#ธรรมชาติ

เป็ดผีเล็ก หนึ่งมิตรชิดใกล้ในสายชล

วรรณชนก สุวรรณกร เรื่องและภาพ

ในบรรดานกน้ำทั้งหลายของเมืองไทย “เป็ดผีเล็ก” เป็นนกน้ำที่ผู้คนคุ้นหน้าคุ้นตามากที่สุดชนิดหนึ่ง เนื่องจากสามารถพบเห็นพวกเขาได้ตามแหล่งน้ำทั่วไป ทั้งหนอง คลอง บึง และทะเลสาบ ด้วยรูปร่างหน้าตาที่ดูเหมือนเป็ด และมีพฤติกรรมว่ายน้ำหากิน หลายคนจึงมักเข้าใจผิดคิดว่ามันคือเป็ดที่ตัวเล็ก ๆ ชนิดหนึ่ง แต่ที่จริงแล้ว มันเป็นนกที่อยู่ในวงศ์ “นกเป็ดผี” ไม่ได้อยู่ในวงศ์ “นกเป็ดน้ำ”อย่างที่เข้าใจกัน สิ่งที่ทำให้เป็ดผีเล็กแตกต่างจากบรรดาเป็ดน้ำทั้งหลายก็คือ พวกมันจะมีปากที่เล็กและแหลม ไม่ได้แบนแบบปากเป็ดทั่วไป ส่วนนิ้วตีนหน้าก็จะมีพังผืดแผ่ออกไปด้านข้างและไม่เชื่อมติดกัน เรียกว่าตีนกลีบ ต่างจากเพื่อนร่วมหนอง คลอง บึง อย่างเป็ดน้ำ ที่นิ้วหน้าทั้งสามนิ้วจะมีพังผืดเชื่อมต่อเป็นแผ่นเดียวกัน เรียกว่าตีนแบบตีนพัด

 

ธรรมชาติได้สร้างสรรค์ให้เป็ดผีเล็กเป็นนกที่ดำน้ำและแหวกว่ายใต้น้ำได้เก่งไม่เป็นสองรองใคร ด้วยการออกแบบให้มันมีลำตัวที่กะทัดรัด ลู่น้ำ เพรียวลม พร้อมกับปีกที่สั้นและมีหางน้อยนิด ขาทั้งสองข้างของมันจะวางชิดกับลำตัวค่อนข้างไปทางด้านท้าย เมื่อรวมกับพังผืดที่นิ้วตีนแล้ว เป็ดผีเล็กของเราจึงสามารถขับเคลื่อนท่องเที่ยวไปภายใต้สายชลได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว ขณะที่เวลาเป็ดผีเล็กลอยตัวอยู่ตามผิวน้ำ หากมีคนหรือศัตรูอย่างเช่นเหยี่ยวบินหากินมาใกล้ ๆ ก็สามารถดำน้ำหลบหนีศัตรูได้นาน ๆ และโผล่ขึ้นมาไกลจากที่มันมุดน้ำดำหายไป ทำให้คนหรือศัตรูไม่สามารถคาดเดาจุดที่มันโผล่ขึ้นมาได้ จึงเป็นที่มาของชื่อ “เป็ดผีเล็ก” นั่นเอง

 

ในเมื่อธรรมชาติได้ออกแบบให้เป็ดผีเล็กเป็นนักดำน้ำที่เก่งฉกาจแล้ว หน้าที่ที่เป็ดผีเล็กได้รับมอบหมายจากธรรมชาติก็หนีไม่พ้นการเป็นหนึ่งในผู้ควบคุมธรรมชาติในแหล่งน้ำให้อยู่ในภาวะที่สมดุลด้วยการเป็นนักล่าสัตว์น้ำขนาดเล็ก อาหารของเป็ดผีเล็กคือสัตว์น้ำขนาดเล็ก เช่น กบ เขียด กุ้ง ปลา แมง และแมลงที่อยู่ในแหล่งน้ำ รวมทั้งพืชน้ำจำพวกสาหร่าย ขณะที่เป็ดผีเล็กดำน้ำมันจะหายใจออกเพื่อระบายอากาศในถุงกักอากาศที่อยู่ในตัวเพื่อลดการลอยตัว พร้อมกับใช้อวัยวะที่เรียกว่าหนังตาพิเศษมาช่วยในภาระกิจขณะทำงานอยู่ใต้น้ำ หนังตาพิเศษที่ว่านี้มีในนกทั่ว ๆ ไป ซึ่งเป็นหนังตากึ่งโปร่งใส มันจะเคลื่อนที่จากซ้ายไปขวา หรือจากหลังไปหน้า สำหรับนกทั่วไปหนังตาพิเศษจะมีหน้าที่ป้องกันดวงตาและช่วยกวาดดวงตาให้สะอาดอยู่เสมอ ส่วนนกที่ดำน้ำอย่างเป็ดผีเล็กจะใช้หนังตาพิเศษที่ใสเป็นเสมือนแว่นดำน้ำ ช่วยปกป้องดวงตาและทำให้มันสามารถลืมตามองเห็นอะไรต่อมิอะไรขณะดำน้ำได้สบาย ๆ มาถึงตอนนี้แล้วก็น่าจะคลายข้อสงสัยได้บ้างแล้วนะครับว่า นกตัวเล็ก ๆ ชนิดนี้มีอะไรพิเศษแตกต่างจากชาวบ้านเขา ถึงมีความสามารถดำน้ำไล่ล่าจับปลาและสัตว์ในน้ำมาเลี้ยงชีพได้ในแต่ละวัน

 

แต่ไม่ว่าธรรมชาติจะได้ออกแบบร่างกายให้เป็ดผีเล็กมีความสามารถพิเศษในการเคลื่อนไหวที่แคล่วคล่องว่องไวขณะที่อยู่ใต้น้ำแค่ไหน แต่ของอย่างนี้ต้องมีได้อย่างเสียอย่างเป็นธรรมดา เพราะเวลาที่เป็ดผีเล็กซึ่งเป็นสุดยอดนักดำน้ำของเราอยากจะขึ้นมายืดแข้งยืดขาบนบกกับเขาบ้าง มันกลับเป็นนกที่เชื่องช้า เดินเหินแทบไม่เป็น ทำได้เพียงเดินเตาะแตะแบบนกเพนกวิน หรือไม่ก็กระโดดไปทีละนิ้ว ทำให้เรามักจะไม่ค่อยเห็นเป็ดผีเล็กขึ้นจากน้ำมาอยู่บนบกเท่าไหร่ คงเป็นเพราะไม่สามารถหลบหลีกศัตรูบนบกได้ดีนั่นเอง จะยกตัวบินหนีไปไกล ๆ ก็ทำไม่ได้คล่องตัว เพราะดันมีปีกสั้นกว่าชาวบ้านเขาอีก อย่างมากก็เห็นพากันขึ้นมายืนพักอยู่ริมชายน้ำ หรือตามใบพืชที่ลอยน้ำในช่วงสั้น ๆ เวลาที่มีศัตรูโผล่เข้ามาใกล้จะได้กระโจนหนีลงน้ำได้ทัน

 

นอกจากการอาศัยหากินติดอยู่แต่ในแหล่งน้ำ แทบไม่มีโอกาสขึ้นมาใช้ชีวิตอยู่บนบกแล้ว เป็ดผีเล็กยังทำรังวางไข่อยู่บนพืชลอยน้ำหรือพืชที่ขึ้นอยู่ในน้ำ ด้วยการนำใบหรือลำต้นพืชน้ำต่าง ๆ มาวางซ้อนกันแบบหยาบ ๆ แต่สามารถพรางตาจากศัตรูได้เป็นอย่างดี หลังจากลูกนกออกจากไข่ได้ 2 – 3 ชั่วโมง ก็สามารถว่ายน้ำได้ หรือเกาะหลังพ่อแม่นกออกไปหากิน เท่าที่เคยเห็น พ่อแม่จะยอมให้ลูกนกเกาะหลังขณะออกหากินในช่วงอายุ 1-5วัน หลังจากนั้นจะให้ลูกนกว่ายน้ำติดตามหาอาหารจนอายุได้ 3-4 เดือน จึงโตพอที่จะออกหากินได้เอง

 

การที่ต้องใช้ชีวิตผูกพันอยู่กับแหล่งน้ำตลอดชีวิต “เป็ดผีเล็ก” จึงนับได้ว่าเป็นนกที่เป็นหนึ่งมิตรชิดใกล้กับสายน้ำอย่างแท้จริง

27/01/68 เวลา 07:32 น.