#ธรรมชาติ

ปะการังฟอกขาว

นัท สุมนเตมีย์ เรื่องและภาพ

ผมเพิ่งจะกลับมาจากเกาะโลซินเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา แม้ว่าแนวปะการังบางส่วนในบริเวณรอบ ๆ เกาะโลซินที่ผมเชื่อว่าน่าจะเป็นแนวปะการังแข็งที่สมบูรณ์และหลากหลายที่สุดแห่งหนึ่งในอ่าวไทย ยังคงมีบางส่วนที่ฟอกขาวอยู่มากพอสมควรแต่ก็มีปะการังหลาย ๆ ชนิดที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วดังที่เห็นในภาพนี้ว่ากลุ่มปะการังเขากวางนั้นกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ในขณะที่ปะการังโขดด้านหลังนั้นยังคงฟอกขาวอยู ทั้งที่ปะการังทั้งสองกลุ่มนี้อยู่ในระดับความลึกเดียวกัน

ปะการังฟอกขาวนั้นถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายก็คือปะการังนั้นอ่อนแอลง เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันของอุณหภูมิน้ำทะเล อย่างในช่วงต้นปีนี้ที่อากาศร้อนเป็นประวัติการณ์ เมื่อสาหร่ายซูซานเทลลี (Zooxanthellae) ที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อปะการังและช่วยในการสังเคราะห์แสงนั้นถูกขับออกมาจากปะการังชั่วคราว
ตลอดช่วงชีวิตของการดำน้ำกว่า 30 ปีของผมได้พบเห็นปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวในท้องทะเลไทยมา 3 ครั้งใหญ่ ๆ และได้บันทึกภาพไว้ตั้งแต่ครั้งแรกในปี 2541 และปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ที่สุดในทะเลอันดามันในปี พ.ศ. 2553 ที่ทำให้แนวปะการังในหลาย ๆ พื้นที่ในท้องทะเลอันดามันตายลงไป และใช้เวลาเนิ่นนานเกือบ 15 ปี กว่าที่แนวปะการังน้ำตื้นในหลาย ๆ พื้นที่นั้นจะเริ่มฟื้นตัว

หลาย ๆ คนอาจจะถามว่าเราจะช่วยให้ปะการังไม่ฟอกขาวได้อย่างไร สิ่งแรกที่ผมนึกขึ้นได้ก็คือ เราจะต้องลดการบริโภคลง ไม่ซื้อโทรศัพท์รุ่นใหม่ ไม่เปิดแอร์ ไม่เล่นเน็ต ลดกิจกรรมทุกอย่างที่ต้องใช้พลังงาน Fossil Fuel ลง แต่พูดตามตรงว่าผมไม่เห็นว่าจะมีแนวโน้มอะไรในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนี้จากมวลมนุษยชาติมาตั้งแต่ ๓๐ ปีก่อนที่เราพอจะทำอะไรได้ และนับวันมนุษย์ยิ่งใช้และบริโภคทรัพยากรมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เห็นว่าจะมีแนวโน้มที่จะลดการใช้พลังงานลงเลย นอกเหนือไปจากการทำการตลาดรักษ์โลกแบบผิวเผิน เพื่อจะขายของให้ได้มากขึ้น แบบจุก ๆ ฉ่ำ ๆ แทนที่จะหันมาสนใจ หรือทำความเข้าใจกับธรรมชาติจริง ๆ

24/10/67 เวลา 02:13 น.