#ธรรมชาติ

รายรอบทะเลสาบ

“แรมชเล” เรื่อง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ภาพ

 

แดดเย็นขับเน้นผืนน้ำแบนราบที่แผ่ไพศาลตรงนั้นให้ดูผ่อนคลาย คลื่นที่มองไกล ๆ ดูเบาบางเกิดปรากฏมิติย้อนแสงเป็นเงางามควบคู่ไปกับแนวยอ โพงพาง กระชังเลี้ยงปลา และเหล่าประมงผู้เจนจัดผู้ทำมาหากินอยู่ตรงนั้นอย่างไม่อาจแยกจากกัน นี่คือทะเลสาบน้ำจืดธรรมชาติแห่งเดียวในประเทศไทย มันมีลักษณะแบบลากูน คือผืนน้ำจืดที่ประชิดติดทะเลนอก หากอยากนึกถึงขนาดใหญ่โตของมัน ให้ลองจินตนาการการขับรถจากตัวเมืองสงขลาไปจนถึงขอบแดดควนขนุน พัทลุง

ลึกเข้าไปในระนาบเดียวกับผืนน้ำ เราอาจมองข้ามผ่านความงดงามจนไปเห็นชีวิตที่หลอมรวมอยู่กับมันในหลากหลายมิติ สำหรับสัตว์น้ำที่หากินข้ามผ่านไปมาตามกระแสการหนุนขึ้นลงระหว่างทะเลนอกกับทะเลใน นิยามคำว่า “สามน้ำ” ที่ต่อท้ายชื่อกุ้งหอยปูปลานั้นอาจหมายถึงความหลากหลายทางชนิดพันธุ์และการันตีในเนื้ออันสดหวานจากการใช้ชีวิตเคลื่อนผ่านไปมาระหว่างน้ำเค็ม น้ำจืด น้ำกร่อย อันเป็นผลพวงจากแรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์

 

จากตะวันดวงแรกโผล่ตรงตีนฟ้าจนลับไปอีกฟากเมือง ทะเลสาสงขลาไม่เคยห่างหายการใช้ชีวิต เหล่าประมงจะรู้ดีว่า ฤดูกาลไหน พวกเขาจะเลือกอุปกรณ์จับสัตว์น้ำชนิดใดมาดักจับอาหารอันโอชะ บางคนออกเรือมาดูแลปลากะพงในกระชังตั้งแต่ตีนฟ้ายังไม่มีแสง ใช่แค่กลางผืนน้ำ แต่รายรอบทะเลสาบไล่เลยไปตั้งแต่สทิงพระ กระแสสินธุ์ ระโนด หัวไทร ต่อเนื่องทั้งทะเลสาบสงขลาตอนกลาง ตอนบน ไปจนผ่านคลองนางเรียมและเชื่อมต่อกับทะเลน้อยของพัทลุง พวกเขาล้วนมีใบหน้าของการทำมาหากินร่วมกัน ทั้งแต่การทำนาข้าว ลงลึกในการทำตาลโตนด พืชสารพัดประโยชน์ที่คนในลุ่มน้ำแห่งนี้ทั้งเอามาปรุงอาหาร จักสาน หรือทำ “หวาก” น้ำตาลเมาเพื่อผ่อนคลายจากความเหน็ดเหนื่อย

ย้อนลึกไปในวันเวลาของผืนน้ำและแผ่นดินที่โอบล้อม คือการพัดพาของดินตะกอนทั้งทิวเขาบรรทัด สันกาลาคีรี ไล่เลยไปถึง แม่น้ำหลายสายที่ไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา มันนำพามาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของแร่ธาตุและสารอาหาร พื้นที่ทะเลสาบสงขลาไม่เคยห่างหายผู้คนตั้งแต่พ่อค้านักเดินเรือทั้งตะวันตกและอินเดีย ที่ใช้มันตัดผ่านขึ้นลงจนตกทอดเป็นหลักฐานการเดินทางค้าขายข้ามข้ามสมุทร หรือเรื่องเล่าในความผูกพันของพื้นที่ปลูกข้าวแถบทะลน้อยกับแดนดินตรงปากทางออกสู่ผืนทะเลที่เมืองสงขลาก็งดงามด้วยภาพของการเดินเรือแลกเปลี่ยนผลิตผลตลอดจนศิลปวัฒนธรรมไม่แตกต่างกัน พื้นที่รายรอบทะเลสาบสงขลาไม่ได้มีแต่ภาพการทำมาหากินผูกพันกับผืนน้ำ แต่ยังตกทอดไว้ซึ่งร่องรอยของแดนดินโบราณที่เปิดรับความคิดความเชื่อทางศาสนาผ่านอารยธรรรมการเดินเรือ ทั้งพรหมณ์ พุทธ มุสลิม นับร้อยนับพันปี ศาสนสถานที่ทับซ้อนแนวคิดพรามหณ์และพุทธไว้ในสิ่งปลูกสร้าง วัดวาอารามที่ไม่เคยร้างไร้การทำนุบำรุง

การเดินเรือในคาบสมุทรมลายูไม่เพียงนำศรัทธาในศาสนามาสู่แดนดินทะเลสาบ แต่ยังนำพารากเหง้าทางศิลปวัฒนธรรมมาพร้อมกัน นาฎศิลป์อย่างโนราก็แพร่หลายในคาบสมุทรมลายูมานับพันปี สีสันฉูดฉาดแห่งเครื่องแต่งกาย ท่วงท่าร่ายรำที่ทั้งอ่อนช้อยและแข็งแกร่งลึกลับในขณะเดียวกัน รวมไปถึงบทร้องคำกลอน เสียงดนตรีพื้นบ้าน และการเคารพูชาผ่านพิธีกรรม ล้วนทำให้บรรยากาศท้องทุ่งคุ้งน้ำเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์เมื่อพวกเขาร้องรำหรือไหว้ครูโนรา นี่คือส่วนเสี้ยวหนึ่งที่ประกอบกันขึ้นเป็นภาพอันน่าทำความเข้าใจในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

 

ภาพที่สั่งสมอยู่ด้วยศรัทธาและความละเอียดอ่อนในการใช้ชีวิตที่ดำรงคงอยู่มาอย่างต่อเนื่องนับพันปี ท่ามกลางวันเวลาที่กำลังคลื่อนหมุนวงล้อของความเปลี่ยนแปลงมาสู่ผู้คนและแผ่นดินริมทะเลสาบแห่งหนึ่งอย่างไม่หยุดนิ่ง อย่างถึงที่สุด ใครสักคนอาจคาดหวังให้พวกเขาเท่าทันกับการเหวี่ยงหมุนของสังคมโลก เก็บกอดอดีตที่เคยหวงแหน ปรับเปลี่ยนและสืบทอดคุณค่าของมันให้เดินต่อไปได้อย่างเป็นตัวของตัวเองตราบเท่าที่ความเป็นจริงจะยินยอม

24/02/68 เวลา 04:03 น.