#ธรรมชาติ

12 ไมล์ กับแสงไฟ และอวนตาถี่

นัท สุมนเตมีย์ เรื่องและภาพ

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา รัฐสภาได้ผ่านพระราชบัญญัติประมงฉบับใหม่ที่แก้ไขพระราชกำหนดประมงปี 2558 ฉบับเดิมในหลายหัวข้อ แต่มีข้อหนึ่งที่น่าจะส่งผลกระทบกับท้องทะเลไทยมากที่สุดก็คือ ในมาตรา 69 ที่จากเดิมห้ามการทำการประมงโดยใช้อวนที่มีขนาดตาอวนเล็กกว่า 2.50 เซนติเมตรในเวลากลางคืน มาเป็นห้ามใช้เครื่องมือล้อมจับอวนที่ช่องตาอวนเล็ก 2.50 เซนติเมตร ทำการประมงในพื้นที่ 12 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งในเวลากลางคืน ซึ่งแปลให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ว่า ถ้าหากอยู่นอกเขต 12 ไมล์ทะเล จะสามารถใช้อวนที่มีช่องตาเล็กกว่า 2.50 เซนติเมตรได้ รวมทั้งในเวลากลางคืนและใช้แสงไฟล่อด้วย

 

ในความเป็นจริงแล้วการออกกฎหมายข้อนี้โดยอ้างว่าเพื่อสนับสนุนการประมงปลากะตักในเวลากลางคืน เนื่องจากยังมีปริมาณปลากะตักเหลืออยู่มาก และการใช้อวนตาถี่ขนาดนี้ก็เพื่อจะใช้จับปลากะตัก แต่ในความเป็นจริงแล้ว การจับปลากะตักสามารถทำได้ในเวลากลางวันที่ฝูงปลากะตักจะรวมตัวกันในบริเวณใกล้ผิวน้ำอยู่แล้ว และการใช้แสงไฟล่อนั้น จะทำให้ปลาที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการจะจับติดอวนมาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากในเวลากลางคืนจะเป็นช่วงที่สัตว์น้ำและลูกปลาวัยอ่อนในช่วงที่เป็นแพลงก์ตอนล่องลอยอยู่กลางมหาสมุทรจะมารวมตัวกันใต้แสงไฟใน และปลาชนิดต่างๆ รวมทั้งสัตว์น้ำวัยอ่อนที่อาจจะเติบโตขึ้นเป็นปลาเศรษฐกิจที่มีราคาเช่นปลาทู ปลาอินทรี หรือแม้แต่ปลาที่จะเติบโตไปเป็นปลาในแนวปะการังนั้น ต่างก็จะมารวมตัวกันใต้แสงไฟเพื่อจับกินสัตว์หรือแพลงก์ตอนที่มีขนาดเล็กกว่าเป็นอาหาร

ถ้าหากเราใช้อวนที่มีขนาดช่องตาอวนเล็กมาก ๆ ที่อาจจะเล็กลงไปถึง 6 มิลลิเมตรในการจับสัตว์น้ำเหล่านี้ไปทั้งหมด โดยไม่เลือก ในเวลาต่อจากนี้ไปอีกไม่กี่ปี เราอาจจะไม่เหลือปลาชนิดอื่น ๆ ในท้องทะเลไทย

 

25/02/68 เวลา 02:53 น.