#ธรรมชาติ

ปลาเฉี่ยวหิน

นัท สุมนเตมีย์ เรื่องและภาพ

สมัยที่ผมยังเป็นเด็ก เมื่อเกือบ 40 ปีก่อน ผมเคยไปยืนดูปลาในตู้ปลาในร้านข้างบ้าน ริมถนนสุขุมวิท แล้วก็ตื่นตาตื่นใจกับปลาตัวเล็ก ๆ สีเงิน ๆ ฝูงหนึ่ง คนขายเรียกมันว่าปลาบอร์เนียว ซึ่งในตอนนั้นผมก็ไม่รู้หรอกว่าบอร์เนียวคืออะไร รู้แต่ว่าคนขายยืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะว่ามันเป็นปลาน้ำจืด เขาใช้น้ำจากก๊อกน้ำที่บ้านนี่แหละมาใส่ตู้ปลา

ผมตกลงซื้อปลาบอร์เนียวจากร้านนั้นมาสองตัว เลี้ยงไว้ในตู้ที่บ้านในน้ำจืดสนิทอยู่หลายเดือน โดยที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามันเป็นปลาทะเลจนมันตายไป แล้วผมก็ลืมเลือนมันไปจากความทรงจำ

จนกระทั่งประมาณปี 2557 หลังจากที่ผมตระเวนดำน้ำทั่วทะเลไทยและเกือบทั่วโลกมาแล้วนานกว่ายี่สิบปี วันหนึ่งในขณะที่ผมลงดำน้ำในบริเวณหินล่อ หรือหินบิดะ ที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับเกาะหมา จังหวัดกระบี่ ในขณะที่กำลังว่ายวนเพื่อหาฉลามเสือดาว หรือ Leopard Shark ที่เรามักจะพบมันนอนอยู่บนพื้นทรายในแนวน้ำตื้นในบริเวณใกล้กับยอดหินเสมอ ๆ ผมก็เหลือบไปเห็นฝูงปลาสีเงิน ๆ ที่รูปร่างหน้าตาของมันช่างดูคุ้นเคยเสียเหลือเกิน ผมนึกอยู่นานมาก กว่าจะนึกออกว่าเคยเห็นปลาหน้าตาแบบนี้ที่ไหนมาก่อน

ผมไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมเขาถึงเรียกปลาชนิดนี้ว่าบอร์เนียว แต่เชื่อว่าครั้งแรกที่คนเลี้ยงปลาได้ปลาชนิดนี้มา น่าจะได้มาจากเกาะบอร์เนียว เมื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม ผมถึงได้รู้ว่าปลาชนิดนี้มีชื่อในภาษาไทยว่าปลาเฉี่ยวหิน หรือ Silver Moony มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Monodactylus argenteus ซึ่งมีแหล่งกระจายพันธุ์ตั้งแต่ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ไปจนถึงแอฟริกา และในทะเลแดง รวมทั้งบางพื้นที่ในทะเลอันดามันของเรา

ที่สำคัญไปกว่านั้น ปลาชนิดนี้สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้เป็นจำนวนมากในที่เลี้ยง และสามารถปรับตัวให้นำไปเลี้ยงในน้ำจืดได้มานานมากแล้ว จึงถือเป็นปลาชนิดหนึ่งที่นิยมเลี้ยงกันในหมู่นักนิยมเลี้ยงปลาตู้

28/05/67 เวลา 05:11 น.