#ธรรมชาติ

กว่าจะเก๋า…

นัท สุมนเตมีย์ เรื่องและภาพ

หลังจากการออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านในเรื่องของการแก้ไขมาตรา 69 ในพระราชกำหนดประมงเดิมที่จะอนุญาตให้ใช้อวนตาถี่ร่วมกับแสงไฟล่อในตอนกลางคืนได้ในพื้นที่ห่างออกไปจากชายฝั่ง 12 ไมล์ทะเล ในช่วงเวลาที่ผ่านมาผมจึงให้ความสนใจกับลูกปลาวัยอ่อนที่ล่องลอยอยู่ในห้วงมหาสมุทร มากขึ้นเป็นพิเศษ หลายปีก่อนเราทดลองทำ Black Water Night Dive ที่เราใช้แสงจากไฟฉายใต้น้ำมัดรวมกันกับเชือกทุ่นแล้วปล่อยให้ล่องลอยไปกลางทะเลเปิด แล้วเราก็ลงดำน้ำตามแสงไฟที่ผูกกับทุ่นไปตามกระแสน้ำไปเป็นระยะทางไกล ๆ นับกิโลเมตร เพื่อล่อให้สิ่งมีชีวิตในท้องทะเลมารวมกันใต้วงไฟของเราในบริเวณที่ห่างจากหมู่เกาะสิมิลันไปราว 14 ไมล์ ผมตามบันทึกภาพของลูกปลาวัยอ่อนหน้าตาแปลก ๆ มาได้หลายชนิด เจ้าปลาตัวนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่เรายังนึกภาพไม่ออกว่าเป็นปลาอะไร แต่ก็ยังไม่ได้ให้ความสนใจอะไรกับมันมากนัก

 

หลายปีผ่านไป เมื่อมีเรื่อง มาตรา69 ขึ้นมา ผมถึงมีเวลาค้นภาพที่ค้างอยู่ในฮาร์ดดิสก์ออกมาดูว่าเจ้าลูกปลาตัวเล็ก ๆ นี้คือปลาอะไร ตอนแรกผมก็คิดว่าคงจะเป็นพวกปลาเล็ก ๆ ที่ไม่ได้สลักสำคัญอะไร แต่เมื่อค้นข้อมูลลงไปลึก ๆ จากกองหนังสือ และการสืบค้นในอินเทอร์เนตทำให้ผมเชื่อว่า ลูกปลาวัยอ่อนตัวนี้น่าจะเป็นลูกปลาในกลุ่มปลาเก๋า หรือ Grouper ชนิดหนึ่ง แต่การจะลงรายละเอียดลงไปว่าเป็นปลาเก๋าชนิดใดนั้นดูจะยากเกินไปกว่าความสามารถในการจำแนกของผม

 

สิ่งนี้ลบล้างความเชื่อของเราไปจากที่เดิมเราเชื่อกันว่าลูกปลาเก๋านั้นจะเริ่มต้นชีวิตในบริเวณริมชายฝั่งทะเลหรือตามป่าโกงกางเพียงเท่านั้น มันทำให้พบว่าบางชนิดก็ใช้ชีวิตที่เป็นแพลงก์ตอนล่องลอยไปตามกระแสน้ำกลางห้วงมหาสมุทรเช่นกัน ก่อนที่จะกลับเข้ามาสู่แนวปะการังตามกองหินหรือข้างชายเกาะ เรียกได้ว่ากว่าจะเก๋าได้ ทุกตัวก็ต้องผ่านชีวิตมาอย่างโชกโชน และเอาตัวรอดมาเป็นปลาเก๋าหน้าตาเก๋า ๆ ให้เราเห็นตอนโตตอนที่เราลงไปดำน้ำ หรือว่ามานอนอยู่บนจานอาหารของเรา สิ่งนี้ก็อาจจะเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจอีกอย่างหนึ่ง ถ้ากฎหมายเปิดช่องให้ทำประมงด้วยอวนตาถี่กับแสงไฟล่อในยามค่ำคืนได้ แม้จะอยู่ห่างออกไปนอกชายฝั่งมากกว่า 12 ไมล์ทะเลก็ตาม

24/03/68 เวลา 03:50 น.