#ธรรมชาติ นกกระเต็นแห่งเมืองคอง นรา จิตต์สม เรื่องและภาพ แม้สายลมหนาวแทบไม่เคยผ่านเข้ามาในภาคกลางบ้านเราเลย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศของเราไม่มีความหนาวเย็นที่พอสัมผัสได้ในฤดูกาลของมัน เพียงแต่ความต้องการที่จะให้ความเหน็บหนาวมาห่อหุ้มให้กับร่างกายเรา อาจจะต้องเอาแรงกายและแรงเงินพอสมควรเพื่อไปแลกกับมันมา เมืองคอง จังหวัดเชียงใหม่ อาจเป็นจุดหมายของปลายทางที่คิดหวังไว้ เมืองคองเป็นเมืองเล็ก ๆ ในโอบล้อมขุนเขาของอำเภอเชียงดาว แต่ในจุดหมายนั้น ผมได้ซ่อนเป้าหมายที่แท้จริงไว้อยู่ คือการเดินทางเพื่อไปเก็บภาพนกที่มีฐานันดรสูงสุดของนกเมืองไทย คือนกกระเต็นขาวดำใหญ่ ซึ่งเมื่อหลายปีก่อน แทบนับหัวช่างภาพได้เลยว่าใครมีนกชนิดนี้อยู่ในคอลเล็กชันรูปถ่ายภาพนกในธรรมชาติบ้าง นกกระเต็นขาวดำใหญ่ (Crested Kingfisher) เป็นนกที่มีขนาดใหญ่มาก ให้เห็นภาพชัด ๆ ก็ตัวจะพอ ๆ กับนกพิราบ มีปากยาวสีดำใหญ่ ขนหัวเป็นหงอนตั้งฟู หัวและลำตัวด้านบนเป็นแถบสีดำ และมีจุดสีขาวแต้มไปจนถึงปลายหาง มุมปากถึงข้างคอเป็นแถบขาวขนาดใหญ่ ท้องสีขาว อกมีแถบดำแซมน้ำตาลแดง ตัวผู้ใต้ปีกจะเป็นสีขาว ส่วนตัวเมียใต้ปีกจะเป็นสีน้ำตาล มีเสียงร้องที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองดัง “แอ๊ป ๆ” ก้องมาจากต้นลำธารที่ไหลลงมาจากขุนเขาอันห่างไกล กระเต็นขาวดำใหญ่มีความละม้ายคล้ายกับนกกระเต็นอีกชนิด ที่ชื่อนกกระเต็นปักหลัก แต่ถ้าดูดี ๆ จะเหมือนแค่สีขน รูปร่าง จุดเด่น ขนาดต่าง ๆ จะไม่เหมือนกันเลย นกกระเต็นปักหลักมีขนาดเล็กกว่ากระเต็นขาวดำใหญ่มาก ตามข้อมูลจะพบนกชนิดนี้ตามลำธารในอุทยานแห่งชาติแถวภาคเหนือตอนล่าง เช่น อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า เป็นต้น แต่ก็น้อยครั้งที่จะมีภาพของมันที่ชัดเจนอยู่ตามแหล่งธรรมชาติ เพราะกระเต็นขาวดำใหญ่เป็นนกที่มีความระวังไพรสูงมากชนิดหนึ่ง แทบไม่เคยมีช่างภาพถ่ายภาพได้เลยในพื้นที่ดังกล่าว นาน ๆ จะมีภาพนกกระเต็นขาวดำใหญ่ตัวนี้หลุดจากลำธารในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์มาปรากฏโฉมสู่สายตานักนิยมไพรกันสักครั้ง แต่ในระยะหลังมีรายงานมาจากนักนิยมการส่องนกว่า พบนกกระเต็นขาวดำใหญ่อยู่ในพื้นที่ชุมชนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ที่แห่งนั้นคือเมืองคอง เมืองในหุบเขาของอำเภอเชียงดาวนั่นเอง เสียงลือเสียงเล่าอ้างบอกว่ามันบินเกาะตามลำธารในหมู่บ้านทั่วไป ผิดกับขาวดำใหญ่ที่เราเคยรู้จักและศึกษามาว่ามันจะระวังไพรสูงมาก จนไม่อาจสามารถหาดูตัวเป็น ๆ ของมันได้ง่าย ทำไมถึงมาเกาะตามลำธารในหมู่บ้าน เช่นนั้นเอง ทำให้นอกจากสายลมหนาวแล้ว สิ่งจูงใจของผมก็ลากจูงจิตวิญญาณของการเดินทาง มุ่งสู่ทิศเหนือเพื่อไปแสวงหาของหายากในตำนาน และเยือนเมืองคองอันเร้นลับที่ได้ยินชื่อเสียงแห่งความสงบเงียบมาเนิ่นนานแล้วในคราวเดียวกัน การเดินทางไม่ได้ลำบากมากกว่าการเดินทางทั่วไป ตามเส้นทางมีสถานที่ท่องเที่ยวให้แวะมากมาย แต่ผมมุ่งหน้าไปเมืองคอง ซึ่งเป็นสถานที่เดียวที่ต้องการที่จะไปถึงในตอนนี้ เมืองคองก็คล้ายเมืองชนบทที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศทั่ว ๆ ไป แต่ก็ยังไม่ได้มีชื่อเสียงในบทบาทหมุดหมายของนักท่องเที่ยวมากนัก นอกจากคนที่ต้องการมาพักผ่อนสูดอากาศบริสุทธิ์จริง ๆ แต่สำหรับนักถ่ายภาพนกหายากแล้ว ที่นี่เหมือนสวรรค์เลยก็ไม่ปาน เพราะอย่างที่เล่าลือ เจ้านกกระเต็นขาวดำใหญ่มักเกาะตามจุดต่าง ๆ ตามลำธารในหมู่บ้านจริง ๆ อย่างคำบอกเล่า เราสามารถหาจุดเกาะของมันได้ไม่ยากนัก ตามเสาไม้หรือกิ่งไม้ใกล้ริมลำธารที่ไหลเวียนเป็นเหมือนเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวเมืองคอง หลาย ๆ จุดเริ่มมีเจ้าของรีสอร์ตและที่พักอาศัยได้ทำบังสำหรับส่องไพรนกชนิดนี้ไว้ตามจุดต่าง ๆ บ้างแล้ว ผมลงไปถ่ายภาพตามจุดต่าง ๆ ที่ชาวบ้านเมืองคองได้หมายไว้ ทั้งสามารถถ่ายภาพนกเองได้แถวสะพานกลางเมืองได้ไม่ยากเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เมื่อนกกระเต็นขาวดำใหญ่อาจกลายเป็นส่วนหนึ่งที่เรียกนักนิยมธรรมชาติให้มาชมนกหายากชนิดนี้ ทำให้เกิดการสร้างงานและใช้จ่ายในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น เศรษฐกิจของท้องถิ่นก็พลอยเจริญงอกงามไปด้วย ความคงอยู่ของนกกระเต็นขาวดำใหญ่จะได้มีถิ่นอาศัยที่ปลอดภัยและไม่มีภัยทางธรรมชาติที่น่ากลัวอย่างมนุษย์เรารบกวนมันอีกต่อไป มีแต่ต้องคอยเฝ้าดูแลมันให้ดียิ่งขึ้น ไม่ให้ใครไปจับหรือไปรบกวนมันเหมือนปล่อยไปตามยถากรรมในธรรมชาติ เพราะพวกเราเข้าใจดีว่านกกระเต็นขาวดำใหญ่ ซึ่งแม้แต่ในหนังสือดูนกของอาจารย์บุญส่ง เลขะกุล ยังระบุว่าเป็นนกประจำถิ่น หายาก ได้มีที่ที่คนที่สนใจจะดูนกหรือบันทึกภาพนกชนิดนี้ไว้มีจุดหมายที่แน่นอน ไม่ต้องเฝ้ารอหลายชั่วโมงหลายวันเหมือนเมื่อคราก่อนอีกต่อไปแล้ว Post Views: 258 28/03/67 เวลา 04:09 น. บทความที่เกี่ยวข้อง ปลานกขุนทองแดง (Floral Wrasse) ในห้วงของความลึก ณ บริเวณจุดดำน้ำใกล้กับอ่าวช่องขาด บริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา ผมใช้เวลาส่วนใหญ่ของการดำน้ำไล่ไปตามบริเวณพื้นทรายซึ่งอยู่ห่างออกมาจากแนวลาดชัน (Reef Slope) ของแนวปะการัง ภูผาม่าน กับนาฏกรรมบนฟากฟ้ายามสนธยา เย็นย่ำยามตะวันกำลังจะลาลับขอบฟ้า อาจหมายถึงช่วงสิ้นสุดเวลาทำงานของผู้คนส่วนใหญ่ รวมทั้งสัตว์นานาชนิดที่ออกหากินในช่วงกลางวัน แต่สำหรับสิ่งมีชีวิตบางสายพันธุ์ นี่คือสัญญาณเริ่มต้นชีวิตในค่ำคืนใหม่ที่เวียนมาถึงอีกครั้ง ปลาเฉี่ยวหิน สมัยที่ผมยังเป็นเด็ก เมื่อเกือบ 40 ปีก่อน ผมเคยไปยืนดูปลาในตู้ปลาในร้านข้างบ้าน ริมถนนสุขุมวิท แล้วก็ตื่นตาตื่นใจกับปลาตัวเล็ก ๆ สีเงิน ๆ ฝูงหนึ่ง คนขายเรียกมันว่าปลาบอร์เนียว ซึ่งในตอนนั้นผมก็ไม่รู้หรอกว่าบอร์เนียวคืออะไร