#ข่าว

ททท. เผยความสำเร็จโครงการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ “หนึ่งเดียวที่ลพบุรี” สร้าง Amazing Experience ตราตรึงใจ

          การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เผยความสำเร็จสู่การท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืน ชูกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์นำร่องคุณภาพสูง ภายใต้ “โครงการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์สร้างสรรค์” ตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจ BCG ให้เป็นหนึ่งในรูปแบบการท่องเที่ยวสร้างสรรค์ที่จุดประกายคุณค่าประวัติศาสตร์ไทย อีกทั้งขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทยได้ในอนาคต

 

นายกิตติพงษ์ ประพัฒน์ทอง ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคกลาง ททท. กล่าวว่า “โครงการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์สร้างสรรค์” นับเป็นโครงการปฐมฤกษ์ครั้งสำคัญที่นำรูปแบบการเดินทางสัมผัสประวัติศาสตร์อันล้ำค่าเชื่อมโยงกับแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งจะสามารถต่อยอดการสร้างรากฐานที่มั่นคงและเข็มแข็งให้กับการท่องเที่ยวของประเทศไทยได้ โดยตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และหอการค้าไทย สำหรับกิจกรรมเส้นทางท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์นำร่องคุณภาพสูงในครั้งนี้ เป็นการเดินทางสู่พื้นที่ประวัติศาสตร์ของจังหวัดลพบุรี ด้วยคอนเซ็ปต์ “หนึ่งเดียวที่ลพบุรี” พาย้อนประวัติศาสตร์แวร์ซายส์แห่งตะวันออก จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25-26 มีนาคม 2566

 

 

โดยผู้ร่วมเดินทางต่างก็ได้สัมผัสกับประวัติศาสตร์หัวเมืองสำคัญและเรียนรู้อัตลักษณ์ของราชธานีแห่งที่ 2 ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชอย่างลึกซึ้ง จุดหมายแรกมุ่งหน้าสู่ “เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์” สัมผัสมรดกทางวัฒนธรรม ณ “พิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำป่าสัก” แหล่งความรู้ด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และความเจริญรุ่งเรืองของชุมชนในอดีต รวมถึงข้อมูลด้านชลประทานและทรัพยากรธรรมชาติจากพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จากนั้นไปสัมผัสวิถีชีวิตชุมชนไทยเบิ้ง ณ ชุมชนวัฒนธรรมไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง สนุกสนานไปกับกิจกรรมการลองทำเมนูอาหารพื้นถิ่นขึ้นชื่ออย่าง “พริกตะเกลือ” การทำขนมเบื้อง การตัดพวงมะโหด และร่วมอุดหนุนสินค้าชุมชน  พร้อมเรียนรู้ความเป็นมาของ “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านไทยเบิ้งโคกสลุง” ที่สร้างจากแรงบันดาลใจของชาวบ้านที่ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านได้ร่วมกันหาแนวทางในการฟื้นประเพณีและวัฒนธรรมพื้นบ้านของชาวไทยเบิ้ง ตื่นตาตื่นใจไปกับความสวยงามของโบราณสถาน “พระนารายณ์ราชนิเวศน์” สถาปัตยกรรมแบบไทยผสมตะวันตก สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พร้อมร่วมสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระนารายณ์ บริเวณพระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาท พักผ่อนหย่อนใจไปกับการแสดงนาฏศิลป์อย่างระบำลพบุรี และระบำลิง ลิ้มลองขนมโบราณเลิศรสอย่างทองเอก จ่ามงกุฎ เสน่ห์จันทร์ แวะชม “พระที่นั่งไกรสรสีหราช (พระที่นั่งเย็นหรือตำหนักทะเลชุบศร)” อันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเป็นจุดเริ่มต้นการศึกษาด้านดาราศาสตร์ไทย

 

เดินทางต่อไปที่ “บ้านหลวงรับราชทูต” (บ้านวิชาเยนทร์) อีกหนึ่งสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้นในกรุงศรีอยุธยา รัชสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ชมความหรูหราของสถาปัตยกรรมศิลปตะวันตกยุคเรเนซองส์กับบ้านราชทูตในอดีต และโบสถ์คริสต์ที่ตกแต่งด้วยศิลปะแบบไทยทางพระพุทธศาสนา แวะกราบสักการะพระศรีอาริย์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ “วัดไลย์” วัดเก่าแก่ริมแม่น้ำบางขาม ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น รัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศทรงปฏิสังขรณ์ ชมโบราณสถานและโบราณวัตถุสำคัญอย่าง พระอุโบสถ พระวิหารเก้าห้อง มณฑปยอดปรางค์ รวมถึงพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมโบราณวัตถุ ปิดท้ายชมสาธิตการทำขนมโบราณภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนอย่างเต่าและขนมต้มญวณ

 

ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคกลาง กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์นำร่องคุณภาพสูง ทั้ง 3 เส้นทาง คือ เส้นทาง “สามเหลี่ยมมหัศจรรย์ของทวารวดี” เส้นทาง “วิถีชาวน้ำแห่งอยุธยา” และ “เส้นทางหนึ่งเดียวที่ลพบุรี” ที่เพิ่งสิ้นสุดลง ได้รับความสนใจและประสบความสำเร็จเกินคาด ซึ่ง ททท. มุ่งหวังว่าการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์จะช่วยส่งเสริมวิถีชีวิตชุมชน อาหาร การแต่งกาย สถาปัตยกรรม เทศกาลงานประเพณี ตลาดการค้าท้องถิ่น ตลอดจนพัฒนาผู้ประกอบการในแหล่งท่องเที่ยวชุมชนให้มีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวต่อไป อีกทั้งนำสู่การสร้างสรรค์เส้นทางการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ในแหล่งท่องเที่ยวอารยะอื่นๆ ได้ในอนาคต เช่น อารยธรรมตามพรลิงค์ อารยธรรมโคตรบูร อารยธรรมล้านนา และอารยธรรมศรีวิชัย เป็นต้น

 

 

โดยผลความสำเร็จของกิจกรรมเส้นทางท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์นำร่องคุณภาพสูงในครั้งนี้ได้รับการประสานความร่วมมืออย่างเต็มกำลังจากบุคลากรสำคัญ อันได้แก่

  • การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นายกิตติพงษ์ ประพัฒน์ทอง ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคกลาง นายวิศณุ อรุณบำรุงวงศ์ รองผู้อำนวยการภูมิภาคภาคกลาง นางสาวสุรีพร พงษ์พานิช ผู้อำนวยการกองตลาดภาคกลาง นางสาวพิมพกานต์
    พิพิธธนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานลพบุรี ทีมงานกองตลาดภาคกลาง
    และทีมงาน ททท. สำนักงานลพบุรี
  • หอการค้าไทย นายธวัชชัย เศรษฐจินดา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายพงศธร ชัยชนะพานิช
    ประธานหอการค้าจังหวัดลพบุรี ว่าที่ รอ.ณัฐพิสิฐ เจริญถิรวิสิฐ ประธานหอการค้าจังหวัดสิงห์บุรี และคณะกรรมการหอการค้าไทย
  • กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นางสาวสิริธรรม ณ ระนอง ผู้อำนวยการการสำนักงานบริหารวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย รองศาสตราจารย์ดร.วิภู กุตะนันท์
    อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • และวิทยากรจากมหาวิทยาลัยมหิดล โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์
25/04/66 เวลา 02:21 น.