#เที่ยววัฒนธรรม

เบอร์อามัส ว่าวที่เล่าทิศทางชีวิต

“แรมชเล” เรื่อง เสาวนีย์ สมบูรณ์ ภาพ

 

 

ลวดลายมลายูถ่ายทอดลงที่ใด ดูเหมือนว่ามันจะหลอมรวมการใช้ชีวิต ความเชื่อ และแรงศรัทธาของผู้คนตรงนั้นลงไปด้วย
ไม่ใช่แค่แนวทางปฏิบัติตนในการเป็นมุสลิมที่ดีพร้อม แต่หลายต่อหลายอย่างที่เป็นรากเหง้าของคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ได้บ่มเพาะและก่อเกิดศิลปวัฒนธรรม รวมไปถึงสิ่งสร้างสรรค์รายละเอียดชีวิตที่งดงาม สืบสานต่อเนื่องมานานนับหลายรุ่น

 

การทำว่าวเบอร์อามัส คือประณีตศิลป์หนึ่งในสายงานช่างที่ผูกพันกับชีวิตผู้คนในแหลมมลายูมายาวนาน มันเป็นหนึ่งในชนิดของว่าวพื้นถิ่นที่เต็มไปด้วยความงามของลวดลาย การขึ้นดัดโครง กรีดตัดกระดาษให้แม่นยำตามลายที่ครูช่างวาดไว้แต่เดิม ไม่เพียงเท่านั้น ยังเป็นการละเล่นที่เชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกันผ่านคุณค่าทางศิลปะและความศรัทธาตามแนวทางศาสนาอิลาม
“ลายว่าวต้องไม่มีสิ่งที่เรียกว่าลมหายใจ” ไวโรจน์ วานิ ศิลปินและครูของเด็ก ๆ โรงเรียนเทศบาล 1 บ้านตะลุบัน แห่งอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ค่อย ๆ ไล่นิ้วไปตามลายลวยที่ปรากฏขึ้นอย่างละเอียดลออบนกระดาษสีสวย มันถูกวาดกรีดตัดให้เกิดเส้นโค้งเป็นรูปใบไม้ เส้นสายคดโค้ง หลังผ่านการระบายสีไล่เงามาจนงดงาม

 

 

ไวโรจน์สืบต่อการทำว่าวมลายูจากแวอามิ วานิ ครูศิลป์ของแผ่นดินที่เจนจัดงานสายช่างหลวงตามขนบของชนชั้นสูงในวังเจ้านายในบ้านเมืองต่าง ๆ ในพื้นที่แหลมมลายูมายาวนาน ว่าวงเดือน ว่าวควาย ไล่เลยไปถึงเบอร์อามัส ว่าวชนิดสูงสุด หากจะนับทั้งรูปทรงและลวดลาย โดยถือกันว่าเป็นว่าวที่แต่เดิมเล่นเฉพาะในกลุ่มเจ้านายและชนชั้นสูง “ว่าวควาย ว่าววงเดือน มันสามัญและเรียบง่ายกว่า ส่วนเบอร์อามัส มันเหมือนเป็นจุดวัดทักษะและความสามารถของช่างทำว่าว ละเอียดสุด มีขนบมากสุด และที่สำคัญคือใช้เวลานาน”
กล่าวย่อยลงไปในเรื่องลายว่าว มันเต็มไปด้วยมิติทางสังคม ศาสนา ปรัชญาการใช้ชีวิต รวมไปถึงภาพการสร้างสรรค์ที่เป็นมรดกตกทอด หลักคิดแนวทางของอิสลามไม่เชื่อในรูปเคารพใด ๆ นอกจากอัลเลาะห์ที่เป็นพระเจ้าเพียงองค์เดียว ขีดแนวทางให้ไม่มีรูปอะไรอื่นในลวดลายมลายู มันส่งต่อให้ศิลปินโบราณให้ความสำคัญกับการสร้างลายที่ยึดโยงอยู่กับธรรมชาติรอบตัว ดอกไม้ ใบไม้พื้นถิ่นที่พบเห็น อย่างใบพลู ตำลึง หรือย่านดาโอะที่พวกเขาเรียกกันว่าใบไม้สีทอง

 

“ศาสนาทำให้เรามีแนวทางในการชีวิตที่เคร่งครัดและเป็นสุข มันถูกกำหนดไว้ชัดเจน ลายว่าวก็มาจากแนวคิดแบบนี้ ปลายลายไม่วิ่งเข้าหากัน คือการไม่ทำร้ายกัน ให้เกียรติกัน ทุกลายต้องอยู่ในกรอบ มันคือกรอบของศาสนา เป็นการใช้ชีวิตตามแนวทางที่อัลเลาะห์บอกสอนไว้ และจะเริ่มจากจุดศูนย์กลางเท่านั้น คือเรามีต้นกำเนิดจากที่เดียวกัน” ไวโรจน์ขมวดรวบแนวทางการใช้ชีวิตของมุสลิมคลี่คลายออกมาเป็นงานประณีตศิลป์ไว้เช่นนี้

 

นอกจากความอ่อนช้อยงดงาม ว่าวเบอร์อามัสกลับต้องมีโครงที่ทั้งเข้มแข็งทว่ายืดหยุ่น ไวโรจน์บอกว่า ช่างทำว่าวที่ถือว่าเจนจัดนั้น ต้องผ่านการเคี่ยวกรำจนชำนาญ เลือกไผ่เป็น และต้องเข้าใจน้ำหนักการเหลาเกลา ให้มีทั้งส่วนที่แข็ง ส่วนอ่อนที่ไว้ลู่เอนยามต้องลม “ในว่าวหนึ่งตัวมันเต็มไปด้วยปรัชญาการใช้ชีวิต เห็นใบไม้ไหมครับ มันจะเป็นใบของพืชชนิดเดียว แต่จะไม่เหมือนกันเลยสักใบในหนึ่งตัว เหมือนคนเรานั่นล่ะ แม้แตกต่าง แต่ไม่เบียดเบียนกัน เคารพซึ่งกันและกัน” ไวโรจน์ค่อย ๆ จรดมีดแหลมลงบนแผ่นกระดาษถอดลายเครือเถา จังหวะนิ่ง ๆ ลากยาวไปราวกับกระดาษ มีด และคนจะหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน

 

 

สองพ่อลูกตระกูลวานิสืบทอดการทำว่าวจากช่างหลวงสายบุรีมารุ่นต่อรุ่น จากแวฮามิสู่ไวโรจน์ ปัจจุบันนี้คงมีเพียงครอบครัวนี้เท่านั้นที่ยังคงทำงานช่างตามขนบดั้งเดิมอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน“ภูมิปัญญามันเกิดขึ้นได้ แต่ก็หมดได้ ถ้าเราไม่หวงแหนดูและหรือบอกสอน ผมเองก็ไม่ได้คาดหวังว่าคนจะมาเรียนทำว่าวแล้วต้องทำต่อไปทางนี้เท่านั้น แต่เขาเอาทักษะตรงนี้ไปต่อยอดได้ เอาทักษะการเขียนลาย การมีสมาธิ หรือเข้าใจที่มาที่ไปทั้งคุณค่าทางศิลปะและหลักคิดทางศาสนาไปปรับใช้ในชีวิต นั่นสำคัญกว่า” ครูของช่างทำว่าวแห่งสายบุรีเปรยขึ้นใต้ร่มไม้ของหมู่บ้านประมงเล็ก ๆ ใกล้หาดวาสุกรี

 

 

เนิ่นนานมาแล้ว เมื่อคนรุ่นพ่อได้เรียนรู้การทำว่าวเบอร์อามัสจากทวดที่สืบเชื้อสายช่างจากกลันตัน มาเลเซีย และติดตามเจ้าเมืองมาอยู่ที่วังสายบุรี ทุกวันนี้ดูเหมือนว่ามันได้ตกทอดอยู่ในคนอีกรุ่นอย่างชัดเจนและงดงาม สื่อสารผ่านลวดลายอันสะท้อนถึงชีวิตของพี่น้องมุสลิมในพื้นที่แห่งหนึ่งของปัตตานีอย่างเงียบเชียบ แต่ไม่เคยขาดห้วง
เป็นความงามที่มีกรอบเกณฑ์ชัดเจนว่าชีวิตควรเลือกเดินไปในทิศทางใด

 

กลุ่มเบอร์อามัส
เลชที่ 70 ถนนโรงพยาบาล ตำบลตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี 94110
โทรศัพท์ 09 2764 2232

26/11/67 เวลา 07:20 น.