#ที่เที่ยว

สายลมที่พัดผ่าน ณ หนองหาน “ทะเลบัวแดง”

อดุล ตัณฑโกศัย เรื่องและภาพ

สายลมที่พัดผ่านบึงกว้างใหญ่ ดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำค่อย ๆ โผล่ชูช่อขึ้นมาเพื่อสัมผัสกับสายหมอกบางและแสงแดดอ่อนที่ส่องลอดผ่านหมอกลงมาทีละน้อย ท่ามกลางอากาศเย็นชื่นใจ มองไปไกลสุดลูกหูลูกตา “หนองหาน” บึงน้ำขนาดใหญ่ นอกจากความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ปลา พันธุ์นก และพืชน้ำจำนวนมาก ซึ่งชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบหนองหานได้พึ่งพาเป็นแหล่งอาหารแล้วนั้น ยังมีระบบนิเวศที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเป็นที่สนใจของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศและต่างประเทศได้มาศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง

 

นอกจากนี้แล้ว ธรรมชาติของหนองหานยังได้บรรจงสร้าง “ทะเลบัวแดง” เพิ่มความงดงามให้แก่หนองหานมากยิ่งขึ้น ดอกบัวจะบานในช่วงเช้าตรู่จนถึงเวลาประมาณ 11.00 นาฬิกา นักท่องเที่ยวจะมองเห็นดอกบัวแดงบานเต็มท้องน้ำหนองหานสุดลูกหูลูกตา งดงามอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ “ทะเลบัวแดง” ในพื้นที่เขตอำเภอกุมวาปี ประจักษ์ศิลปาคม หนองหาน และกู่แก้ว ที่อาศัยอยู่โดยรอบพื้นที่กว่า 25,000 ไร่ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติตามอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ (Ramsar convention) อีกทั้งทำให้ปริมาณนกประจำถิ่น และนกอพยพ มีจำนวนมากขึ้นกว่าทุกปี การสำรวจพบ เป็ดเทาพันธุ์จีน และเป็ดเทาก้นดำ กลุ่มนก “หายากมาก” ในประเทศไทย ที่ไม่เคยพบมาก่อนที่หนองหาน ทำให้มีผู้สนใจมาเฝ้าดู และถ่ายภาพนกมากขึ้น

 

เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองหานกุมภวาปี หรือ “ทะเลบัวแดง” ถือเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าตามกฎหมาย โดยเฉพาะนก มีนักวิชาการท้องถิ่นมาปลุกกระแสการอนุรักษ์ ชาวบ้านได้ความสำคัญการอนุรักษ์มากขึ้น และสำนักบริหารพื้นที่ 10 อุดรธานี ได้เข้ามาตั้งหน่วยดูแลพื้นที่อย่างจริงจัง ทำให้ประชากรนกเพิ่มมากขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2547 คณะวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ได้เข้ามาวิจัยและพัฒนาหน่วยการเรียนรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ชุ่มน้ำหนองหานกุมภวาปี

 

ในส่วนข้อมูลการสำรวจนกพบว่า เป็นแหล่งชุมนุมนกอพยพและนกที่ผ่านมาในฤดูหนาวจากจีน ยุโรป และตะวันออกกลางที่สำคัญที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีนกประจำถิ่น 57 ชนิด นกอพยพ 43 ชนิด นกอพยพมาเป็นนกประจำถิ่น 5 ชนิด นกอพยพผ่านประเทศ 1 ชนิด และนกมาทำรังวางไข่ 2 ชนิด และทั้งหมดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง 98 ชนิด โดยพบแถบบริเวณเกาะ พื้นที่กลุ่มแชแล บ้านเดียม และเชียงแหว เขตห้ามล่าฯ ได้ทำการสำรวจระหว่างเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนมกราคม พบประชากรนกทุกชนิดมากกว่าปีก่อน และมีความคุ้นเคยกับคนมากขึ้น ไม่ตื่นตกใจง่ายเหมือนที่ผ่านมา และพบนกที่ไม่เคยมีในรายงานอีก 4 ชนิด เป็นนกอพยพในช่วงฤดูหนาว คือ นกเป็ดเทาพันธุ์อินเดีย นกเป็ดเทาก้นดำ นกเป็ดเทาพันธุ์จีน และนกปากแอ่นหางดำ โดยเฉพาะนกเป็ดเทาก้นดำ และนกเป็ดเทาพันธุ์จีน ถือเป็นกลุ่มนกหายากมาก โดยพบบนเกาะและกลุ่มบ้านเดียม ซึ่งไม่คุ้นเคยกับคนยังถ่ายภาพยาก

 

“ทะเลบัวแดง” หนองหานกุมภวาปี นอกจากจะเป็นที่นิยมอย่างมากของนักท่องเที่ยวแล้ว ที่สำคัญคือกลุ่มนักดูนก ที่นี่มีนกหลากหลายสายพันธุ์รวมทั้งเป็น “นกหายาก” และ “นกอพยพต่างถิ่น” อีกด้วย ด้วยห่างจากจังหวัดอุดรธานี ประมาณ 45 กิโลเมตร การเดินทางสามารถเดินทางจากอำเภอเมืองอุดรธานี โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 2 (อุดรธานี-กุมภวาปี) ถึงกิโลเมตรที่ 26 เลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทางห้วยสามพาด-อำเภอประจักษ์ศิลปาคม ประมาณ 18 กิโลเมตร สำหรับรถประจำทาง ก็สามารถนั่งรถทัวร์กรุงเทพ-อุดรธานี แล้วไปลงที่อำเภอกุมภวาปี หลังจากนั้นก็เหมารถสองแถวในอำเภอมาเที่ยวเทศกาลดอกบัวแดง ใครที่ต้องการค้างคืนก็สามารถติดต่อบ้านพักโฮมสเตย์จากชาวบ้านได้ตลอดเวลา

25/03/68 เวลา 07:15 น.