#แวะชมสมบัติศิลป์ พระพิมพ์ พุทธศิลป์ถิ่นสุโขทัย สุริยะ สิทธิชัย เรื่อง สมาภรณ์ อุดมรัตน์ ภาพ “คติความเชื่อในการสร้างพระสุโขทัยเป็นการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา ตามหลักความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด การสร้างพระจึงถือเป็นการสร้างบุญบารมีอย่างหนึ่ง” เมื่อผู้เขียนได้มาเยือนสุโขทัยครั้งใด ทำให้นึกย้อนไปไกลถึงความสุโขแห่งใจเมื่อครั้งมีโอกาสมาร่วมประกวดดนตรีไทยในระดับมัธยมศึกษา ในงานเผาเทียนเล่นไฟ ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยเป็นครั้งแรกเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศในครั้งนั้น เมื่อถึงวัยทำงาน ก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการแสดงแสงเสียงขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่ามินิไลต์ แอนด์ ซาวนด์ ซึ่งมีชื่อเสียงมากมายในช่วงหนึ่ง ดังนั้น การมาเยือนสุโขทัยแต่ละครั้งจะเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกรัก ผูกพัน และมีแต่ความประทับใจเมืองเก่าแห่งนี้เป็นพิเศษ การมาเยือนสุโขทัยในครั้งนี้ก็เช่นกัน สร้างความประทับใจไม่แพ้ครั้งใด ทำให้นึกถึงแคมเปญโฆษณาล่าสุดของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ว่า “เที่ยวเมืองไทย อะเมซิ่งยิ่งกว่าเดิม” เพราะสุโขทัยทำให้เกิดความรู้สึกเช่นนั้นจริง ๆ และยังทำให้นึกถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ว่า “อิฐเก่า ๆ แม้เพียงก้อนเดียวก็มีค่า หากปราศจากซึ่งอิฐเก่าแห่งสุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ประเทศไทยจะไม่มีวันนี้” การได้ใช้เวลาเดินชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยแล้วจินตนาการภาพในอดีตตามความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา เศษก้อนอิฐเล็กน้อยทุกก้อนที่อยู่ในบริเวณอุทยานฯ ล้วนบอกเล่าถึงความรุ่มรวยวัฒนธรรม เห็นถึงวิถีชีวิต ความศรัทธา ความเชื่อที่สั่งสมบ่มมาเป็นเวลามากกว่า 700 ปี และในครั้งนี้ ผู้เขียนมีโอกาสได้พบบุคคลสำคัญที่เรียกได้อย่างสนิทใจว่าเป็นปราชญ์แห่งเมืองเก่า เล่าเรื่องเมืองสุโขทัยด้วยสำเนียงท้องถิ่นดั้งเดิมได้อย่างพรั่งพรูรู้ลึก นั่นคือคุณกบ-ณรงค์ชัย โตอินทร์ ผู้ซึ่งเป็นทั้งมัคคุเทศก์ท้องถิ่นและผู้ถ่ายทอดพุทธศิลป์การพิมพ์พระดินเผา เป็นผู้อนุรักษ์และสร้างสรรค์ผลงานบนรากฐานความเก่าแก่ของเมืองสุโขทัย คุณกบเล่าว่า สำเนียงที่ได้ยินเป็นสำเนียงดั้งเดิมของคนเก่าแก่ในสุโขทัย ภาษาพูดที่ใช้ร่วมกันอยู่มีอีก 5 เมืองที่ยังคงสำเนียงแบบนี้ คือ พิษณุโลก ตาก ศรีสัชนาลัย ไปถึงทุ่งยั้ง อุตรดิตถ์ และกำแพงเพชร ผู้เขียนยิ่งฟังยิ่งเพลิน มีความไพเราะเหมือนเสียงดนตรี มาถึงเรือนคุณกบทั้งที ต้องมาเรียนรู้การทำพระพิมพ์ ซึ่งเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์เมืองสุโขทัย หรือบ้านพระพิมพ์ลักษมณศิลป์ เพื่อถ่ายทอดให้ผู้ที่สนใจหรือนักท่องเที่ยวที่มาเยือนได้มีประสบการณ์ท่องเที่ยวที่มีคุณค่า และสร้างจิตสำนึกให้เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ที่มีความเป็นมาอันยาวนานของชาติไทย คติความเชื่อในการสร้างพระสุโขทัย ถือเป็นการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา ในความเชื่อตามหลักพุทธศาสนา ซึ่งเชื่อในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด การสร้างพระจึงเป็นการสร้างบุญบารมีที่ผู้สร้างจะได้ไปเกิดในภพชาติที่ดีในชาติหน้าต่อไป สำหรับขั้นตอนการพิมพ์พระ เริ่มจากเตรียมดินในท้องถิ่น โดยใช้ดิน 3 ส่วน ทราย 1 ส่วน ที่ต้องใช้ทรายเพื่อไม่ให้ชิ้นงานแตก แม่พิมพ์ทำมาจากพระพิมพ์โบราณซึ่งถูกขุดค้นพบในสุโขทัย ทั้งนี้จะสร้างมาจากสี่อิริยาบถของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ นั่ง นอน ยืน เดิน สำหรับแม่พิมพ์ในสมัยโบราณทำจากดินเผา โลหะ เช่น สำริด หรือไม้แกะสลัก แต่ปัจจุบันใช้ซิลิโคน ซึ่งมีข้อดีคือ พื้นผิวของยางซิลิโคนลื่น ทำให้ชิ้นงานไม่ติดแม่พิมพ์ สำหรับแบบพิมพ์จะมีพระปางลีลา พระนางพญาเสน่ห์จันทร์ พระนารายณ์ทรงปืน เป็นต้น ในเบื้องต้นจะนำดินที่เตรียมไว้ปั้นเป็นรูปทรงตามแบบพิมพ์ว่าเป็นพระปางใด เช่น ถ้าเป็นพระปางลีลา ปั้นดินให้เป็นรูปทรงยาว โดยการทำโกลนยัดดินเข้าไปในแม่พิมพ์ แล้วกดแม่พิมพ์ให้แน่น พระจะได้มีความสวยงาม จากนั้นใช้ดินอีกก้อนกดลงไปที่ดินในแบบ ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “แนะ” ดินจะช่วยดูดชิ้นงานออกมาได้อย่างง่ายดาย สำหรับนักท่องเที่ยวที่ยังไม่มีทักษะในการพิมพ์พระมาก่อน คุณกบจะเตรียมไม้ยาวไว้ให้ โดยจะทำโกลนเหมือนเดิม แต่ขนาดจะใหญ่กว่า จากนั้น นักท่องเที่ยวใช้นิ้วโป้งยัดดินลงไป อัดให้แน่น และใช้ไม้ยาวที่เตรียมไว้กดตรงกลางแม่พิมพ์และใช้ไม้ปาดให้ชิ้นงานมีความเรียบเสมอกัน ไม่บิดเบี้ยว การที่นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม “พิมพ์พระ” เป็นการสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวที่มีคุณค่า ได้เรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรม และยังมีส่วนร่วมในการสืบต่อพระพุทธศาสนาอีกด้วย ศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์เมืองสุโขทัย (บ้านพระพิมพ์ลักษมณศิลป์) บ้านเลขที่ 51/7 หมู่ 8 บ้านพระเชตุพน ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองฯ จังหวัดสุโขทัย 64210 ติดต่อคุณณรงค์ชัย โตอินทร์ โทรศัพท์ 08 9643 6219 และ 08 1197 0535 เฟซบุ๊ก : Banpraphim luksamonart Post Views: 416 18/06/67 เวลา 09:47 น. บทความที่เกี่ยวข้อง ตระการตาจิตรกรรม “ฝ้า” ผนัง วัดประดู่ พระอารามหลวง เมืองแม่กลอง จิตรกรรมบนผนังเพดานศาลาการเปรียญหลังเก่าของวัดประดู่ฯ นั้นเป็นจิตรกรรมไทยประเพณี วาดด้วยสีฝุ่น ไม่มีข้อมูลบันทึกไว้ว่าเขียนขึ้นในสมัยไหน ท่องเที่ยวจักรวาลในวัดโบราณล้านนา สมัยนี้ที่ผ่านมาเราคงจะได้ยินว่าในต่างประเทศเริ่มมีการออกไปทัศนาจรในอวกาศกันแล้ว และมีแนวโน้มว่าต่อไปอาจจะมีการท่องเที่ยวจักรวาลกันในอนาคตอันใกล้ กู่พระเจ้าล้านทองวัดน้ำลัด อลังการแห่งสมบัติล้านนาที่ซ่อนเร้น แสงแดดสาดส่องวิหารวัดน้ำลัดจนมลังเมลือง แลดูเป็นสีทองตระการตา หลังจากม่านหมอกขาวที่ห่มคลุมในช่วงเช้าจางหายไปตามความสูงของดวงอาทิตย์