#ธรรมชาติ

ปลากะมงพร้าว นักล่าในแนวน้ำตื้น

นัท สุมนเตมีย์ เรื่องและภาพ

ปลากะมงพร้าว (Giant Trevally: Caranx ignobilis) เป็นปลานักล่าขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งที่มักจะอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ ราว 10-20 ตัว เมื่อเติบโตเต็มที่จะมีความยาวของลำตัวมากกว่า 1.7 เมตร และมีน้ำหนักมากกว่า 80 กิโลกรัม (ขนาดที่พบเห็นทั่วไปในประเทศไทยจะมีน้ำหนักโดยเฉลี่ยไม่เกิน 20-30 กิโลกรัม)

ปลากะมงพร้าวเป็นปลานักล่าที่มักจะเข้ามาล่าเหยื่อในแนวน้ำตื้น บางครั้งอาจเป็นแนวกองหินใกล้ชายฝั่ง หรือในบริเวณใกล้กับยอดหินโผล่น้ำ โดยที่พวกมันจะใช้แนวหินและคลื่นที่ปั่นป่วนตรงบริเวณยอดหินพรางตัวเองเพื่อให้เข้าไปใกล้เหยื่อจำพวกปลาฝูงที่ว่ายน้ำเฉียดเข้ามาใกล้แนวยอดหิน

ในบางพื้นที่ของโลก เคยมีบันทึกว่าปลากะมงพร้าวแถบบริเวณ Farquhar Atoll ที่เป็นแนวปะการังนอกชายฝั่งอันห่างไกลของประเทศเซเชลส์ ไกด์ตกปลาที่เฝ้าติดตามพฤติกรรมของปลาชนิดนี้พบว่า ปลากะมงพร้าวขนาดใหญ่ในบริเวณนั้นเข้าโจมตีลูกนกทะเลที่กำลังหัดบินตรงบริเวณหาดทรายที่เป็นแหล่งอนุบาลของนกทะเลหลาย ๆ ชนิด แล้วตกลงไปในน้ำ หรือแม้กระทั่งกระโดดขึ้นมาไล่งับนกทะเลที่บินลงไปเฉียดใกล้ ๆ น้ำเป็นอาหาร และหลังจากนั้นไม่นาน ทีมสารคดีของ BBC ก็ส่งทีมงานไปเก็บภาพพฤติกรรมของปลาชนิดนี้ ที่เราเพิ่งจะค้นพบพฤติกรรมล่าเหยื่อของมันในช่วงเวลาที่ผ่านมาเพียงไม่กี่ปีมานี่เอง

ปลากะมงพร้าวเป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญของหลาย ๆ ประเทศ ไม่ใช่เพราะว่าคุณภาพเนื้อของมันเพื่อการบริโภค หากแต่เป็นคุณค่าในฐานะที่เป็นปลาที่นักตกปลาจากทั่วโลกต่างก็ชื่นชอบพฤติกรรมการล่าเหยื่อของมัน

หลาย ๆ ประเทศ เช่น ประเทศเซเชลส์ มีรีสอร์ตที่เปิดขึ้นในบริเวณแนวปะการังนอกชายฝั่งหลายแห่งโดยได้รับสัมปทานจากรัฐบาล แต่ละอะทอลล์จะมีรีสอร์ตเพียงแห่งเดียว ที่จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวไว้เพียง 15-20 คน ต่อสัปดาห์ เพื่อเปิดให้นักตกปลาที่ใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า Fly Fishing ตกปลาชนิดนี้เป็นเกมกีฬา โดยแลกกับค่าใช้จ่ายต่อหัวที่สูงถึงเกือบ 20,000 เหรียญสหรัฐอเมริกา ต่อสัปดาห์ รวมค่าที่พัก ค่าเครื่องบินเช่าเหมาลำ รวมไปถึงค่าไกด์สำหรับการไปตกปลาชนิดนี้ในพื้นที่อันห่างไกล ซึ่งในปัจจุบันมีการจองข้ามปีกันไปถึงปี ๒๐๒๕ แล้ว เนื่องจากการจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยวเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับสภาพแวดล้อมโดยส่วนรวม ที่จะรักษาความพิสุทธิ์ของธรรมชาติอันห่างไกลไว้

ทุกวัน ๆ ฝูงปลากะมงพร้าวจะเข้ามาไล่ล่าเหยื่อในบริเวณหน้าแนวชายหาดของทะเลเซเชลส์ และนักตกปลาสามารถเดินตกปลากะมงพร้าว ที่ในบางครั้งอาจมีน้ำหนักตัวถึง 30-50 กิโลกรัมได้จากในบริเวณแนวชายหาดในน้ำที่ตื้นแค่เอว และปลาที่นักท่องเที่ยวตกขึ้นมาได้หลังจากที่ถ่ายภาพเสร็จแล้ว ก็จะต้องปล่อยกลับคืนลงสู่ท้องทะเลทุกตัว

สำหรับในประเทศไทย บางครั้งเรามักพบฝูงปลากะมงพร้าวที่ยังโตไม่เต็มวัยว่ายปะปนไปกับฝูงปลากะมงตาโต หรือกะมงตาแดง (Bigeye trevally: Caranx sexfasciatus) ที่เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดเล็กกว่า และมักจะอยู่รวมกันเป็นฝูงขนาดใหญ่กว่า ในบริเวณกองหินริเชลิว ส่วนปลาที่เติบโตเต็มที่แล้ว มักจะพบในบริเวณกองหินกลางน้ำ ณ บริเวณเกาะแก่งกลางทะเลทั่วไปในทะเลอันดามัน

ลักษณะของปลากะมงพร้าวที่แตกต่างจากปลากะมงตาโตอย่างเห็นได้ชัด คือ ปลากะมงพร้าวมีลำตัวที่สั้นกว่า แต่ดูหนาและตันกว่า และมักจะมีจุดประสีดำเล็ก ๆ บนลำตัว ในขณะที่ปลากะมงตาโตนั้นจะมีลักษณะลำตัวที่สว่างกว่าอย่างชัดเจน

 

1/04/67 เวลา 04:51 น.