2566 ณ ไปรษณีย์กลาง บางรัก เป็นการสะท้อนบทบาทไปรษณีย์ไทยที่มีต่อการสื่อสารและขนส่งของชาติมาตลอด 140 ปี โดยความหมายของ POSTiverse เปรียบเสมือนจักรวาลที่รวมเอาความทรงจำปัจจุบันและทิศทางอนาคตของไปรษณีย์ไทยไว้ในงานเดียว อีกทั้งยังสะท้อนมุมมองใหม่ ๆ เรื่องราวต่าง ๆ ที่คนไทยอาจยังไม่เคยได้สัมผัสและหาชมได้ยาก ได้แก่

นิทรรศการ “เจ้าฟ้านักสะสม” นำเสนอนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติหัวข้อ “เจ้าฟ้านักสะสม” ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทั้งห้องจำลองสิ่งสะสม/ แสตมป์สะสมส่วนพระองค์ อีกทั้งยังมีแม่พิมพ์แสตมป์ชุดแรกของไทย “ชุดโสฬศ” และแม่พิมพ์ไปรษณียบัตรชุดแรกจากกรมธนารักษ์ อายุ 140 ปีที่หาชมที่ไหนไม่ได้

 

POST Gallery 5 โซน ได้แก่ Verse of Love 140 ปีที่อยู่ใกล้เธอ บอกเล่าเรื่องราว 140 เรื่องดีต่อใจที่อยากเล่าให้ฟังใน 14 หมวด เช่น ของแปลกที่พี่ไปรฯ ส่ง จ่าหน้าพัสดุสุดโต่ง Verse of Legend 140 ปีมีตึกนาน บอกเล่าเรื่องราวของตึกที่มีตํานานก่อนจะมาเป็นไปรษณีย์กลาง บางรัก Verse of Origin 140 ปีมีที่มา – บอกเล่าเรื่องราวต้นฉบับสุดคลาสสิคที่ไปรษณีย์ไทยทํามาก่อนใคร เช่น บ้านเลขที่กําเนิดจากการตั้งกิจการไปรษณีย์ ไปรษณีย์ที่เคยส่งอาหารมาก่อน การให้บริการโทรคมนาคมรายแรก ไปรษณีย์เคยทําธุรกิจธนาคาร Verse of Memory 140 ปีมีความทรงจําเจาะลึก เรื่องราวตึกไปรษณีย์กลางบางรัก ที่เป็นไฮไลต์ของย่านเจริญกรุงที่แต่ละจุดมีความหมายและความทรงจําให้ติดตาม และ Verse of Next 140 ปีสู่อนาคต เรื่องราวของการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยโครงข่ายไปรษณีย์ไทย ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนทั้งรูปแบบ Physical Network และ Digital Network เช่น Postman Cloud, ThailandPostMart, Prompt Post, Digital Post ID, NFT Stamp

 

กิจกรรมสุดสร้างสรรค์เพื่อทุกไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรม 14 Stamp Hunting ตามล่าหาตราประทับจาก 14 จุด Highlight ภายในงาน ซึ่งหากตามล่าตราประทับครบตามที่กำหนดจะได้รับของที่ระลึกสุดพิเศษ กิจกรรม Dear Future Me ออกแบบและเขียน Postcard ถึงตัวเองในอนาคต
ซึ่งสามารถกำหนดช่วงเวลา และเรื่องราวที่อยากส่งถึงตัวเองในปีหน้า กิจกรรม Workshopเพ้นท์กระเป๋าผ้า เรียนรู้การจัดดอกไม้แบบง่ายกับนักจัดดอกไม้มืออาชีพ มินิคอนเสิร์ต จากโรงเรียน และมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยมหิดล และศิลปินดูโอ้ Serious Bacon และ fellow fellow Market Zone ร้านเด็ดเอาใจสายกินกว่า 40 ร้าน

 

สินค้าจำหน่ายสุดพิเศษ ได้แก่ แสตมป์ที่ระลึก 140 ปี ตราไปรษณียากร ชุด 1 ชนิดราคาโสฬศ อัฐ เสี้ยว ซีก และชุด 2 แสตมป์ที่ระลึก 140 ปี ตราไปรษณียากร ชุด 2 ชนิดราคาเฟื้องหนึ่งและสลึงหนึ่ง แสตมป์ “เจ้าฟ้านักสะสม” เป็นพระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงฉายกับตู้ไปรษณีย์ ในวาระสำคัญต่างๆ ของไปรษณีย์ไทย แสตมป์ที่ระลึก 140 ปี ไปรษณีย์ไทยและงานแสดงตราไปรษณียากรโลก 2566 ชุด 1 และชุด 2 ออกแบบโดยศิลปินรุ่นใหม่ที่มีชื่อเสียงและมีผลงานการออกแบบสินค้าให้กับแบรนด์แฟชั่นระดับโลก ในรูปแบบ Booklet โดยยังนำมาต่อยอดเป็นสินค้าที่ระลึก เช่น กระบอกน้ำเก็บความเย็น ร่ม กระเป๋าผ้า ผ้าคลุมไหล่ จานเซรามิก คอลเลกชันอาร์ตทอย 13 แบบโดยศิลปินจาก Art Toys Thailand และ Secret Collection 1 แบบ ที่ออกแบบโดยทีม “ไปรฯ ดีมาดี” นิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ร่วมแข่งขัน J-MAT Brand Planning Competition #2 ซึ่งเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการสร้างสรรค์อาร์ตทอยเป็นคาร์แรคเตอร์ที่เกี่ยวกับไปรษณีย์ โดยทั้ง 14 แบบนี้มาในรูปแบบโมเดลกาชาปองแบบสุ่มขนาดเล็ก 1 – 2 นิ้วในราคาสุ่มละ 299 บาท และมีจัดจำหน่ายแบบครบชุด 14 แบบ จำนวนจำกัดเพียง 20 ชุด ในราคา 5,399 บาท รวมทั้งอาร์ตทอยขนาดพิเศษ 9 – 23 ซม. จำนวน 13 แบบ แบบละ 20 ตัว ในราคาตัวละ 2,999 บาท และ 4,999 บาท

 

“การจัดงานที่ไปรษณีย์กลางบางรัก พื้นที่ประวัติศาสตร์ที่ยังคงอยู่ในไลฟ์สไตล์ร่วมสมัยในทุกยุคทุกเวลา ต้องการให้คนไทยได้เห็นถึงศักยภาพและตัวตนของไปรษณีย์ไทยในฐานะที่เป็นได้ทั้งผู้สนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซอฟต์พาวเวอร์ ป็อปคัลเจอร์ สามารถเนรมิตความครีเอทีฟต่าง ๆ ให้ทุกคนสามารถร่วมสนุกได้อย่างจุใจ ทั้งการถ่ายรูป การทำคอนเทนต์ และยังครอบคลุมไปถึงการทำให้ทุกคนและไปรษณีย์ไทยได้ผลักดันสิ่งใหม่ ๆ ในอนาคตร่วมกัน”

ด้าน นายสุรจิตร ก้องวัฒนา ที่ปรึกษาสมาคมนักสะสมตราไปรษณียากรแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ฯ กล่าวว่า งานแสดงตราไปรณียากรโลก 2566 เป็นครั้งที่ 6 ที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพ ซึ่งงานนี้เปรียบเสมือนงานโอลิมปิกแห่งวงการแสตมป์ที่นักสะสมแสตมป์ทั่วโลกให้ความสนใจ คาดว่าการจัดงานจะช่วยให้ผู้คนเห็นคุณค่าและมูลค่าของแสตมป์มากยิ่งขึ้น ซึ่งในส่วนของมูลค่านั้นจะได้เห็นทั้งจากแสตมป์ที่แพงที่สุดของโลก และแพงที่สุดในเอเชีย รวมถึงความครีเอทีฟใหม่ ๆ ที่จะทำให้แสตมป์ยังคงอยู่และกลายเป็นธุรกิจ สินค้า หรืออื่น ๆ ที่ยังมีมูลค่าในอนาคต

 

“สำหรับไฮไลต์งานแสดงตราไปรษณียากรโลกคือแสตมป์สีม่วงแดง 1 เซ็นต์บริติชกีอานา ปี 1856 จากประเทศบริติช กายอานา ที่มีราคาแพงที่สุดในโลก มูลค่ากว่า 300 ล้านบาท และแสตมป์มังกร 500 Mon (พิมพ์กลับหัว) ปี 1871 จากประเทศญี่ปุ่น ที่มีราคาแพงที่สุดในทวีปเอเชีย มูลค่ากว่า 200 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีโซนจัดแสดงตราไปรษณียากรหายาก ผลงานการประกวดตราไปรษณียากรจากนักสะสมทั่วโลก กว่า 60 ประเทศประมาณ 2,500 แผงประกวด การประมูล – การเสวนาความรู้ในการสะสมแสตมป์จากนักสะสมแสตมป์ชั้นนำระดับโลก มีการไปรษณีย์จากชาติต่างๆ มาร่วมงานและออกร้าน รวมกว่า 50 ร้านสิ่งที่นอกเหนือไปจากนั้นคือกิจกรรมการเสวนาความรู้ในการสะสมแสตมป์ที่ให้ข้อมูลโดยผู้เชี่ยวชาญไทยและระดับโลก ซึ่งจะทำให้เข้าใจมากขึ้นถึงการมีอยู่ของแสตมป์และสิ่งที่จะดำเนินไปในอนาคต”

 

7/12/66 เวลา 06:48 น.