#ธรรมชาติ

ชะนีมือดำ นักห้อยโหนแห่งป่าดิบชื้น

บารมี เต็มบุญเกียรติ เรื่องและภาพ

 

 

ในอดีตชะนีมงกุฏและชะนีมือดำถูกระบุว่าเป็นชนิดย่อยของชะนีมือขาว ต่อมามีการศึกษาพบว่าชะนีแต่ละชนิดมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน และมีเสียงร้องที่ไม่เหมือนกัน จึงถูกแยกออกมาเป็นชนิด ชะนีมือขาวและชะนีมือดำมีรูปร่างที่คล้ายคลึงกันมาก ปัจจุบันเราสามารถแยกชนิดได้ง่าย ๆ จากการกระจายพันธุ์ เส้นแบ่งของการกระจายพันธุ์จะอยู่ที่แม่น้ำปัตตานี หากพบทางตอนเหนือของแม่น้ำขึ้นมาจะเป็นชะนีมือขาว

 

ชะนีมือดำมีการกระจายพันธุ์อยู่ในบางส่วนของคาบสมุทรมลายู เกาะสุมาตรา และเกาะบอร์เนียว สถานภาพในเกาะสุมาตราอยู่ในภาวะวิกฤต เพราะถิ่นอาศัยถูกทำลายกลายเป็นสวนยางและสวนปาล์มน้ำมัน อีกทั้งยังเป็นชะนีที่พบบ่อยที่สุดในตลาดค้าสัตว์ป่า ชะนีมือดำแห่งเทือกเขาบาริซัน เกาะสุมาตรา จะมีประชากรสีครีมมากกว่าสีดำ ส่วนประชากรสีดำจะพบมากทางคาบสมุทรมลายู สีของพวกมันไม่เปลี่ยนและไม่เกี่ยวกับเพศหรืออายุ

 

ในบ้านเราพบหากินมีอาณาเขตการกระจายแคบกว่าชะนีมือขาว พบที่บริเวณบางส่วนของทิวเขาสันกาลาคีรี ประชากรส่วนใหญ่พบแถบบริเวณป่ารอยต่อของไทยและมาเลเซีย สถานะการอนุรักษ์ในอนุสัญญาไซเตสจัดให้อยู่ในบัญชีหมายเลข 1 (Appendix 1) ห้ามค้าขายหรือมีไว้ครอบครองเด็ดขาด เว้นแต่จะเป็นไปเพื่อการศึกษาหรือวิจัยขยายพันธุ์ หากอยากพบเจอในธรรมชาติเราสามารถเดินทางไปดูได้ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา บาลา จะพบเจอง่ายที่สุด โดยจะมีชะนีอยู่ 2 ชนิด คือ ชะนีมือดำและชะนีดำใหญ่ ที่เราเรียกติดปากกันว่า เซียมัง ซึ่งเป็นชะนีที่มีถุงขนาดใหญ่ตรงบริเวณคอ ทำให้ร้องได้เสียงดังมาก แต่ส่วนใหญ่ถ้าเห็น ตัวที่เราพบเห็นกันบ่อย ๆจะเป็นชะนีมือดำ ซึ่งจะมีความปราดเปรียวน้อยกว่า

 

ชะนีได้ชื่อว่าเป็นมือวางอันดับหนึ่งเรื่องการห้อยโหนไปตามเรือนยอด พวกมันหากินผลไทรและผลไม้ป่า แหล่งที่จะพบมันได้ง่ายก็คือต้นไทรในยามที่มีผลสุก อุปกรณ์ในการดูสัตว์ที่ควรมีคือกล้องส่องทางไกล หรือสโคป เพื่อที่เราจะได้เห็นรายละเอียดต่าง ๆ ของพวกมัน จากข้อมูลของ สถานีวิจัยสัตว์ป่าป่าพรุ ป่าฮาลา บาลา พบว่าขนาดหน่วยผลของไทรมีผลกับขนาดของสัตว์ที่เข้ามาหากิน ชะนีมือดำกินไทรได้ทุกขนาด แต่ไม่ค่อยเข้ากินไทรที่มีขนาดเล็กไม่ถึง 1 เซนติเมตร สัตว์ที่เข้ามาใช้มักเป็นพวกนกขนาดเล็กมากกว่า โดยมีสัตว์ฟันแทะอย่างกระรอกเข้ามากินบ้าง

 

ไทรที่มีผลขนาดกลาง นกที่เข้ามาหากินพบทุกขนาด ตั้งแต่นกเล็กไปจนถึงนกเงือก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เข้ามาใช้บ่อย ๆ มีกระรอกและค่างแว่น ลิงกังใต้ และค้างคาว ไทรที่มีขนาดใหญ่กว่า 2 เซนติเมตรขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นนกขนาดใหญ่อย่างนกเงือกและสัตว์ที่หากินบนเรือนยอด อย่างชะนีดำใหญ่ ค่างแว่นถิ่นใต้ ค่างต้นขานวล พญากระรอก หมีขอ
ชะนีมือดำพบได้ไม่ยาก แต่พบได้ไม่ค่อยใกล้ เพราะอาศัยอยู่ตามเรือนยอดเป็นหลัก หากินน้ำจากการใช้หลังมือจุ่มไปในคบไม้ที่มีน้ำขังแล้วยกขึ้นมาดูดเลีย ช่วงเช้ามักพบร้องประกาศอาณาเขตอยู่บนต้นเรือนยอด บางครั้งตอนลงจะทิ้งตัวลงมาข้างล่างได้สูงเป็นสิบเมตร มักหากินเป็นกลุ่มเล็ก ๆ โดยจะหากินวนไปเรื่อย ๆ ในอาณาเขตของตนเองที่ถูกโยงใยเชื่อมต่อกันด้วยเรือนยอด

26/11/67 เวลา 08:23 น.