#ธรรมชาติ บ้าน บารมี เต็มบุญเกียรติ เรื่องและภาพ น่าแปลก เราสร้างบ้านโดยวัสดุหลักที่นำมาจากธรรมชาติ แต่พอสร้างเสร็จในเมืองใหญ่ทุกเมือง ความเป็นธรรมชาติค่อย ๆ ลดลง เต็มไปด้วยตึกสูงและคอนกรีต อุณหภูมิความร้อนในเมืองเพิ่มขึ้นจากการสะท้อนแสง ไม้ใหญ่แผ่รากลงดินได้ยากและยังถูกคอนกรีตปิดผิวดินจนรากขาดอากาศหายใจ พอรากไม่แข็งแรง แผ่ไชไปได้ไม่เท่าที่ควรจะเป็น ยามโดนพายุก็ไม่อาจทานทนได้ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกคนอยากมีบ้าน บ้านคือความฝันของใครหลาย ๆ คน และวัสดุหลักที่นำมาสร้างบ้านคือบ้านของอีกหลายชีวิต เราขโมยภูเขาเป็นลูก ๆ มาจากความเป็นธรรมชาติ ทำลายถิ่นอาศัยของสัตว์หลายชนิด ทำลายเพื่อมาสร้างสิ่งที่ไม่เป็นธรรมชาติ ภูเขาเมื่อถูกระเบิดไปแล้ว สร้างขึ้นทดแทนไม่ได้ แตกต่างจากต้นไม้ แม้ถูกตัดไป เมื่อทิ้งไว้ ธรรมชาติจะสร้างป่าขึ้นมาใหม่ทดแทน ที่น่ากลัวคือสัตว์ที่หากินบนยอดเขาและหน้าผาเป็นหลัก และยังเป็นสัตว์ป่าสงวนของไทยอย่างเลียงผา ซึ่งกำลังเผชิญชะตากรรมนี้ เลียงผานอกเขตอนุรักษ์ส่วนใหญ่ ถิ่นอาศัยหลักของพวกมันถูกตัดขาดออกจากกันจากถนนเส้นหลักที่ฉีกป่าออกเป็นส่วน ๆ จากนั้นความเจริญทำให้เกิดชุมชน มีถนนเส้นเล็ก ๆ เพิ่มขึ้นจากถนนหลักเข้าไปชิดป่า จนยอดเขาในพื้นที่กลายเป็นเหมือนเกาะเล็ก ๆ ที่กระจายตัวอยู่กลางทะเล ชะตากรรมที่ตามมาคือการล่าทำได้ง่าย ภัยคุกคามจากการล่ายิ่งเพิ่มขึ้นเพื่อนำมาบริโภค อีกทั้งยังมีความเชื่อผิด ๆ ที่ว่าน้ำมันเลียงผาใช้รักษาบาดแผลและสมานกระดูกได้ ปัจจุบันเลียงผาที่พบในบ้านเราถูกแบ่งออกเป็นชนิดย่อย 2 ชนิด คือเลียงผาเหนือและเลียงผาใต้ บ้านเราแบ่งด้วยเขตการกระจายพันธุ์ที่คอคอดกระ อยู่เหนือขึ้นมาคือเลียงผาเหนือ อยู่ใต้ลงไปคือเลียงผาใต้ ความแตกต่างในรายละเอียด เลียงผาเหนือมีขนาดใหญ่กว่า และมีขนจากข้อลงไปเป็นสีน้ำตาลอมแดง ในขณะที่เลียงผาใต้จะมีสีดำ ตามสัญชาตญาณซึ่งชอบอาศัยอยู่บนที่สูงและหน้าผาสูงชันเพื่อให้ปลอดภัยจากสัตว์ผู้ล่า มีอาณาเขตที่แน่นอน ในช่วงแล้งที่บนยอดเขาขาดแคลนน้ำ พวกมันสามารถกินพืชอวบน้ำเพื่อทดแทน และยังลงมาหากินตามที่ราบซึ่งเป็นการอพยพลงมาหากินในช่วงสั้น ๆ เพื่อหาแหล่งน้ำด้านล่าง การอนุรักษ์เลียงผาที่เป็นสัตว์ป่าสงวนให้ได้ผลนั้น เราต้องคุ้มครองและอนุรักษ์ถิ่นอาศัยของพวกมันด้วย เพราเลียงผาเป็นสัตว์หากินเฉพาะที่ ไม่สามารถปรับตัวอาศัยได้กับสภาพแวดล้อมแบบอื่น โดยเฉพาะเลียงผาที่มีถิ่นอาศัยอยู่นอกเขตอนุรักษ์และอยู่ในการสัมปทานเหมืองแร่ เพราะแม้ว่ารัฐบาลจะได้ค่าภาคหลวงมาก แต่ในหลายพื้นที่ที่เป็นแปลงสัมปทานนั้นเป็นต้นน้ำชั้น 1A มีความสำคัญมาก ในทางวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม พื้นที่ต้นน้ำชั้น 1A จัดเป็นพื้นที่มีความสมบูรณ์ที่สุด จึงควรสงวนรักษาไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำ อีกทั้งอุตสาหกรรมเหมืองยังสร้างมลพิษทางฝุ่นให้กับพื้นที่ สิ่งที่ทิ้งไว้คือการเอาธรรมชาติออกจากพื้นที่เพื่อไปสร้างความไม่เป็นธรรมชาติให้กับปลายทาง Post Views: 226 16/10/66 เวลา 04:29 น. บทความที่เกี่ยวข้อง ปลานกขุนทองแดง (Floral Wrasse) ในห้วงของความลึก ณ บริเวณจุดดำน้ำใกล้กับอ่าวช่องขาด บริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา ผมใช้เวลาส่วนใหญ่ของการดำน้ำไล่ไปตามบริเวณพื้นทรายซึ่งอยู่ห่างออกมาจากแนวลาดชัน (Reef Slope) ของแนวปะการัง ภูผาม่าน กับนาฏกรรมบนฟากฟ้ายามสนธยา เย็นย่ำยามตะวันกำลังจะลาลับขอบฟ้า อาจหมายถึงช่วงสิ้นสุดเวลาทำงานของผู้คนส่วนใหญ่ รวมทั้งสัตว์นานาชนิดที่ออกหากินในช่วงกลางวัน แต่สำหรับสิ่งมีชีวิตบางสายพันธุ์ นี่คือสัญญาณเริ่มต้นชีวิตในค่ำคืนใหม่ที่เวียนมาถึงอีกครั้ง ปลาเฉี่ยวหิน สมัยที่ผมยังเป็นเด็ก เมื่อเกือบ 40 ปีก่อน ผมเคยไปยืนดูปลาในตู้ปลาในร้านข้างบ้าน ริมถนนสุขุมวิท แล้วก็ตื่นตาตื่นใจกับปลาตัวเล็ก ๆ สีเงิน ๆ ฝูงหนึ่ง คนขายเรียกมันว่าปลาบอร์เนียว ซึ่งในตอนนั้นผมก็ไม่รู้หรอกว่าบอร์เนียวคืออะไร