#ธรรมชาติ

ปลาแมงป่อง

นัท สุมนเตมีย์ เรื่องและภาพ

ปลาแมงป่อง (Scorpionfish) คือปลาในวงศ์ (Family) ที่เรียกกันว่า Scorpaenidae เป็นกลุ่มปลาชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ตามพื้นท้องทะเล ในแนวหินและแนวปะการังมีลักษณะพิเศษคือมันมักจะพรางตัวอยู่นิ่ง ๆ เพื่อดักรอจับเหยื่อจากพวกลูกปลาตัวเล็ก ๆ ที่ว่ายเข้ามาใกล้ ๆ กับปากที่มักจะมีขนขยุกขยุย ดูคล้ายกับสาหร่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่ล่อให้ปลาตัวเล็ก ๆ ว่ายเข้ามาใกล้ เพราะนึกว่าเป็นสาหร่ายที่เป็นอาหารของพวกมัน โดยไม่ทันสังเกตเห็นตัวปลาแมงป่อง ซึ่งพรางตัวคล้ายก้อนหินหรือฟองน้ำ ราวกับสไนเปอร์ที่ดักซุ่มรอเป้าหมายกว่าปลาเล็ก ๆ นั้นจะรู้ตัว เจ้าปลาแมงป่องก็อ้าปากกว้างและฮุบมันเข้าไปในปากแล้ว

ลักษณะพิเศษของกลุ่มปลาแมงป่องที่มีสมาชิกมากกว่า 200 ชนิดในท้องทะเล (รวมไปถึงปลาสิงโตที่อยู่ในวงศ์เดียวกัน และปลาหินที่แม้จะอยู่คนละวงศ์กัน แต่ก็อยู่ในอันดับ [Order] ปลาแมงป่องเช่นกัน) อีกอย่างหนึ่งก็คือ มันเป็นปลาที่มีเงี่ยงพิษอยู่บนก้านครีบบนหลังและครีบด้านข้างเพื่อใช้ป้องกันตัว ยามปกติมันจะพับครีบหลังที่เต็มไปด้วยหนามพิษเก็บเอาไว้แต่เมื่อมีภัยหรือถูกคุกคามก็จะกางครีบออกเพื่อใช้ขู่ และเพื่อป้องกันตัวจากผู้ที่มารุกราน อันเป็นที่มาของชื่อปลาแมงป่องปลาหิน หรือปลากะรังหัวโขน (Stonefish) นั้น แม้จะอยู่ในอันดับเดียวกันแต่ก็อยู่คนละวงศ์ โดยที่ปลาหินจะแยกไปอยู่ในวงศ์ Synanceiidae

การจำแนกปลาหินและปลาแมงป่อง สำหรับนักดำน้ำมือใหม่อาจแยกได้ค่อนข้างยาก แม้แต่ตัวผมเองก็ยังเคยพลาดเมื่อเห็นจากภาพในมุมบางมุมที่ไม่ชัดเจน ข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ ปลาหินจะมีขนาดหัวที่ใหญ่กว่าปลาแมงป่องมาก อันเป็นที่มาของชื่อปลากะรังหัวโขนในภาษาไทย (ซึ่งเป็นชื่อที่ผมว่าตั้งได้เหมาะสมมาก เพราะเวลาดูปลาหินหรือปลากะรังหัวโขนนั้น ลักษณะมันเหมือนกับเอาหัวโขนขนาดใหญ่มาครอบอยู่บนตัวที่มีขนาดไม่สมส่วนของมัน)นอกจากนี้ก็ยังมีจุดสังเกตอีกอย่าง คือมุมของปาก ปากปลาแมงป่องนั้นแม้จะค่อนข้างเชิดขึ้น แต่ก็ยังพุ่งไปทางด้านหน้า ในขณะที่ปากของปลากะรัง หัวโขนจะค่อนข้างตั้งฉาก มักใช้เพื่องับเหยื่อจากทางมุมบนเป็นหลัก แม้ว่าปลาหินและปลาแมงป่องจะเป็นปลาที่มีพิษ แต่เนื้อของมันกลับเป็นที่นิยมบริโภคกันในหลาย ๆ วัฒนธรรม 

ผมบันทึกภาพปลาแมงป่องนี้จากบริเวณยอดกองหินริเชลิว ในบริเวณที่ปกคลุมไปด้วยสาหร่ายสีเขียว ขณะที่ปลาแมงป่องตัวนี้กำลังว่ายน้ำออกไปหาจุดดักรอเหยื่อในบริเวณใกล้ยอดกองหิน โดยใช้กล้อง Fuji S5 Pro ใช้เลนส์Fisheye 10-17 ของ Tokina เปิดความไวชัตเตอร์ที่ 1/13 เปิดหน้ากล้องที่ F/9 ใช้ไฟแฟลชเพื่อบันทึกภาพแบบ Slow Sync กับความไวชัตเตอร์ต่ำแพนกล้องตามตัวปลา เพื่อให้แบ็กกราวนด์มีความเคลื่อนไหว แต่ตัวแบบที่โดนไฟแฟลชนั้นนิ่งและคมชัด

16/10/66 เวลา 04:46 น.