#ธรรมชาติ

ปลาอินทรี

นัท สุมนเตมีย์ เรื่องและภาพ

ปลาอินทรีเป็นปลาที่คนไทยรู้จักกันดี เนื่องจากเป็นปลาเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาบริโภคกันสารพัดเมนู ไม่ว่าจะหั่นเป็นบั้ง ๆ เพื่อนำไปทอด หรือนำมาทำเป็นสเต๊กปลา และเป็นปลาชนิดหนึ่งที่นิยมทำเป็นปลาเค็มมากที่สุด รองจากปลากุเลาและปลาสละ ที่เรามักจะพบปลาทั้ง 3 ชนิดนี้วางขายเป็นปลาเค็มอยู่ตามจังหวัดชายทะเลทั่วไปในประเทศไทย

ผมดำน้ำมาเกือบ 30  ปี มีโอกาสพบเห็นปลาอินทรีบ่อยครั้งในช่วงเวลาที่ลงดำน้ำตามกองหินใต้น้ำ แต่ไม่บ่อยครั้งที่ผมจะมีโอกาสบันทึกภาพของปลาอินทรีจากใต้น้ำในระยะที่ใกล้พอที่แสงไฟแฟลชจะยิงไปถึง ปกติแล้วปลาอินทรีมักจะว่ายอยู่ในบริเวณกลางน้ำเหนือยอดกองหิน ในช่วงเวลาที่เปลี่ยนผ่านของกระแสน้ำ เราอาจจะพบเห็นปลาอินทรีออกล่าเหยื่อจำพวกฝูงปลาทูหรือฝูงปลาสีกุนที่ว่ายวนอยู่เหนือกองหิน

เราสามารถพบปลาอินทรีได้ทั้งสองฝั่งฟากทะเลไทย นับตั้งแต่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ไล่ไปตั้งแต่ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด หรือลงมาทางภาคใต้ฝั่งตะวันออกอย่างชุมพร เกาะเต่า หรือข้ามฝั่งไปทางฝั่งทะเลอันดามัน ตั้งแต่ระนอง พังงา ภูเก็ต ไล่ลงไปจนถึงสตูล ไปจนสุดทะเลไทยที่หินแปดไมล์ เกาะหลีเป๊ะ

ปลาอินทรีเป็นปลาเศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้กับประมงพื้นบ้านขนาดเล็กในแทบทุกจังหวัดชายทะเลของประเทศไทย เนื่องจากเป็นปลาที่มักจะจับได้ด้วยวิธีการตกขึ้นมาทีละตัว ด้วยขนาดตัวที่มีน้ำหนักเฉลี่ยตั้งแต่ 5-7 กิโลกรัมของมัน บวกกับราคาที่ค่อนข้างดี เรือเบ็ดลำเล็กๆที่ออกล่าปลาอินทรีนั้น ถ้าออกเรือไปตกปลาอินทรีได้สักวันละ 2-3 ตัว ก็เพียงพอที่จะหาเงินมาเลี้ยงชีพได้แล้ว

ถ้ามีโอกาสไปตามจังหวัดชายทะเล ผมมักจะติดกระติกน้ำแข็งไว้ท้ายรถเสมอ ๆ เวลาที่ขับผ่านชุมชนริมทะเล ถ้าเห็นตลาดเล็ก ๆ ที่มีเรือประมงพื้นบ้านจอดเรียงรายกันอยู่ ผมมักจะถามหาว่าวันนี้มีเรือเบ็ดที่ตกปลาอินทรีขึ้นมาบ้างไหม ในปัจจุบันปลาอินทรียังไม่สามารถเพาะเลี้ยงในกระชังได้ ไม่เหมือนกับปลาเศรษฐกิจหลาย ๆ ชนิด อย่างเช่น ปลากะพงขาวที่ร้อยละเก้าสิบส่วนใหญ่จะเป็นปลาที่มาจากกระชังเลี้ยงปลา

ถ้าเลือกได้ ผมก็ยังชอบปลาที่จับมาจากธรรมชาติมากกว่า และที่สำคัญไปกว่านั้น การที่เราได้อุดหนุนประมงพื้นบ้านขนาดเล็กที่ใช้วิธีการจับปลาแบบดั้งเดิมโดยการตกขึ้นมาทีละตัวนั้น

ผมเชื่อว่ามันเป็นวิถีที่ผู้คนหากินแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกับธรรมชาติมาตั้งแต่ครั้งบรรพกาล

22/09/66 เวลา 05:52 น.